ไลฟ์สไตล์

ขับรุ่นนี้มี 'แม่ย่านาง' ไหม? เล่าตำนาน 'แม่ย่านาง' ทำไมถึงมาอยู่ในรถ?

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 11 ม.ค. 2565 เวลา 18.00 น. • AJ.

'แม่ย่านาง' ชื่อนี้ได้เด็กไทยย่อมคุ้นเคย ยิ่งใครเป็นเด็กซุกซนชอบปีนป่ายรถยนต์ ก็เป็นอันต้องเคยถูกผู้ใหญ่ดุเอาด้วยเหตุผลว่า 'อย่าลบหลู่แม่ย่านาง!'

ว่าแต่ 'แม่ย่านาง' เป็นใคร ท่านมาอาศัยอยู่บนรถเราตอนไหน?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มีตำนานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับ 'แม่ย่านาง' อยู่หลายทฤษฎี โดยคำว่า'แม่ย่านาง' ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มีความหมายว่า 'ผีผู้หญิงประจำรักษาเรือ' สะท้อนความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต ที่ยกย่องเพศหญิงว่าสูงส่งและเป็นผู้ปกป้องคนทั้งหลาย นับถือเป็น 'แม่' หรือ 'แม่ย่า' ดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เช่น แม่โพสพ (ดูแลข้าวในนา) พระแม่คงคา (ดูแลแม่น้ำลำคลอง) และพระแม่ธรณี (เทพีแห่งพื้นดิน)

แม่ย่านางมีที่มาจากหลากหลายความเชื่อ หนึ่งในความเชื่อเก่าแก่มาจาก 'มาจู่' เทพพื้นบ้านเก่าแก่ของจีนที่มีฝ่ายเชื่อว่าเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าเป็นเทวีแห่งมหาสมุทรที่มนุษย์นับถือเท่านั้น

จากบันทึกเก่าแก่ในราชวงศ์ซ่งที่เชื่อว่ามาจู่มีตัวตนจริง ถ่ายทอดประวัติของมาจู่ในหลายเรื่องราว เช่น ช่วยทูตจีนให้รอดจากเรือแตก บันดาลลมขับไล่โจรสลัดปกป้องเรือชาวจีน ช่วยทัพหลวงปราบโจร ช่วยเหลือด้านการขนส่งทางทะเลของจีน ซึ่งเมื่อเข้ายุคราชวงศ์หยวนซึ่งมีการติดต่อค้าขายทางเรือมากขึ้น มาจู่จึงได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งท้องทะเล คอยดูแลนักเดินเรือไม่ให้เจอภยันตราย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คนไทยซึมซับความเชื่อเรื่องมาจู่ในสมัยอยุธยา ที่ต้องพึ่งพาอาศัยชาวจีนในการเดินเรือเป็นหลัก จึงมีการเซ่นไหว้มาจู่ตามชาวจีนในสมัยนั้น ยังปรากฏหลักฐานว่าในระยะแรกมีการเรียกมาจู่ตามเสียงจีนฮกเกี้ยนว่า 'หมาจ่อ' หรือ 'หมาจอ' แล้วจึงแปลความหมายเป็น 'แม่ย่านาง' ในที่สุด

ตำนานแม่ย่านางยังมีอีกหลายรูปแบบ ส่วนมากเชื่อมโยงถึง 'มาจู่' บ้างก็ว่ามาจากกัปตันเรือหญิงที่ขอพรกับเทพเจ้าให้พายุสงบเพื่อปกป้องลูกเรือ แลกกับการต้องอยู่บนเรือไปตลอดกาล

เมื่อ 'แม่ย่านาง' ปะทะ 'ขวัญ' จึงเกิดเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเจ้าของพาหนะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สังคมไทยมีความเชื่อเรื่อง 'ขวัญ' มาช้านาน โดยเชื่อกันว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมี 'ขวัญ' อยู่ ไม่ว่าจะในเด็ก ผู้ใหญ่ หรือสิ่งไม่มีชีวิตเช่นกัน หากไป 'นั่งทับ' หรือ 'เหยียบ' จะทำให้ขวัญหาย ก่อให้เกิดความไม่เป็นสิริมงคล เราจึงต้อง 'ทำขวัญ' เพื่อแสดงความขอบคุณหรือขอขมา

ในพาหนะที่คนเราใช้สำหรับการสัญจรก็มีขวัญสถิตอยู่เช่นกัน จะช้าง ม้า วัว ควาย เกวียน เรือ และแน่นอนในทุกวันนี้ที่เราใช้รถยนต์เป็นหลัก ก็ยังมีความเชื่อเรื่องขวัญและการบูชา 'แม่ย่านาง' อย่างเข้มข้น

แม้เราจะเปลี่ยนมาใช้รถแทนเรือ แต่ความเชื่อที่ว่าแม่ย่านางคอยอารักขา และสถิตอยู่บริเวณหัวเรือก็ยังไม่เปลี่ยนไป โดยธรรมเนียมการบูชาด้วยการผูกผ้าสามสีบริเวณหัวเรือ และการสำรวมไม่ก้าวข้ามหัวเรือก็ถูกนำมาปรับใช้กับรถยนต์เช่นกัน ทั้งการผูกผ้าสามสีรอบพวงมาลัยรถ แขวนพวงมาลัยดอกไม้ที่กระจกมองหลัง หรือนำเครื่องรางของขลังมาวางบนคอนโซลหน้าของรถยนต์เพิ่มความเป็นสิริมงคล

'แม่ย่านาง' ในต่างประเทศ?

ตำนานแม่ย่านาง ยังใกล้เคียงกับธรรมเนียมการออกเรือของฝั่งยุโรป ที่ใช้ความเป็น 'แม่' ปกปักรักษาเหล่าลูกเรือหรือกะลาสี เป็นที่มาของการนำชื่อหญิงสาวมาตั้งชื่อเรือ โดยตัวอย่างที่โด่งดังมากๆ คือเรือของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจผู้โด่งดังที่ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเรือชื่อ 'ลา ซานตา มารียา' (La Santa Maria) ที่ตั้งตาม 'พระแม่มารี' ของศาสนาคริสต์นั่นเอง คนสมัยก่อนยังมักใช้ชื่อบรรพบุรุษเพศหญิงมาตั้งชื่อเรือของตระกูลอีกด้วย

อีกหนึ่งทฤษฎีที่น่าสนใจคือ 'รากของภาษา' ที่ภาษากลุ่มอินโดยูโรเปียน (Indo-European) (ประกอบไปด้วยฝรั่งเศส เยอรมัน ฮินดี โปรตุเกส ฯลฯ) ที่เรียกคำนามและสิ่งของโดยแยกเพศ ชายและหญิง ซึ่งคำว่า 'เรือ' มีสรรพนามเป็นผู้หญิงในภาษาเหล่านี้

อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อเรือเป็นผู้หญิงนั้นค่อยๆ หมดความสำคัญลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป

แม่ย่านาง ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่?

ความเชื่อเรื่องแม่ย่านาง เป็นเรื่องส่วนบุคคล หากผู้ขับขี่ประสงค์อยากบูชาแม่ย่านางเพื่อความเป็นสิริมงคล ทั้งเพื่อความปลอดภัย และจุดประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะขับรถยุโรปหรือเอเชีย เจ้าของรถสามารถทำพิธีไหว้แม่ย่านางรถ และหมั่นบูชาท่านด้วยการแขวนพวงมาลัยบริเวณกระจกมองหลังได้

อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือสติที่ต้องอยู่บนถนนและการเคารพกฎจราจร มิฉะนั้นถึงมี 'แม่ย่านาง' ก็คงไม่อาจปกป้องเจ้าของรถจากภัยอันตรายใดๆ ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก :

chobrod.com

museumthailand.com

silpa-mag.com 1 / 2

theguardian.com

ความเห็น 91
  • ผมทำงานในบริษัท​ประกอบรถยนต์​วิศวกรไม่ได้วางกระบวนการเสริมแม่ย่านางไว้ในรถ ผมมีรถมา 4 คันไม่เคยที่จะเชื่อเรื่องเหล่าผมขับระวังด้วยตัวเอง ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ​ขณะวิ่งเลย มีแต่จอดไว้เฉยๆ มีใครมาชนหาตัวจับไม่ได้มากกว่า
    12 ม.ค. 2565 เวลา 01.42 น.
  • ShelL
    แล้วแต่ใครชอบ ไม่เดือดร้อนคนอื่นก็ทำไป แต่ส่วนตัวคงไม่ทำ เลอะเทอะไร้สาระ
    11 ม.ค. 2565 เวลา 23.43 น.
  • C.Sam
    บทความนี้ไร้สาระไม่รู้จริงถึงเรื่องแม่ย่านางประวัติเป็นมาของไทยไปอ้างฝรั่งบ้าบอ รถนะไม่มรหรอกแม่ย่านางที่เราไหว้ในรถคือพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเอาไปไว้ในรถเพื่อเป็นศิริมงคล เรือในบ้านเราสมัยก่อนใช้ไม้ทำก่อนที่จะตัดต้นไม้ใหญ่ที่เขาเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงอยู่เขาจะตั้งศาลแล้วอัญเชิญไปอยู่ในศาลพอตัดและสร้างเรือเสร็จ เขาก็จะอัญเชิญมาอยู่ในเรือจึงเป็นแม่ย่านางเรือทุกวันนี้ ส่วนรถเขาจะเอาแม่ย่าเหล็กมาเหรอ? เหล็กเป็นม้วนคลี่ออกมาตัดเป็นชิ้นปั๊มเป็นประตูมีพิธีกรรมอะไร? คิดแบบมีเหตุผลครั
    12 ม.ค. 2565 เวลา 00.49 น.
  • Zero_Dragon
    ที่ใส่ในแกงหน่อไม้ใช่ไหม
    12 ม.ค. 2565 เวลา 02.20 น.
  • NIMNUAL
    ไม่มีเครื่องยนต์ ไม่มีพวงมาลัย ไม่มีล้อ รถก็วิ่งไปไม่ได้
    11 ม.ค. 2565 เวลา 23.42 น.
ดูทั้งหมด