ไอที ธุรกิจ

ชวนชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกสุดในรอบปี” 17 ก.ค. นี้

Thai PBS
อัพเดต 10 ก.ค. 2563 เวลา 13.07 น. • เผยแพร่ 10 ก.ค. 2563 เวลา 13.07 น. • Thai PBS

เฟซบุ๊กเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ระบุว่า ในวันที่ 14 ก.ค. 63 นี้ ชวนชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ปรากฏสว่างเด่นชัด ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ นานตลอดคืนถึงรุ่งเช้า หากท้องฟ้าใสไร้เมฆฝนสังเกต จะสามารถได้ด้วยตาเปล่าทั่วไทย 

โดย สดร. เผยเพิ่มเติมว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Jupiter Opposition) โดยมีโลกคั่นกลางเรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ตำแหน่งของดาวพฤหัสบดีใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 619 ล้านกิโลเมตร

“เมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจะมองเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏบริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สุกสว่างมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน มีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ -2.8 (ค่าอันดับความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าอันดับความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเเก่การสังเกตการณ์อย่างยิ่ง” สดร. กล่าว

ชวนชม #ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำความรู้จักดาวพฤหัสบดี

สดร. ระบุว่า ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ โดยมีมวลถึง 2.5 เท่าของมวลดาวเคราะห์ที่เหลือรวมกัน แต่เป็นมวลเพียง 1/1,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ขณะที่ขนาดของดาวดวงนี้ใหญ่จนสามารถจุดาวเคราะห์ที่เหลือทุกดวงรวมกันใส่ลงไปได้

ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ เช่นเดียวกับ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน หมายความว่าดาวพฤหัสบดีไม่มีพื้นผิวส่วนไหนเลยที่เป็นของแข็ง แต่จะมีลักษระเป็นลูกบอลแก๊สขนาดใหญ่ ประกอบด้วยไฮโดรเจน 75% และฮีเลียม 24%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนแถบเมฆสีอ่อนของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า “โซน” (Zones) ประกอบด้วย แก๊สผลึกน้ำแข็งของแอมโมเนีย ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดแถบเมฆสีคล้ำของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า “เข็มขัด” (Belt) แต่พบว่าองค์ประกอบทางเคมีในแถบเข็มขัดเป็นพวกกำมะถัน, ฟอสฟอรัส และคาร์บอน

ดาวพฤหัสบดียังเป็นดาวเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดในระบบสุริยะ โดย 1 วันของดาวพฤหัสบดีมีระยะเวลาสั้นกว่า 10 ชั่วโมง หากคุณสังเกตภาพเคลื่อนไหว จะเห็นจุดแดงใหญ่กำลังเคลื่อนที่ไปรอบๆ จุดแดงใหญ่เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ คล้ายๆกับพายุเฮอร์ริเคน โดยมีการพบจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีครั้งแรกมานานกว่า 300 ปีแล้ว ในขณะนั้น จุดแดงใหญ่มีขนาดยาวที่สุด ซึ่งมีความยาวถึง 3 เท่าครึ่งของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโลก

ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบแล้วอย่างน้อย 69 ดวง โดยกลุ่มดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี (ไอโอ ยูโรปา แกนีมิด และคัลลิสโต) ถูกค้นพบในปี ค.ศ.1610 โดยกาลิเลโอ นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ยานอวกาศลำแรกที่ไปถึงดาวพฤหัสบดี คือ ยานไพโอเนียร์ 10 ที่ไปถึงในปี ค.ศ.1973 จากนั้นเป็นต้นมา มียานที่ไปถึงดาวพฤหัสบดีรวมกันแล้ว 7 ลำจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยานลำล่าสุดที่ไปถึงดาวพฤหัสบดีคือ ยานจูโน (Juno) ที่ถึงดาวพฤหัสบดีในปี ค.ศ.2016

--------------------------

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBS
ติดตาม #ThaiPBSSciAndTech ได้ที่
Facebook: Thai PBS Sci & Tech
Twitter: @ThaiPBSSciTech 

 

ดูข่าวต้นฉบับ