กรมอนามัย แนะ 5 ชุดเมนูอาหารเช้า สะดวกทำได้ง่าย เติมพลังสมอง ช่วยให้มีสมาธิในการเรียน ห่วงเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเป็นประจำ จะส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเป็นประจำ จะส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพ หากร่างกายไม่ได้รับอาหารในมื้อเช้า จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ส่งผลให้อ่อนเพลีย อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้เปิด5เมนูอาหารเช้า สะดวกทำได้ง่าย เติมพลังสมอง และช่วยให้มีสมาธิในการเรียน
โดย ช่วงเปิดเทอม บางครอบครัวพ่อแม่จำเป็นต้องรีบออกจากบ้านแต่เช้า จนทำให้ละเลยไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าสำหรับลูก ซึ่งเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเป็นประจำ จะส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพ เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างอาหารเย็นจนถึงช่วงเช้า ร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหารตลอดเวลา และหากร่างกายไม่ได้รับอาหารในมื้อเช้า จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ส่งผลให้อ่อนเพลีย
ทั้งนี้ กรมอนามัย แนะนำ 5 เมนูอาหารเช้าสำหรับเด็ก ที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และครบหมู่ คือ
ชุดที่ 1
ข้าวกล้อง ฟักทองผัดไข่ และแตงโม ฟักทองอุดมด้วยวิตามินเอช่วยบำรุงสายตาของเด็กวัยเรียน ไข่แดงยังมีลูทีน ซีแซนทีน ที่ปกป้องดวงตา ป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตา
ชุดที่ 2
ข้าวสวย ต้มเลือดหมู ใส่หมูสับ ตับหมู ใบตำลึง และส้ม ธาตุเหล็กจากเลือดและตับหมู ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรกินคู่กับผลไม้สดที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยในการ ดูดซึมธาตุเหล็กให้ดียิ่งขึ้น
ชุดที่ 3
แซนวิชขนมปังโฮลวีททูน่าสลัดไข่ เมนูนี้ทำง่ายและสะดวกในการกินระหว่างเดินทาง อุดมด้วยใยอาหารจากธัญพืชและผัก ไข่ มีโปรตีน ปลาทูน่า อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยบำรุงสมอง
ชุดที่ 4
โจ๊กหมูสับใส่ไข่ กับนม โจ๊กมีคุณค่าอาหารครบถ้วน ย่อยง่ายแต่หนักท้อง ทำให้อิ่มทน จมูกข้าวอุดมด้วยวิตามินอี และแกมมาออริซานอล ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ได้โปรตีนทั้งจากหมูและไข่ ขิง ต้นหอม ช่วยชูรสชาติและมีใยอาหาร
ชุดที่ 5
ข้าวผัดไก่ ต้มจืดไข่น้ำสาหร่าย แอปเปิล เนื้อไก่นุ่มอร่อยมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ไข่น้ำ มีโปรตีน กินง่าย คล่องคอเหมาะกับมื้อเช้า สาหร่าย มีไอโอดีน นมรสจืด 1 กล่อง และผลไม้ประมาณ 1 ผล เช่น กล้วยน้ำว้า ส้ม แอปเปิล ชมพู่ เพื่อให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชน อายุ 6 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2548 – 2564 พบว่า ประชาชนมีการบริโภคอาหารมื้อหลักครบทั้ง 3 มื้อ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่นิยมทำกินเองซึ่งเป็นผลดีกับครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพราะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต จำเป็นต้องกินอาหารอย่างน้อย 3 มื้อ ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากในช่วงเช้า จึงควรวางแผนการเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า เลือกเมนูที่ปรุงง่าย สามารถจัดเตรียมวัตถุดิบไว้ล่วงหน้าได้ หรืออาจปรุงอาหารพร้อมมื้อค่ำ โดยเก็บในตู้เย็นเพื่ออุ่นกินในมื้อเช้า
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่tnews