หลายต่อหลายครั้ง การถูกล้อเลียนและดูถูกเรื่องร่างกายของกันและกัน ได้กลายเป็นบาดแผลในใจของผู้ที่ต้องรับฟังประโยค หรือถ้อยคำเหล่านั้น
body shaming หรือการล้อเลียนร่างกายเพื่อให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกอับอายนั้น ไม่เพียงแค่ส่งต่อความเชื่อมั่นในร่างกายของคนเรา รวมถึงการมองคุณค่าในร่างกายของตัวเราเอง หากแต่ บางครั้งมันยังส่งผลไปถึงการเลือกปฏิบัติต่อกันและกันอีกด้วย
มีคนมากมายเคยตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น The MATTER จึงขอนำเรื่องราวการถูก body shaming มาแชร์และร่วมกันขบคิดกันต่อไปถึงวิธีการรับมือ และการแก้ไขปัญหานี้
ภากร โกเมศ - Music producer / Composer
“เราโดนแซวบ่อยมากว่า ทำไมผอมจัง นี่ขาหรือตะเกียบ แบ่งไขมันให้เอาไหม ขาสองข้างเท่ากับแขนข้างเดียวเลยนะ บางคนพูดด้วยน้ำเสียงที่อยากจะแซวมากกว่าเป็นห่วง
“ที่ถูกถามบ่อยๆ เลยคือ กินข้าวบ้างมั้ย กินข้าวบ้างรึเปล่า ทำไมผอมจัง แบ่งไขมันเราไปไหม ขาหรือตะเกียบ ขาเราสองข้างได้แขนเขาข้างเดียว ประมาณนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนทั่วไปที่ทัก ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นการอยากเข้าหา อยากคุยด้วย อยากจะแซว
“ล่าสุดเลย เป็นพนักงานร้านเหล้า เขาถามชื่อเรา เขาได้ยินไม่ชัด ถามซ้ำๆ จนเราขี้เกียจตอบแล้ว เขาก็บอกว่า เรียกพี่แห้งได้มั้ย เรียกพี่แห้งเสร็จแล้วเขาก็หัวเราะ เราโกรธมาก เรียกชื่อเราผิดไม่ว่าอะไร แต่ทำไมต้องเรียกแบบนี้
“เราคิดว่าบางทีมันขึ้นอยู่กับน้ำเสียงด้วย บางคนถามด้วยน้ำเสียงที่เป็นห่วงจริงๆ มันไม่ใช่น้ำเสียงเพื่อที่จะแซว บางคนก็เป็นห่วงนะ อันนี้เราคิดว่าดีกว่า”
ไปรยา สังขจินดา - Freelance
“อาจารย์เคยเรียกเราว่าไอ้เหี่ยว เพื่อนเรียกเราไอ้เหี่ยว มีคนเรียกว่าน้าผี เพราะเราผอมเหมือนเป็นโครงกระดูก ตอนเด็กๆ ก็เคยโดนเลยว่าโอลีฟเพราะคอยาว ตัวแห้งๆ
“คนมาติเราเรื่องผอม ว่าเราเหมือนผี เราก็ปล่อยเขาไป เราไม่ได้รู้สึกขยะแขยงร่างกายตัวเราเองสักหน่อย เราไม่ดูถูกตัวเอง ถ้าเราอยู่กับร่างกายเราได้ มันก็เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น
“ทุกคนมีพิมพ์เขียวของตัวเอง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นใครเลย พยายามสนใจเรื่องคนอื่นให้น้อยที่สุด โฟกัสตัวเองเยอะๆ ไม่ตำหนิใครเพื่อให้เราเหนือกว่า เราจะไม่ไปมองข้อเสียข้อดีของใคร ไม่ใส่ใจเรื่องคนอื่นมาก
“เราแก้ไขอะไรได้ เราแก้ แต่ถ้ามันแก้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องเข้าใจมัน เราจะอยู่กับมันยังไง ถ้าเราอยู่กับมันได้ ก็เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น คนอื่นไม่ได้มาสิงอยู่ในร่างกายเรา หรือไม่ได้มาใช้ชีวิตกับเราด้วยซ้ำ ทุกคนมีจุดที่ด้อยจุดดีเหมือนกันหมด
“เราไม่เคยมาตำหนิร่างกายตัวเอง มีแต่คนอื่นมาตำหนิเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่สนใจ มันก็จะไม่มีอะไรมาทำร้ายเราได้ คนรอบตัวอย่างพ่อแม่ก็ไม่พูดแล้ว”
NUH PEACE - Artist / DJ / Fashion Designer
“เราเคยถูกแกล้งทุกวัน ถูกด่าทุกวัน เรารู้สึกว่าการเหยียดร่างกายกันมันถูกให้เป็นเรื่องปกติไปแล้วว่า เป็นคนอ้วนก็ต้องถูกแกล้ง
“การเหยียดร่างกายกันมันส่งผลต่อ self esteem เยอะเลย มันทำให้เราไม่เคารพตัวเองไป เพราะมีคนอื่นมาบอกว่าร่างกายเราควรเป็นแบบอื่น บอกเราว่า เราควรจะมองร่างกายไปเป็นแบบนั้น
“เรามองว่าปัญหาใหญ่ที่ตามมาหลังการเหยียดร่างกายกัน คือการถูกเลือกปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องของคำพูดอย่างเดียว มันยังมีเรื่องการแบ่งแยก มีเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกทำให้เป็นอื่น
“ในยุคที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเพอร์เฟ็กต์ คนที่แข็งแรงจริงๆ คือคนที่มูฟออนกับความไม่แข็งแรงของตัวเองได้ กล้าที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่แข็งแรง รู้ว่าตัวเองไม่เพอร์เฟ็กต์แล้วมูฟออนไปกับมัน เราว่านี่คือคนที่แข็งแรง
เกวลิน จรูญศรีสวัสดิ์ - Model / Stylist
“เราเป็นคนมีไฝที่หน้า แล้วชอบล้อว่า น้องๆ มีอะไรติดหน้า มันทำให้ตอนเด็กๆ เราไม่ชอบไฝของตัวเองเลย จนอยากเอาออก เราอายมาก เหมือนโดนประจานข้อบกพร่อง แต่พอโตขึ้นมาก็รู้สึกว่า สิ่งที่มีมันดีอยู่แล้ว จนภูมิใจที่เป็นตัวเองและรักตัวเองเข้าไว้
“เราโดนแซวแรงๆ เกี่ยวกับปมด้อยตั้งแต่เด็กๆ จนเราเกลียดไฝของเรามาก ตอนเด็กๆ เราจะพยายามเอาผมมาปิดหน้าให้ได้มากที่สุด ไม่ค่อยอยากให้คนรู้ว่ามีไฝ
"เคยถามแม่ว่าเอาไฝออกได้ไหม แม่บอกว่ามันดีแล้ว แม่ก็ชอบมาหอมที่ไฝเรา โตขึ้นมาแฟนก็ชอบหอม
“พอโตมาหน่อยก็โดนอีกเรื่อง เพราะเราสูงกว่าเพื่อนในห้อง เวลาเข้าแถวก็จะไปอยู่ด้านหลังๆ แล้วก็จะโดนเรียกว่าไอ้ยีราฟ ขอยาวชะมัดเลย โตเป็นสาวขึ้นมาก็โดนเรียกว่าไอ้กระดานโต้คลื่น ไอ้นมแบนอีก
“มาเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยสนใจแล้ว เพราะเราเป็นเราอย่างนี้แหละดี ทำหน้าที่ของตัวเราให้ดีที่สุดพอ ใครอาจจะไม่ชอบ เราก็ทำตัวเองให้ดีที่สุด เรารู้สึกว่า ภูมิใจที่เป็นตัวเองไว้ รักตัวเอง สิ่งที่มันมีมันดีอยู่แล้ว”
ปันปัน นาคประเสริฐ - drag queen
“ไม่ว่าจะไปไหนก็จะถูกถามว่า อ้วนขึ้นรึเปล่า ผอมลงรึเปล่า ดำขึ้นรึเปล่า ไม่รู้ว่าเขาพูดเพื่ออะไร ส่วนมากเราก็ตอบไปว่า ใช่ค่ะ อ้วนขึ้นค่ะ มีความสุขมากค่ะ
“มันเกิดขึ้นทุกครั้ง เชื่อว่าทุกคนก็เคยโดน ไม่ว่าจะเป็นที่ออฟฟิศหรือครอบครัว ง่ายสุดก็เลยตอบไปว่า อ้วนขึ้นค่ะ บางครั้งคนมาถามปันว่า น้ำหนักขึ้นใช่มั้ย ปันก็ตอบไปว่า ค่ะ ตอนนี้มีความสุขค่ะ
“มันเป็นแผลในทางจิตใจของใครหลายๆ คน คนบางคนที่เขาไม่ได้มีความมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว พอได้ยินคำพวกนี้ มันทำร้ายเขานะ แล้วมันอาจจะทำให้คนๆ นึงกลายเป็นโรคบูลิเมีย (ล้วงคอเพื่อให้ตัวเองอาเจียนอาหารที่เพิ่งกินไปออกมา) อย่างปันก็ได้ หรือหนักกว่าเป็นอะนอเร็กเซียก็ได้
“ปันเคยอ้วกทุกครั้งหลังจากที่กินข้าว เราจะกินให้เยอะที่สุดแล้วก็อ้วกออกมาด้วยการเอามือล้วงคอ อันนี้คือโรคบูลิเมีย ปันเป็นโรคนี้อยู่ประมาณครึ่งปี ตอนนั้นเราไม่มีความรักตัวเองเลย เพราะถ้ารักตัวเองก็จะไม่ทำอะไรแบบนี้ แต่อันนี้เป็นเรื่องที่ผิดนะ เราไม่แนะนำให้คนอื่นทำอะไรแบบนี้
“มันมีหลายประเด็นมากที่เราไม่ควรไปสะกิดต่อมเรื่องร่างกายของคนอื่น มันไม่ใช่ร่างกายของเรา ไม่ควรไปคอมเมนต์ ถ้าคนๆ นั้นมั่นใจในร่างกายของเขา เขาอยากทำอะไรก็ให้เขาทำเอง เราไม่ควรยุ่งกับร่างกายของคนอื่น
“พอผ่านเรื่องนี้มาได้ ทำให้ปันรู้สึกว่าไม่มีใครที่จะรักตัวเราเอง ได้มากกว่าตัวเราเอง เพราะถ้าเรารักตัวเองมากขนาดนั้น เสียงจากภายนอกก็จะไม่สามารถเข้ามารบกวนจิตใจเราได้ แต่เรื่อง body shaming มันยังมีปัจจัยอื่นนอกจากตัวเราเองด้วย
“การทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตใจหรือการกระทำ มันไม่ดีเลย แม้ว่าคนอื่นจะทำร้ายเรามา แต่เราสามารถทำสิ่งดีๆ กับตัวเองได้ คนอื่นแกล้งเรา ไม่ได้หมายความว่า เราต้องแกล้งตัวเองไปมากกว่าเดิม”
photo & illustration by Nutcha Charoennithi
AM BOSS ตัวเราสไตส์เรา ..เท่ห์สุดแล้ว
คนมีมารยาทจะสุภาพ และให้เกียรติกัน
22 ก.พ. 2563 เวลา 09.19 น.
€¥£ ไม่สน ยิ้มๆ ไม่ตอบ คุยกับมันให้น้อยลง
คนบางคนก็เป็นสารพิษ อย่าไปยุ่งด้วยจะดีกว่า
22 ก.พ. 2563 เวลา 12.38 น.
สุรีย์ เจอหน้ากัน
อ้วนขึ้นป่ะเนี่ย?
ทำไมผอมจัง?ผอมไปไหม? เป็นโรครึเปล่า?
E.สัสสส!!บ้านมึงทักกันแบบนี้เหรอ ควัย..
22 ก.พ. 2563 เวลา 09.39 น.
pop เลิกคบ อันเฟรน วิธีที่ดีที่สุด
22 ก.พ. 2563 เวลา 10.03 น.
Chuchai เอา "เซ็น" เข้ามาในชีวิต
22 ก.พ. 2563 เวลา 09.30 น.
ดูทั้งหมด