ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ!เมื่อ 'เสาไฟ' กลายเป็นกระแสจุดประเด็นการตรวจสอบงบประมาณของหน่วยงานรัฐไปได้
หลังเกิดประเด็น 'เสาไฟกินรี' ที่ อบต.ราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการ คนไทยจากหลายจังหวัดก็ทยอยส่งภาพเสาไฟใกล้บ้านเข้าประกวด และพบว่าหลายพื้นที่มีการสร้างเสาไฟโดยใช้ 'ของดี' ของแต่ละพื้นที่ในการออกแบบ ทั้ง 'เสาไฟปลาบึกเสียบไม้' จังหวัดเชียงราย 'เสาไฟแม่ค้าพายเรือ' ของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจุดร่วมของทุกเสาไฟคือการใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างน่าสงสัย
ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกคำสั่งด่วนเข้าตรวจสอบเสาไฟกินรี และเสาไฟประติมากรรมทุกจังหวัดเรียบร้อย
หลังเห็นภาพเสาไฟหน้าตาน่ารักสไตล์ไทยติดๆ กันมาหลายวัน เราจึงอยากชวนทุกคนร่วมสำรวจเสาไฟสุดไฮเทคจากทั่วโลก ว่าต้นไหนน่าสนใจ ต้นไหนน่าเอาอย่าง และต้นไหนน่ายืมมาติดแถวบ้านจริงๆ เลย!
ไม่ใช่เสาไฟ แต่เป็นเสาพ่นน้ำ!
ราวปี 2014 เมืองต้าเย่ แห่งมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ได้ติดตั้งเสาสุดไฮเทคที่มีระบบเซนเซอร์ สามารถจดจำใบหน้าคนกระทำผิดอย่างข้ามถนนหรือปั่นจักรยานโดยไม่รอสัญญาณไฟจราจร เมื่อพบผู้กระทำผิด เจ้าเสานี้จะพ่นน้ำใส่ และส่งเสียงเตือนให้ระวัง ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถถ่ายภาพหน้าผู้กระทำผิดและนำไปแสดงบนจอขนาดใหญ่ในเมืองอีกด้วย!
ไอเดียนี้ทำให้ชาวเน็ตเสียงแตกพอสมควร บางคนบอกว่าเสานี้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งยังมีการถกเถียงเรื่องเทคโนโลยีจดจำใบหน้าที่ออกจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนิดๆ ด้วย
เสาไฟสุดกรีน ที่ลอนดอน
เพื่อให้เข้ากับนโยบายความยั่งยืนของเมือง เสาไฟฟ้าสุดกรีนเหล่านี้มีจุดหมายเพื่อลดการสร้างมลภาวะให้เหลือศูนย์ เพื่อส่งเสริมวิวทิวทัศน์ของเมืองและช่วยชุบชูใจชาวเมืองและนักท่องเที่ยวให้ชุ่มชื่นกว่าเดิม เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว มีรังผึ้งจริงๆ สถานีชาร์จรถอีคาร์ (Electronic Cars) ทั้งยังเป็นบ้านพักของเจ้าค้างคาวและเหล่านก
ใจความสำคัญของเสาไฟสุดกรีนเหล่านี้คือการทดสอบว่าในพื้นที่ที่มีมลภาวะเยอะที่สุดอย่างกลางเมืองลอนดอน เรายังสามารถเพิ่มความเขียว ด้วยแนวคิดแสนยั่งยืนที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ
เสาไฟฟ้าสุดสมาร์ตที่อาจนำความ 'ไม่ปลอดภัย' มาให้ชาวฮ่องกง
ไม่ใช่ทุกเสาจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากประโยชน์ เพราะล่าสุดที่อ่าวเกาลูน ฮ่องกง มีการติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะจำนวนกว่า 50 ตัว แต่ก็มีการประท้วงอย่างรุนแรงจนถึงขั้นที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาในการสายผู้ชุมนุม
รัฐบาลมีแผนติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะดังกล่าวจำนวน 350 ต้นภายใน 3 ปีข้างหน้า ทางการยืนยันว่าคุณสมบัติของเสาไฟมีเพียงการวัดความหนาแน่นของจราจร บอกสภาพภูมิอากาศ วัดคุณภาพอากาศ ไปพร้อมๆ กับการตรวจจับผู้กระทำผิดข้อหาทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทั้งยังมีไวไฟฟรีให้ใช้ทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนมากที่กังขากับเจ้าเสาไฟอัจฉริยะต้นนี้ จึงเกิดการประท้วงล้มเสาไฟขึ้น ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าเสาไฟสุดล้ำนี้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีนในการสอดส่องพฤติกรรมชาวฮ่องกง อาจมีการติดกล้องวงจรเพื่อจดจำใบหน้าประชาชน ซึ่งเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันมีการตั้งเงื่อนไขให้ชาวฮ่องกงที่เดินทางไปประเทศจีนต้องถูกตรวจมือถือเพื่อเช็กข้อมูลการประท้วง ทั้งยังมีกรณีที่ผู้ประท้วงถูกจับในโรงพยาบาล เพราะมีการปล่อยข้อมูลการรักษาให้ตำรวจรู้อีกด้วย
'หนูแทบจะไม่ใช่เสาไฟแล้ว แทบจะเป็น 'เสาอะไรก็ได้' แล้วอะ!'
เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว!เมื่อส่วนบริหารกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government) ประเทศเกาหลีใต้ กำลังมีโปรเจกต์เปลี่ยนเสาไฟให้เป็น 'เสาอัจฉริยะ' ด้วยคุณสมบัติมากมายตั้งแต่ส่องไฟถนน มีไฟจราจรในตัว ทำหน้าที่เป็นสถานีไวไฟ 5G รวมถึงมีกล้องวงจรปิดในตัว ไม่เพียงเท่านั้น เพราะปัจจุบันทางเมืองกำลังหาทางพัฒนาให้เสาอัจฉริยะรุ่นนี้ยิ่งฉลาดไปอีกขั้น ด้วยการเพิ่มสถานีชาร์จรถอีคาร์และโดรนส์ รวมถึงระบบตรวจจับการจอดรถผิดกฎหมาย หยุดล้ำได้แล้วนะเกาหลี คนไทยอิจฉาจะแย่แล้ว!
โจทย์สำคัญของเสาไฟอัจฉริยะยุคนี้ 'รุ่นต้านโควิด'
หลายประเทศในยุโรปติดตั้งเสาไฟอัจฉริยะมานานแล้ว ปัจจุบันเริ่มมีประชาชนจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามสำคัญว่า 'เราจะใช้เสาไฟให้เป็นประโยชน์ในยุคโควิด-19 ได้อย่างไร?'
แนวคิดนี้เกิดจากการสำรวจเสาไฟที่เมืองบาเซโลน่า ที่สามารถวัดความแออัดของประชากรที่มาเที่ยวชายหาดได้ นักท่องเที่ยวก็จะได้รู้ว่าหาดไหนไม่น่านั่ง และเลี่ยงไปหาดอื่น เป็นการรักษาระยะห่างไปในตัว ทั้งยังเป็นวิธีตรวจนับจากจำนวน 'ทราย' บนหาด แทนที่จะเป็นการสแกนใบหน้าเพื่อนับคน ที่อาจกระทบเรื่องสิทธิส่วนบุคคลอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
ว่ากันด้วยเรื่องโครงสร้างเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เสาไฟ' เป็นองค์ประกอบที่ทุกเมืองจำเป็นต้องมี วิธีที่เรียบง่ายที่สุดสำหรับหลายๆ เมืองในโลกคือการใช้วิธีหรี่ไฟหรือเปิดให้สว่างไสวเมื่อมีผู้คนสัญจรผ่าน เป็นการดึงดูดให้คนใช้ถนนหนทางกันมากขึ้น ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กับการรักษาความปลอดภัยไปในตัว
ยังไม่นับคุณสมบัติสำคัญของเสาไฟคือการที่มันมีอยู่ทุกที่ หลายๆ ประเทศจึงใช้ความทั่วถึงของเสาไฟในการติดอุปกรณ์เก็บข้อมูลความหนาแน่นของพื้นที่ สภาพอากาศ มลภาวะ ไปจนถึงลักษณะประชากร ที่แน่นอนว่าอาจถึงขั้นจดจำใบหน้าอย่างในบางประเทศ
ถือเป็นโจทย์หินของแต่ละเมืองเช่นกัน ที่จะหยิบเอาองค์ประกอบใดของเมืองมาพัฒนาให้ประชาชนได้ประโยชน์ ใช้งานได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือสิ่งสิ่งนั้นต้องไม่สร้างข้อกังขาให้คนในประเทศคอยตั้งคำถามอยู่ทุกวี่วันอย่างที่เป็นอยู่
อ้างอิง
Tee อยากให้ ปปช.ตรวจราคากลางของราชการทุกชิ้นด้วย ราคาเหยียบแสน ยังมีหน้ามาบอกถูกกว่าราคากลาง
ก็เล่นตั้งกันเว่อร์วังแบบนั้น
16 มิ.ย. 2564 เวลา 21.54 น.
🫧 ประชาชนอยู่เฉยไม่ได้ ปล่อยไว้ไม่ได้
การโกงกินจะย้อนกลับมาหาประชาชน
เอาง่ายๆ ใครขับรถชนเสาหัก
เราก็จะต้องชดใช้ ตามราคา ที่มันเปิดบิลโกงเอาไว้
ล่มจมกันเลยทีเดียว
17 มิ.ย. 2564 เวลา 01.03 น.
เก่ง..มาจากไหนก็แพ้. คิดพัฒนา กับคิดหาทางกิน แค่วิธีคิดก็ผิดกันแล้ว
16 มิ.ย. 2564 เวลา 21.38 น.
M!T สู้เสาไฟอบต.เมืองไทยไม่ได้หลอก
16 มิ.ย. 2564 เวลา 20.55 น.
Supon Thakum สงสารประเทศไทยเถิดครับ อย่าเอาหน่วยงานเปนแหล่งทำมาหาเงินเลย
17 มิ.ย. 2564 เวลา 01.14 น.
ดูทั้งหมด