โลกของการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีคนเก่งระดับเซียนหลายคน เช่น มือออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Apple และบริษัทอื่นๆ แต่เซียนทั้งหลายล้วนยกนิ้วให้เซียนเหนือเซียนคือ ดีเทอร์ รัมส์ (Dieter Rams สะกดตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภา) ชาวเยอรมัน
รัมส์ถูกยกให้เป็นเจ้าพ่อของการออกแบบอุตสาหกรรม เขาคือตำนาน งานของเขากลายเป็นมรรคาที่นักออกแบบรุ่นหลังเดินตามและส่งอิทธิพลต่อ Apple อย่างเห็นได้ชัด
ปรัชญาของเขาคือ “การออกแบบที่ดีคือการออกแบบน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”
เขาได้รับอิทธิพลความคิดและการทำงานจากปู่ซึ่งเป็นช่างไม้ ช่วยหล่อหลอมเขาจนเข้าใจปรัชญา “น้อยกว่าแต่ดีกว่า” (ภาษาเยอรมัน Weniger, aber besser) เขาโอบรับปรัชญาพอเพียง มาใช้ในการออกแบบ น้อยที่สุดแต่งามที่สุด เรียบที่สุดแต่สง่า ไม่มีส่วนขาด ไม่มีส่วนเกิน
เขาแสดงให้เห็นว่างานออกแบบที่ดีเป็นหัวใจของธุรกิจได้อย่างไร
รัมส์เกิดในยุคสงคราม เขาผ่านห้วงยามของการแบ่งประเทศเป็นสองท่อน เขาเรียนจบทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทำงานสถาปนิกไม่นานก็ไปทำงานช่างไม้ แล้วไปเรียนต่อด้านศิลปะ ในปี 1955
เขาทำงานเป็นสถาปนิกและนักตกแต่งภายในที่บริษัท Braun หกปีต่อมา เขาก็รับผิดชอบงานออกแบบผลิตภัณฑ์ Braun และตลอดสี่สิบปีต่อมา เขากับทีมออกแบบงานคลาสสิกราวห้าร้อยชิ้น
โดยใช้การออกแบบที่ดีเป็นหัวหอก เปลี่ยน Braun จากบริษัทเล็กเป็นยักษ์ใหญ่ Braun กลายเป็นสินค้าคู่บ้านเรือนในยุค 1950
งานออกแบบทั้งหมดของเขาใช้งานง่าย ทนทาน เรียบง่าย ไม่ตื่นเต้น แต่งามเรียบ งามนาน และผ่านยุคสมัยมาโดยไม่ล้าสมัย เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า นาฬิกา เครื่องคิดเลข ฯลฯ แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ล้วนออกแบบสวย เรียบง่าย เข้าใจง่าย
หลายชิ้นปรากฏร่องรอยในงานออกแบบของ Apple ในเวลาต่อมา ยกตัวอย่างเช่น iPod แสดงให้เห็นว่า สายตาของ รัมส์ นั้นก้าวล้ำเกินกาล
ดีเทอร์ รัมส์ เคยสรุปงานออกแบบที่ดีว่ามีสิบประการ
งานออกแบบที่ดีต้อง :
1 มีนวัตกรรมแปลกใหม่ สดใหม่ การออกแบบและการพัฒนาเทคโนโลยีเคียงคู่กัน
2 ใช้งานได้มีประโยชน์ ต้องมีหน้าที่ใช้สอยที่ดี
3 มีความงาม และความงามนั้นต้องเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกับหน้าที่ใช้สอย
4 เข้าใจง่าย งานนั้นอธิบายตัวมันเองได้
5 ไม่ต้องเป็นจุดเด่น เป้าหมายของผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งคือเป็นเครื่องมือใช้งาน ไม่ใช่เครื่องประดับหรือศิลปะ ดังนั้นจึงควรดูเป็นกลาง ปล่อยให้ผู้ใช้สัมผัสความรู้สึกเอง
6 ซื่อสัตย์ สร้างสรรค์ตามที่เป็นจริง
7 ทนทาน ใช้ได้นาน ไม่เดินตามแฟชั่น จึงอยู่ยาวนาน
8 ประณีตทุกรายละเอียด
9 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานที่สุด และไม่ก่อมลภาวะตลอดอายุของมัน
10 ออกแบบน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ “น้อยกว่าแต่ดีกว่า”
นอกจากสิบข้อนี้แล้ว เขายังบอกว่า การออกแบบเป็นกระบวนการคิดอย่างหนึ่ง การออกแบบมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ทำให้อนาคตของโลกดีขึ้น
เขาบอกว่าการออกแบบที่ดีไม่มีอะไรเกี่ยวกับศิลปะ มันจะเกี่ยวกับศิลปะก็ต่อเมื่อมันถูกสร้างขึ้นด้วยความรู้สึก และเราสามารถอ่านผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นอ่านงานออกแบบที่อธิบายตัวมันเองได้ สิ่งส่วนใหญ่ที่เราเห็นในวันนี้ดูหวือหวา นักออกแบบต้องไม่สร้างสิ่งของให้ดูสวยกว่าหรือหวือหวากว่า”
โจนี ไอฟ์ แห่ง Apple กล่าวว่า งานออกแบบของรัมส์นั้น “ไม่สามารถปรับปรุงมากไปกว่านั้นแล้ว”
งานของเขาอยู่เหนือกาลเวลา มันสามารถเสียบเข้าไปในยุคใดยุคหนึ่งได้
……………
โจนี ไอฟ์ (เซอร์ จอนาธาน พอล ไอฟ์) เป็นเซียนนักออกแบบอุตสาหกรรมคนหนึ่งของโลก เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงาน Apple เช่น iMac, iPod, iPhone, iPad, MacBook ฯลฯ
ไอฟ์ได้รับอิทธิพลจากงานใน Bauhaus ซึ่งเป็นโรงเรียนศิลปะของเยอรมนี ก่อตั้งโดยสถาปนิก Walter Gropius แนวคิดของ Bauhaus ที่ภาษาสถาปนิกว่า “Form follows function.” และ “Less is more.”
ส่งอิทธิพลต่องานในสายศิลปะ สถาปัตยกรรม กราฟิก ดีไซน์ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไอฟ์เชื่อในปรัชญา Minimalism ในการออกแบบ และแน่ละ เขาได้รับอิทธิพลจาก ดีเทอร์ รัมส์ มาเต็มๆ
โจนี ไอฟ์ ดูแลทีมออกแบบจำนวนราวสิบห้าคน จากอังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทำงานเป็นทีม ที่ทำงานของเขากับ สตีฟ จ็อปส์ เชื่อมกันด้วยทางลับ คนภายนอกแม้แต่ผู้บริหารที่ไม่เกี่ยวข้องก็เข้าไปไม่ได้
ไอฟ์กับ สตีฟ จ็อปส์ เชื่อมกันได้ทุกอย่าง เพราะคิดด้วยคลื่นความถี่เดียวกัน รสนิยมเดียวกัน สงสัยเรื่องเดียวกัน ตั้งคำถามเดียวกัน
รัมส์ชอบงานออกแบบของ Apple เขาบอกว่า Apple เป็นหนึ่งในน้อยบริษัทในโลกที่ทำงานตรงกับหลักออกแบบที่ดีสิบประการของเขา
ทว่าแม้ลักษณะออกแบบมาแนวเดียวกัน คือน้อยกว่าแต่ดีกว่า แต่ปรัชญาธุรกิจของสองบริษัทนี้กลับสวนทางกัน สินค้าที่ Braun ทำขึ้นโดยตั้งใจให้ใช้นาน ขณะที่ปรัชญาของ Apple คือเสนอให้ลูกค้าเปลี่ยนสมาร์ทโฟนใหม่ทุกปี รัมส์ไม่ชอบความฟุ่มเฟือยและความสิ้นเปลือง
รัมส์เกลียดค่านิยมของการตลาดแบบใหม่ที่เสนอให้เราใช้สินค้าแบบทิ้งเร็ว เปลี่ยนรุ่นใหม่ตลอดเวลา
เขาบอกว่า “ผมเกลียดไอ้พวกคอลเล็กชั่นฤดูหนาว คอลเล็กชั่นฤดูร้อนที่ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นความจำเป็น ปู่ย่าตายายของผมมีความสุขในการอยู่ในที่เดิมๆ ตั้งแต่เริ่มต้น และดูแลมันจนตาย แล้วส่งต่อให้ลูกหลานใช้ต่อไป…”
ไม่แปลก รัมส์เป็นคนสมถะ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต ไม่สนใจสมาร์ทโฟน
บางทีผลงานและชีวิตของ ดีเทอร์ รัมส์ บอกเราว่า คนที่มองเห็นความงามจริงๆ มักรักชีวิตที่งาม
ชีวิตที่งามก็คือชีวิตที่เรียบง่าย น้อยที่สุด
……………
หากเราใช้หลักออกแบบดีสิบประการของรัมส์มาใช้กับชีวิต บางทีชีวิตที่ออกแบบดีอาจประกอบด้วย
1 ใช้ชีวิตแบบสดใหม่ แต่ละช่วงไม่จำเจ มีความใหม่เสมอๆ
2 เป็นชีวิตที่ทำงานดี มีประโยชน์ต่อสังคม
3 มีความงาม
4 ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย
5 ไม่ต้องการเป็นจุดเด่น
6 ซื่อสัตย์ ไม่เสแสร้ง
7 ไม่เดินตามแฟชั่นหรือทิศทางที่คนอื่นกำหนด
8 ประณีต มีความสุขกับทุกช่วงทุกชั่วโมงของชีวิต
9 ประหยัด ไม่ก่อมลภาวะให้สังคม
10 เรียบง่าย พอเพียง และน้อยที่สุด
การออกแบบให้เรียบง่ายและงดงามเป็นเรื่องยาก แต่การดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายและงดงามยิ่งยากกว่า
เช่นเดียวกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ออกแบบน้อยที่สุด
น้อยกว่าแต่ดีกว่า
……………
วินทร์ เลียววาริณ
Kittipat (ตั๊ง) ^ ^ ขอบคุณมากๆเลยนะครับ🙏สำหรับบทความสร้างสรรค์ดีแบบนี้
23 ก.ย 2562 เวลา 12.39 น.
สมพงษ์ สอาดศรีD4 ขอบคุณนะคะสำหรับขอความดีๆมีประโยนช์ค่ะ
24 ก.ย 2562 เวลา 14.40 น.
pumpui 👍
24 ก.ย 2562 เวลา 17.21 น.
😊
24 ก.ย 2562 เวลา 17.18 น.
kong mardo 👍👍👍
24 ก.ย 2562 เวลา 16.58 น.
ดูทั้งหมด