ทั่วไป

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคชู “Business of the People”ในเวที APEC 2022

ไทยพับลิก้า
อัพเดต 22 ต.ค. 2565 เวลา 13.28 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2565 เวลา 19.48 น.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาคเอกชนไทยชี้เอเปค 2022 พลิกวิกฤติสู่โอกาสไทยในเวทีโลก ชูแนวคิด BCG การพัฒนาที่ยั่งยืนดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 พร้อมเปิดผลสำรวจจากภาคธุรกิจ หรือ Business of the People Poll และเปิดตัวหนังสั้นในธีม Business of the People ฉายภาพของตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน

ปี 2565 นี้ ภาคเอกชนไทยได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) และเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 4/2022 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงบทบาทในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำ “APEC CEO Summit 2022” ระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’

การประชุมดังกล่าวนับเป็นการรวมตัวสุดยอดซีอีโอ ผู้นำเอเปค ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญ

สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) เป็นหน่วยงานภาคเอกชน ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หน้าที่หลักคือการให้คำแนะนำแก่ผู้นำและเจ้าหน้าที่เอเปคในประเด็นที่น่าสนใจทางธุรกิจ ตลอดจนการส่งมอบข้อมูลทางธุรกิจเฉพาะด้าน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันที่ 19 ตุลาคม 2565 สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือในนาม ‘คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สภาบัน (กกร.) ได้เปิดข้อเสนอภาคเอกชนที่จะส่งมอบสู่นโยบายบนเวทีผู้นำเอเปค ภายใต้แนวคิด “Business of the People” ที่จะทำให้คนไทยเข้าใจใน “บทบาท” และมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

[**

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเตรียม 5 ข้อเสนอเร่งด่วนต่อที่ประชุมสุดยอดAPEC** ](https://thaipublica.org/2022/08/business-advisory-council-to-present-proposal-to-apec/)

พร้อมกับเปิดผลสำรวจจากภาคธุรกิจ หรือ Business of the People Poll และเปิดตัวภาพยนตร์สั้น ที่ฉายภาพของตัวแทนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการและประชาชนทุกคน ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ประชาชนทุกคนล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจจากจุดที่ทุกคนยืนอยู่ เรียกได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจถือเป็นบทบาทหน้าที่และธุระของทุกคน ในฐานะของผู้ผลักดันด้านการค้าของภาคเอกชน ก็เห็นถึงความสำคัญในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวขึ้นสู่ระดับสากลด้วยการปรับตัวทางธุรกิจดิจิทัลเพื่อการเข้าถึงและเชื่อมโยงกัน ไปจนถึงการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็น

“การจัดประชุมเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพถือเป็นโอกาสของการฟื้นเศรษฐกิจในประเทศที่อยากให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภายใต้ 3 หลักการคือ OPEN การเปิดกว้างรับฟัง connection การเชื่อมโยงทุกภาคส่วน และ balance หรือการสร้างสมดุลภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ส่วนสำคัญที่ภาครัฐควรเร่งสนับสนุน ทั้งนี้ เชื่อว่าภาคธุรกิจไทยมีความตื่นตัว แต่อาจยังไม่เห็นถึงแนวทางปฏิบัติการพัฒนายั่งยืน หรือ BCG โดยขณะนี้หลักของการพัฒนายั่งยืนในต่างประเทศยังไม่รู้การดำเนินการของไทยจึงควรจะใช้โอกาสในการประชุมเอเปคเพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้กับนักธุรกิจทั่วโลก

“นักธุรกิจและประชาชนชาวไทยควรแสวงหาโอกาสจากการประชุมสุดยอดเอเปก ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และพยายามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้วยการแสดงความสำเร็จของธุรกิจไทยและความเป็นไทย”

พลิกวิกฤติโลกสร้างโอกาสฟื้นเศรษฐกิจไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอแบค 2022

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอแบค 2022 กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นความสำคัญ ในการจัดประชุมภายใต้แนวคิด Business of the People หรือธุรกิจประชา ซึ่งเห็นว่าแนวทางนี้จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างพลังในการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน

นอกจากนี้จะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เป็นโอกาสในการร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจต้องรวมตัวและทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออกเพื่อแก้ไขไปด้วยกัน

“ อยากให้คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการประชุมเอเปค เพราะถือเป็นโอกาสขณะที่โลกเผชิญวิกฤติเราต้องพลิกให้เป็นโอกาสในการฟื้นเศรษฐกิจของคนไทย”

นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากความยากลำบาก ทางออกที่สำคัญคือการกระจายความมั่งคั่งและการกระจายรายได้ และให้ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และเศรษฐกิจปัจจุบันยังต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูง การขาดแคลนอาหาร ปัจจัยทางภูมิศาสตร์การเมือง ที่ภาคธุรกิจต้องการได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนเพื่อเป็นทางเลือกและความยั่งยืนของมนุษย์

“ผมเชื่อว่า การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้มาถูกที่ถูกเวลา ที่จะฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด 19 ที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาเหมือนกัน แต่ไทยจะใช้เวทีนี้พลิกวิกฤติ เพราะจะพบกับผู้นำทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ “

สำหรับแนวคิด Business of the People หรือ ธุระกิจประชา ถือเป็นหัวใจและเป้าหมายสำคัญ ในการสนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการทุกคน หนึ่งในสิ่งที่มุ่งส่งเสริมคือการพัฒนา “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ที่จะสามารถต่อยอดและสร้างคุณค่าต่อภาคธุรกิจ โดยนำไอเดียด้านความยั่งยืนมาปรับใช้เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศทางอาหาร ซึ่งถือเป็นจุดโดดเด่นของประเทศไทยของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

[**

  • คลังเอเปคประเมินเศรษฐกิจปี’65 ชะลอตัว โลกเจอ 3 ปัจจัยเสี่ยง ดอกเบี้ย เงินดอลลาร์แข็งค่า ราคาพลังงาน** ](https://thaipublica.org/2022/10/29th-apec-finance-ministers-meeting/)

เชื่อมการบริการทางการเงินด้วยดิจิทัล

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า “เราทุกคนต่างมีบทบาทร่วมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด ก็คือส่วนสำคัญการผลักดันและเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งสิ้น โดยในมุมมองของผู้ร่วมขับเคลื่อนจากสถาบันการเงิน สนับสนุนให้เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลสำหรับสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า (Supply Chain Finance) โดยการนำดิจิทัลเข้ามาประมวลผลจะช่วยลดปัญหาการกู้ยืมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยและรายย่อมได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหันมาใช้ระบบการเงินสีเขียว (Green Finance) ทั้งในและต่างประเทศ ก็ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยจะเห็นตัวอย่างได้จากในภาพยนตร์ที่มีการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและการชำระเงินแบบดิจิทัล ที่ในอนาคตภาคธุรกิจจะมีการพัฒนาไปสู่ระบบการเงินดิจิทัลใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น”

เปิดผลสำรวจ “Business of the People”

สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Business of the People) จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็น รับรู้ มุมมอง ของนักธุรกิจไทยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ผ่านสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาผ่านผู้ประกอบการไทย จำนวน 451 ตัวอย่าง ใน 5 ภูมิภาคหลักได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพและปริมณฑล

เชื่ออนาคตอีก 5-10 ปีเศรษฐกิจฟื้นตัว

โดยผลสำรวจมุมมองด้านสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ พบว่า สถานะทางธุรกิจในปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมาทางด้านยอดขาย ต้นทุน กำไร สภาพคล่อง การจ้างงาน การลงทุน และภาพรวมธุรกิจ ยังคงอยู่ในสถานะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงอนาคต 5-10 ปี ข้างหน้าพบว่า ภาคธุรกิจโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าสถานะทางธุรกิจน่าจะฟื้นกลับมาดีขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวและเติบโตได้

ทัศนะต่อการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล
ส่วนการสำรวจทัศนะต่อการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล พบว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันเห็นว่าเทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบันมีความสำคัญในระดับมากที่ร้อยละ 68.5% เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยีและดิจิตอลในปัจจุบันที่อยู่ในระดับมาก และจะมีความสำคัญในอนาคตอย่างมาก ในขณะที่การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะใช้ประโยชน์ด้าน E-Commerce มากที่สุด รองลงมา ได้แก่ การบริหารสินค้า-คลังสินค้า และด้านการผลิต ตามลำดับ

ทัศนะต่อนโยบายด้าน BCG และสิ่งแวดล้อม

ผลสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในระดับมากถึง 65.8% ให้ความสำคัญปานกลางในสัดส่วน 29.9% ให้ความสำคัญน้อย 3.1% ไม่สำคัญเลย 0.9% แต่ในอนาคตภาคธุรกิจเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมน่าจะมีความสำคัญมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงเรื่อง BCG Model พบว่าภาคธุรกิจที่เข้าใจในระดับน้อยถึงไม่เข้าใจเลยมีมากกว่า 50% โดยภาคที่มีระดับความเข้าใจมากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม โดยเป็นธุรกิจขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ในขณะที่ธุรกิจรายย่อยและขนาดย่อม อาจเห็นว่า BCG เป็นเรื่องไกลตัว

ทัศนะต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

จากผลการสำรวจพบว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีสัดส่วนของแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ เป็นแหล่งเงินทุนภายในกว่า 60% และในอนาคตคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนภายในเกือบ 70% โดยเมื่อพิจารณาขนาดธุรกิจ พบว่าธุรกิจรายย่อย (Small) ธุรกิจขนาดย่อม (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ใช้แหล่งเงินทุนของตัวเองมากกว่าแหล่งทุนภายนอกเนื่องจากภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกน้อย โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม

ทัศนะต่อการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)

ผลการสำรวจพบว่า การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ FTA ยกเว้นผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้สิทธิประโยชน์ในการทำการค้าอยู่ในระดับน้อย

ขณะที่การเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ได้รับการเห็นด้วยจากเสียงส่วนใหญ่ เนื่องจากคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบจากสิทธิพิเศษทางด้านภาษี รวมถึงมีช่องทางหรือตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้น ไปจนถึงสินค้าจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability)
ผลการสำรวจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ธุรกิจดำเนินการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนพบว่า ธุรกิจโดยภาพรวมจะทำการพัฒนานวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน มองว่าจะต้องประกอบด้วย การลดความเหลื่อมล้ำมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลอย่างซื่อตรง โปร่งใส และตรวจสอบได้ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy ตามลำดับ

การสร้างโอกาสทางธุรกิจ

ผลการสำรวจพบว่า ภาคธุรกิจเห็นว่าธุรกิจไทยในปัจจุบันมีโอกาสมาก และในอนาคตยังมีโอกาสเพิ่มมากกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดการค้าเสรี (FTA) การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าด้านการผลิต การขาย หรือการบริหารจัดการองค์กร และอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค

เปิดหนังสั้น Business of the People ตัวแทนธุรกิจชุมชน
สำหรับหนังสั้น Business of the People ตัวแทนธุรกิจชุมชนที่เปิดตัวภายในงาน ได้หยิบยกหนึ่งในเคสตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนตัวจริงในตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเรื่องราวของ “ตั้ม – นิพนธ์ พิลา” อดีตดีไซน์เนอร์ที่ผันตัวไปเป็นเกษตรกรยุคใหม่ อันแสดงให้เห็นแล้วว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้จากการพัฒนา ยกระดับ และขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันยุคทันสมัย ทั้งผสานความร่วมมือกันในชุมชน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการก้าวไปด้วยกัน

นายนิพนธ์ พิลา หรือ ตั้ม ตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยจากชุมชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า “ในฐานะของตัวแทนผู้ประกอบการรายย่อยคนหนึ่ง ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ผมหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ที่มาจากเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ของเรา จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการทุกคนไม่มากก็น้อย หัวใจสำคัญคือการร่วมมือกันในชุมชน ผมทำได้ คุณเองก็ทำได้”

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) ประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในนาม‘คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สภาบัน (กกร.) ได้ย้ำบทบาทในการเป็นตัวแทนของภาคเอกชน สู่นโยบายบนเวทีผู้นำเอเปค ภายใต้แนวคิด “Business of the People” ที่จะทำให้คนไทยเข้าใจใน “บทบาท” และ “ความสำคัญ” ของทุกคน ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข้อแนะนำต่อภาคธุรกิจและภาคนโยบาย

เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
•มุ่งพัฒนาระบบให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพรองรับต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน
•ควรรักษามาตรฐานและคุณภาพทั้งในด้านสินค้าและบริการอยู่เสมอ
•ธุรกิจต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้มากที่สุด
•ภาครัฐและภาคเอกชน ควรร่วมมือและส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจทุกขนาดเข้าด้วยกัน

เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
•ภาคธุรกิจควรมีแนวคิดในการทำธุรกิจร่วมกันและแลกเปลี่ยนทรัพยากร เช่น วัตถุดิบ เครือข่าย องค์ความรู้ ระหว่างธุรกิจ และพยายามรักษา Supply Chain ระหว่างคู่ค้าเอาไว้ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
•ภาครัฐควรส่งเสริมหรือกำหนดนโยบายให้กับ MSMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น เพื่อลดการผูกขาด
ใน ตลาดจากรายใหญ่
•ภาครัฐและภาคเอกชนควรเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy รวมทั้งการเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น เพื่อควบคุมต้นทุนราคาสินค้า และวัตถุดิบให้เป็นไปตามกลไกตลาด

เพื่อความก้าวหน้าผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ
•ภาคเอกชน ยังต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณ เงินช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และช่วยควบคุมราคาปัจจัยการผลิต
•การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ MSMEs โดยผู้เชี่ยวชาญ หรือถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม ใหม่ๆ รวมถึงให้คำแนะนาในการดำเนินธุรกิจ
•ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการเมือง
•มีการกำหนดนโยบาย รวมถึงกฎหมาย ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งควรเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่อยู่บน Supply Chain เดียวกัน เพื่อเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน

ดูข่าวต้นฉบับ