ทั่วไป

อาจารย์เจษฎา ชี้แจง โรคไข้นกแก้วระบาด พบผู้เสียชีวิต 5 รายในแถบยุโรบ

TOJO NEWS
อัพเดต 10 มี.ค. เวลา 16.07 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. เวลา 09.05 น. • Admin_Tojo

อาจารย์เจษฎา เผยกรณีการระบาดของโรคไข้นกแก้ว ยังไม่ต้องวิตกกังวล แนะแนวทางป้องกันโรค

ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) ไม่ใช่โรคไข้หวัดนก และยังไม่ต้องวิตกกังวลกันมากครับ"

วันสองวันนี้ มีข่าวเตือนเกี่ยวกับโรค “ไข้นกแก้ว” ออกมา แล้วทำให้หลายคนกลัวกันว่า มันจะระบาดและเป็นอันตรายร้ายแรง เหมือนที่เคยมี "โรคไข้หวัดนก" ระบาดเมื่อหลายปี และมีคนเสียชีวิตไปหลายคนมาก

ก็ขอบอกว่า มันเป็นคนละโรคกัน เกิดจากเชื้อโรคคนละชนิดกัน และระดับของอันตรายที่มีต่อสุขภาพ ก็ต่างกันมากครับ : คือ โรคไข้นกแก้ว นั้นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Psittacosis (ซิตตาโคซิส) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ดูรูปประกอบ) และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ / ขณะที่โรคไข้หวัดนก มีชื่อว่า avian influenza (หรือ bird flu) เกิดจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์ย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) มีอัตราการเสียชีวิตสูง ต้องรีบให้ยาต้านไวรัสให้ทันเวลา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตามข่าว (ลิงค์ข่าวด้านล่าง) จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้ให้ข้อมูลว่า มีการระบาดของโรค "ไข้นกแก้ว" ในหลายประเทศแถบยุโรป มีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยพบเชื้อในนก สัตว์ปีกในป่า และสัตว์เลี้ยงหลายชนิด .. แต่โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) หรือโรคไข้นกแก้ว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบได้ยาก ซึ่งมีนกเป็นพาพะ เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนกดังกล่าว เช่น สุนัขและแมว โดยคนจะสามารถติดต่อโรคนี้ได้ผ่านการหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก โดยคนกลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ คนเลี้ยงนก รวมถึงผู้ให้อาหารนก เป็นต้น

โดยผู้ติดเชื้อมักมีการอาการแสดงเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และไอแห้ง ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ และสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต มักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการพบผู้เสียชีวิต สามารถพบได้น้อยมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 จากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีกพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เช่นกัน แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำ .. ล่าสุดยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย ขอแนะนำให้ประชาชนรับฟังข่าวด้วยความตระหนัก รับทราบความเสี่ยงของภัยสุขภาพ เพื่อทราบแนวทางป้องกันโรค ไม่ตื่นตระหนกตกใจ หรือหลงเชื่อข่าวปลอมจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ

สำหรับข้อมูลของโรคไข้นกแก้ว หรือโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) จากศูนย์ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา มีดังนี้

#โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)

เกิดจากการที่สัตว์ปีกไปติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Chlamydia psittaci และอาจมีบางเคสที่ติดต่อสู่คน และทำให้เกิดโรคซิตตาโคซิสขึ้น ซึ่งมักจะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว นกกระตั้ว และเป็ดไก่ โรคนี้ทำให้เกิดอาการป่วยแบบไม่รุนแรง หรือเกิดอาการปอดบวม (pneumonia) จากการติดเชื้อที่ปอด ซึ่งป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการระมัดระวังเวลาสัมผัสและทำความสะอาดสัตว์ปีกและกรงของมัน

มีหลายคนเรียกโรคซิตตาโคซิสนี้ว่า โรคนกแก้ว (parrot disease) หรือ ไข้นกแก้ว (parrot fever) แต่แบคทีเรียดังกล่าวสามารถติดต่อสู่นกได้หลากหลายชนิด / ขณะที่เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia psittaci นี้ ในอดีตก็เคยมีการเรียกในชื่ออื่นๆ เช่น Chlamydophila psittaci

แม้ว่าโรคซิตตาโคซิสจะนับว่าเป็นโรคที่พบได้ยากในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่คาดว่าจริงๆ แล้ว มันน่าจะมีการรายงานน้อยกว่าความเป็นจริง และมันยังสามารถจะเกิดการระบาดใหญ่ได้ด้วย / โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา มีรายงานน้อยกว่า 10 เคสต่อปีในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในปี ค.ศ. 2018 เคยเกิดการระบาดของโรคซิตตาโคซิสขึ้นในหลายรัฐ กับกลุ่มคนงานโรงงานเนื้อสัตว์ปีก โดยมี 13 เคสที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการ / ขณะที่ได้เคยเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก ของโรคซิตตาโคซิสมาแล้ว ในปี ค.ศ. 1929 และ 1930 โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 800 รายทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย

การแพร่ระบาด : เชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อโรคนี้ สามารถติดต่อสู่คนที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ ซึ่งนกที่ติดเชื้อนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงอาการป่วยออกมา แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้ ผ่านมูลและสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เมื่อมูลและสารคัดหลั่งของนกแห้งและกลายเป็นผงฝุ่นขนาดเล็ก (ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียอยู่) ก็สามารถฟุ้งกระจายในอากาศ และพบว่าเคสของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นของมูลนกแห้งเข้าไป มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากการถูกนกกัด หรือไปจูบปากของนก

โดยทั่วไปแล้ว โรคซิตตาโคซิสไม่ได้แพร่กระจายจากคนสู่คน แม้ว่าจะเคยมีเคสที่หาได้ยากเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคผ่านการเตรียมอาหารหรือรับประทานสัตว์ปีกเป็นอาหาร

พบว่าคนที่เพศวัย มีความเสี่ยงที่จะติดโรคซิตตาโคซิสได้ แต่รายงานส่วนใหญ่มักเป็นในกรณีของผู้ใหญ่ (มากกว่าเด็ก) โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จะเป็นคนที่สัมผัสกับนกที่เป็นสัตว์เลี้ยงและพวกเป็ดไก่ รวมถึงคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับนก ได้แก่ เจ้าของนก ลูกจ้างในร้านสัตว์เลี้ยง คนงานฟาร์มเป็ดไก่ และสัตวแพทย์

อาการ : อาการของโรคซิตตาโคซิส จะคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ โดยในคนส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง คือ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง คนส่วนใหญ่เริ่มมีอาการภายใน 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia psittaci และอาจมีแค่บางคนที่เริ่มป่วยเมื่อผ่านไปแล้วถึง 14 วัน

ส่วนในสัตว์ปีกนั้น อาการของการติดเชื้อ C. psittaci จะดูไม่ค่อยจำเพาะเจาะจง ประกอบไปด้วยอาการ ไม่เจริญอาหาร ตาอักเสบ หายใจลำบาก ท้องร่วง และนกที่ติดเชื้อนั้นอาจจะไม่แสดงอาการป่วยเลยก็ได้ (สัตวแพทย์ มักเรียกโรคนี้ที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีกติดเชื้อ ว่า avian chlamydiosis)

การวินิจฉัยโรค : อาการของโรคซิตตาโคซิสจะคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ อีกหลายโรค และก็ยังไม่มีวิธีตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรียโดยตรง ทำให้แพทย์ไม่ค่อยจะสงสัยว่าเป็นโรคนี้ และทำให้ค่อนข้างยากต่อการวินิจฉัย ศูนย์ CDC เองก็ไม่ค่อยจะได้รับรายงานถึงโรคซิตตาโคซิส

จึงควรจะแจ้งแพทย์ให้ทราบ ถ้าเกิดอาการป่วยหลังจากซื้อหรือไปสัมผัส กับนกเลี้ยงหรือเป็ดไก่ แพทย์จะใช้วิธีการตรวจหลายๆ วิธีในการพิจารณาว่าเป็นโรคซิตตาโคซิสหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการเก็บเสมหะ เลือด หรือสว็อบตัวอย่างจากในจมูกหรือช่องคอ มาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย

การรักษา : คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซิตตาโคซิสนั้น มักจะได้รับยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เพื่อรักษาโรค ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าได้รับยาปฏิชีวนะหลังจากที่เริ่มป่วย และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วนั้น ส่วนมากจะหายเป็นปรกติได้ มีเพียงแค่บางคนที่มีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น เกิดอาการปอดบวม (ปอดติดเชื้อ) ลิ้นหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เส้นประสาทหรือสมองอักเสบ ทำให้เกิดปัญหากับระบบประสาท ส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้นน้อยมาก คือน้อยกว่า 1 ใน 100 เคส (ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม)

การป้องกันโรค : ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคซิตตาโคซิส และถ้าเคยติดโรคนี้แล้ว ก็สามารถติดได้อีกในอนาคต / แต่สามารถดูแลป้องกันตนเองและผู้อื่นได้ เช่น ซื้อนกจากร้านสัตว์เลี้ยงที่เชื่อถือได้เท่านั้น และถ้ามีหรือทำงานเกี่ยวกับนกหรือสัตว์ปีก ให้ระมัดระวังในการสัมผัสจับต้องและทำความสะอาดตัวนกและกรง ได้แก่

- รักษาความสะอาดของกรง ; ทำความสะอาดกรง และถ้วยน้ำถ้วยอาหาร ทุกวัน

- จัดวางตำแหน่งของกรง ไม่ให้อาหาร ขนนก และมูลนก กระจายถึงกันได้ (กล่าวคือ อย่าวางกรงซ้อนทับกัน , ใช้กรงที่มีผนังปิดด้านข้าง หรือหาที่กั้นระหว่างกรง ถ้าจำเป็นต้องวางกรงไว้ข้างกัน)

- หลีกเลี่ยงไม่ให้นกอยู่แน่นกรงเกินไป

- แยกนกที่ติดเชื้อออกไปทำการรักษา

- ใช้น้ำและยาฆ่าเชื้อ ราดบนพื้นผิวกรง ก่อนที่จะทำความสะอาดกรงหรือพื้นผิวที่มีมูลนกเปื้อนอยู่ หลีกเลี่ยงการเช็ดแบบแห้งหรือใช้เครื่องดูดฝุ่น เพื่อลดการกระจายของขนนกและฝุ่น (ที่ปนเปื้อนเชื้อ) อย่าลืมล้างมือของคุณให้ทั่วด้วยน้ำไหลผ่าน และสบู่ หลังจากที่สัมผัสกับนกหรือมูลของมัน

- ใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น ถุงมือ และหน้ากากที่เหมาะสม เมื่อต้องสัมผัสจับต้องนกที่ติดเชื้อ หรือทำความสะอาดกรงของมัน

เพื่อไม่พลาดข่าวสารดีๆ อย่าลืมกดติดตามพวกเรา TOJO NEWS

ดูข่าวต้นฉบับ