ความอิจฉาริษยา และความไม่ลงรอยกัน ในพระราชสำนักฝ่ายใน
สถานที่ใดที่มีสตรีอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ย่อมจะมีเรื่องราวกระทบกระทั่งกันบ้างไม่มากก็น้อย ใน พระราชสำนักฝ่ายใน ก็คงหลีกหนีธรรมชาติเช่นนี้ไม่พ้น แม้ว่าทุกคนจะมีศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีอยู่ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวกัน และมีความพยายามที่จะระมัดระวังมิให้เกิดการกระทบกระทั่งกันให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
แต่เพราะพื้นฐานจิตใจและการอบรมบ่มนิสัยของผู้ที่เข้ามาถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา แต่ละท่านไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ ความอิจฉาริษยา การชิงดีชิงเด่นชิงความรัก และความเป็นหนึ่ง จึงต้องเกิดขึ้นบ้างในพระราชสำนักฝ่ายในไม่มากก็น้อย แต่มักไม่ใคร่จะมีหลักฐานปรากฏ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ภายในพระราชวัง ไม่สมควรที่คนภายนอกจะล่วงรู้ให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า เรื่องการอิจฉาริษยา เรื่องการริษยาชิงดีชิงเด่นกันในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น น่าจะมีเพียงแต่เป็นเรื่องราวที่คลุมเครือไม่กระจ่างชัด และไม่อาจที่จะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา บางเรื่องเป็นเรื่องซุบซิบโจทย์ขาน บางเรื่องปรากฏในพระราชหัตถเลขา บางเรื่องเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่
เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะได้แก่ความไม่ลงรอยกัน หมั่นไส้กัน และหึงหวงกัน ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ทรงมีถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน ร.ศ. 128 เกี่ยวกับเรื่องการจัดการรับเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จกลับจากภาคเหนือ มีข้อความแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบกันในพระราชสำนักฝ่ายใน ความตอนหนึ่งว่า
“—ถ้าหากว่าเป็น (ข้อความถูกตัดออก) จะไม่พูดเลยเป็นอันขาดเพราะถ้าพูดขึ้นคงจะว่าบ้า หน้านิ่วคิ้วขมวดต่าง ๆ แต่ที่เป็นเจ้าพระยายมราช เห็นดีอย่างไรก็พูดกันตามตรง
ทางดารานั้นเมื่อมาตามทางหัวเมืองทุก ๆ เมืองเขาได้ต้อนรับได้บายศรีทำขวัญแลมีการเล่นบางอย่างลงมาตามลำดับ แต่ครั้งเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ จะหน้านิ่วกุดกันแจ ก็ไม่เห็นว่ามีประโยชน์อันใด เป็นแต่สะใจผู้คิดทำเช่นนั้น ได้ปลื้มครู่เดียว ถ้าใจไม่ขี้เกียจเสียถึงขนาด ก็จะออกรำคาญได้บ้าง
เพราะฉะนั้นในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ นี้ไม่มีที่และแห่งใด จะตรงมาขึ้นแพหน้าวัดราชาธิวาสที่เดียว ถ้าหากว่าเจ้าพระยายมราชมารับที่แพ จะตกแต่งแพด้วยใบไม้ใบไล่บ้างเล็กน้อยคงจะเป็นที่ชื่นชมยินดีเป็นอันมาก นับว่าเป็นการเสมอต้นเสมอปลายไม่ต้องมีงานมหรสพอะไร เพราะชีวแต่มาขึ้นท่าต้อนรับ แล้วก็เข้าวังเท่านั้น หวังใจว่าเจ้าพระยายมราชจะไม่มีความรังเกียจในการที่ว่าเช่นนี้—“
ซึ่งถ้าจะนำข้อความในลายพระราชหัตถเลขานี้มาประมวลเข้ากับคำปรารภที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตรัสขณะประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นคำเมืองว่า “ใคร่ปิ๊กบ้านวันละร้อยเตื้อ” แปลว่าอยากกลับบ้านวันละร้อยหน ก็น่าจะหมายถึงมีปัญหาที่ทำให้ไม่สะบายพระทัยนัก
อีกเรื่องหนึ่งที่มีการซุบซิบเล่าลือกันในหมู่ชาววัง คือเรื่องพิธีแห่โสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขมขัติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาซึ่งประสูติแต่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงเป็นพระราชธิดาที่มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดายิ่งนัก
เมื่อครั้งโปรดให้โสกันต์นั้น ปกติจะต้องมีพิธีแห่โสกันต์ในเวลาเย็น แต่พิธีแห่ต้องเลื่อนไปจนค่ำ มีเรื่องเล่าเชิงลือกันว่า สาเหตุเป็นเพราะ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ขณะดำรงพระอิสริยศเป็นพระนางเธอ เกิดประชวรปัจจุบันและทรงบรรทมหนุนพระเพลาสมเด็จพระบรมราชสวามีไว้ ทำให้ไม่อาจเสด็จไปงานพิธีแห่โสกันต์ตามกำหนดได้
ความอิจฉาริษยาเป็นเรื่องที่อยู่ในใจ ไม่อาจจะมีใครหนึ่งรู้ได้จนกว่าจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งบอก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นเกิดเพราะความอิจฉาริษยา เพราะอาจมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ต้องปฏิบัติเช่นนั้น ดังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนือง ๆ ในพระราชสำนักฝ่ายใน เช่น กรณีที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สั่งทำลายเนกาตีฟภาพคู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ทรงอ้างความไม่เหมาะสมที่จะทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์คู่กับพระมเหสีพระองค์อื่น เรื่องที่เจ้าจอมสดับเล่าไว้ว่า
“—พระวิมาดาเธอฯ ท่านทรงมีความสวามิภักดิ์ต่อเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอย่างยิ่ง สิ่งใดที่เห็นว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดความยุ่งยากพระราชหฤทัย ถ้าท่านอาจจะแก้ไขตัดสาเหตุอันนั้นได้ก็จะทรงกระทำทันที แม้การนั้น ๆ จะกลับเป็นเครื่องบีบคั้นพระทัยของพระองค์เองอย่างทารุณก็ตาม
เช่นครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาชักชวนให้พระวิมาดาเธอฯ ฉายพระรูปคู่กับพระองค์ท่าน ทำให้เกิดความปีติปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่สุด เพราะเท่ากับว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงซึ่งพระราชหฤทัยว่า ทรงพระเมตตาและทรงยกย่องมาก แต่ครั้นเมื่อช่างได้ทำการฉายและจัดพิมพ์ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว สมเด็จพระพันปีทอดพระเนตรเห็น ก็กราบบังคมทูลว่าไม่สมควรที่จะทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์คู่กับพระมเหสีอื่น ขอให้ทรงเรียกรูปที่พิมพ์แล้วพร้อมทั้งเนเคทีฟมาทำลายเสียให้หมด
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริว่า การทำเช่นนั้นจะเป็นการบีบคั้นพระทัยพระวิมาดาเธอฯ เกินไปจึงพังเสีย แต่เมื่อพระวิมาดาเธอฯ ทรงทราบ ก็ทรงพระดำริว่า ถ้าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระประสงค์ของสมเด็จพระพันปีหลวง เรื่องก็จะไม่ยุติ คงจะเกิดร้าวฉานให้ร้อนถึงเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นแม้จะเป็นสิ่งที่ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเก็บไว้เป็นที่ระลึกเป็นที่ชื่นชมในพระมหากรุณา แต่เมื่อเก็บไว้ก็จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าหลวงร้อนพระราชหฤทัย ท่านก็ตัดสินพระทัยเด็ดขาดถวายพระรูปคืน เพื่อให้ไปทำลายเสียตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระพันปี—“
บางเหตุการณ์ก็เกิดจากความอิจฉาริษยาโดยเปิดเผย เช่นเรื่องที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ประสบมากับตนเอง ว่าการที่ท่านเป็นเจ้าจอมคนโปรดนั้น คนรอบข้างมีความรู้สึกอย่างไร ปรากฏเรื่องนี้ในหนังสือ ศรุตานุสรณ์ ความว่า
“—การที่ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างชาวต่างประเทศมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาเป็นผู้จัดท่าพระราชทานเอง ตลอดจนทรงพระกรุณาพระราชทานตู้ของที่ระลึก และจัดของเข้าแต่งตั้งในตู้พระราชทานด้วยพระองค์เองเหล่านี้ ทำให้เจ้าจอมหลายท่านอิจฉาริษยา ถึงใช้วิธีส่อเสียดยุแหย่กล่าวหาในข้อร้ายหลายประการ
จนทำให้เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับรู้สึกตัวว่ามีแต่ผู้หวังร้ายไม่มีผู้หวังดี ท่านได้บันทึกความรู้สึกในตอนนี้ไว้ว่า‘—เหลียวไปพบแต่ศัตรู คุณจอมนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีหรือ ข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน—‘**
เรื่องที่ร้ายอย่างยิ่งก็คือ คุณจอมท่านหนึ่งกล่าวหาว่า ท่านไม่ซื่อตรงจงรักต่อเบื้องพระยุคลบาท กำลังติดต่อสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่น ข้อหานี้ฉกรรจ์มาก ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทุกข์อย่างหนัก เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ และที่วิตกมากก็คือกังวลว่าได้ทำเรื่องให้ขุ่นเคืองเบื้องพระยุคลบาทไว้หลายเรื่อง นับแต่ไม่เรียนหนังสือกราบบังคมทูลสนองพระราชหัตถเลขา และเรื่องอื่น ๆ
เมื่อมากระทบเรื่องสำคัญดังนี้อีก เกรงจะทำให้สิ้นพระมหากรุณา ขณะนั้นเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับยังอายุน้อย ขาดความสุขุม ก็เลยคิดสั้น คือคิดทำลายตนเองด้วยการดื่มน้ำยาล้างรูป แต่ความได้ทราบถึงเบื้องพระยุคลบาททันการ ได้เสด็จลงไปพระราชทานกำลังใจ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ชาวต่างประเทศมาช่วยรักษาชีวิตไว้ได้ทันที—
ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้กราบบังคมทูลยุยงอีกว่า ‘—*ชีวิตตัวเองเขายังไม่รัก แล้วอย่างนี้เขาจะรักใครจริง—‘ แต่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงกล่าวว่ากระไร—“*
แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตไปแล้ว ยังคงมีเรื่องราวกล่าวขานกันในหมู่พระมเหสีเทวี ในพระราชสำนักฝ่ายใน เกี่ยวกับพระอารมณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าไว้ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ ว่า
“—ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก และได้เฝ้าท่านเกือบทุก ๆ วัน เป็นสมัยที่ท่านไว้ทุกข์ทูลหม่อมปู่ ท่านทรงดำอยู่ตลอดเวลา แม้เมื่อท่านยังเสด็จไปไหนมาไหนได้ และเมื่อเสด็จไปงานมงคล เช่นเฉลิมพระชนมพรรษาทูลหม่อมลุง ท่านก็ยังทรงดำอยู่ดี แต่คนอื่น ๆ แต่งดำเมื่อไม่มีทุกข์ให้ใครแล้ว ข้าพเจ้าจำ ๆ ได้ว่า ย่าท่านกริ้ว จนท่านถูกคนอื่นเขาหาว่า ท่านอยากจะเป็นแม่หม้ายของพระจุลจอมเกล้าเสียแต่พระองค์เดียว—“
อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านพ้นไป ทุกพระองค์ทุกคนต่างก็ลืมเลือนในสิ่งที่ได้เคยล่วงล้ำก้ำเกินซึ่งกันและกัน และต่างก็ให้อภัยกันในที่สุด ดังเรื่องที่หม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเล่าไว้ว่า
“—ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งประชวรกระเสาระกระแสะมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต ประชวรมากขึ้นและเสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเจ้าลูกเธอ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน และเป็นพระมเหสีเทวีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย เสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรในที่ท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ทรงสนทนากันสามพระองค์พี่น้องถึงความหลังครั้งเก่า
แล้วสมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงกราบลงที่พระบาทสมเด็จฯ ก่อนที่ใคร ๆ จะรู้สึกพระองค์ เป็นนัยว่าทรงขอพระราชทานอภัยในความหลังดั้งเดิมทั้งหมด ฝ่ายพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงเบี่ยงพระองค์ชักพระบาทหลบ เห็นจะด้วยทรงเกรงว่า สมเด็จพระพันปีจะกราบมาถึงท่านอีกพระองค์หนึ่ง เสร็จจากทรงกราบที่พระบาทสมเด็จฯ แล้ว สมเด็จพระพันปี ก็ทรงคลานอ้อมมานิดหนึ่ง พอที่จะกราบลงที่พระบาทพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีได้ แล้วก็ทรงกราบลงพร้อม ๆ กับที่ทรงพระกันแสงกันทั้งสามพระองค์ ทำให้ข้าหลวงแถว ๆ นั้นอดกลั้นน้ำตามิได้ ไปตาม ๆ กัน—“
นอกจากความอิจฉาริษยา แข่งขันชิงดีชิงเด่นชิงความรักความเป็นใหญ่ระหว่างกันในพระราชสำนักฝ่ายในแล้ว สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ชาววังระวังและปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดที่สุดก็คือ การรักษาสถานภาพความเป็นคนโปรดหรือที่เรียกว่า “ขึ้น” เพราะเวลา “ขึ้น” นั้นจะมีทั้งอำนาจวาสนาทรัพย์สินเงินทอง ผู้คนต่างพากันเข้ามาสวามิภักดิ์แห่ห้อมยอมตัวอยู่ในพระบารมี
เวลาที่ไม่โปรดปราน เรียกว่า“ตก” สิ่งต่าง ๆ ประดาที่เคยมีก็พลันสูญเสียไป ความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในสภาพนี้ ก็คือ ความรู้สึกของปุถุชนคนทั่วไปคือมีทั้งความเสียใจเสียดายถวิลหาถึงสิ่งดี ๆ ที่ผ่านไป เว้นแต่ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะกำกับกายใจอยู่จึงจะพ้นภาวะและความรู้สึกเช่นนั้น
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงประสบกับภาวการณ์ “ขึ้น” และ “ตก” อันเนื่องมาจากการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร จึงทรง“ขึ้น” ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชมารดาองค์รัชทายาท และทรง “ตก” เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ ฐานะพระราชมารดาองค์รัชทายาทจึงเปลี่ยนไปอยู่กับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถแทน สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“—ฉันน่ะไม่เคยขี้เหนียวหรอก แต่เห็นเสียแล้ว เมื่อเวลาฉันมีบุญน่ะ ล้วนแต่มาห้อมล้อมฉันทั้งนั้นแหละ เวลามีงานมีการอะไร ฉันก็ช่วยเต็มที่ไม่ขัด แต่พอฉันตกก็หันหนีหมด ไปเข้าตามผู้มีบุญคนต่อไป ฉะนั้น ฉันจึงตัดสินใจไม่ทำบุญกับคนรู้จัก แต่จะทำการกุศลทั่วไปไม่เลือก—“
แต่การ “ตก” ชนิดไม่เป็นที่โปรดปรานเป็นสิ่งที่ชาววังหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่ประสงค์จะได้ประสบกับตนเอง การ “ตก” เช่นนี้มีหลายปัจจัย เช่นอาจเนื่องมาแต่ไม่มีพระราชโอรสธิดาไว้เป็นที่ผูกพันพระราชหฤทัย หรือมีอายุมาก หรือมีความประพฤติปฏิบัติตนไม่ต้องพระราชอัธยาศัย หรือเพราะเหตุผลอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
สตรีพระราชสำนักฝ่ายในเหล่านี้ แม้จะยังได้ชื่อว่าเป็นเจ้าจอม ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปี มีเรือนให้พักอาศัย แต่ก็มิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่อื่นใดในการที่จะมีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จะเข้าเฝ้าก็เฉพาะตามหน้าที่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทธรรมดา ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินเข้าออกเช้าเย็น ณ ห้องโถง ซึ่งมีพระทวารเปิดออกไปยังอัฒจันทร์สำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า ห้องดังกล่าวมีฝาผนังและเครื่องตกแต่งภายในปิดทองออกสีเหลือง จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า“ห้องเหลือง” และเลยเรียกเจ้าจอมที่หมอบเฝ้าประจำอยู่ที่ห้องนี้ว่า “เจ้าจอมห้องเหลือง”
คำว่า “เจ้าจอมห้องเหลือง” จึงเป็นสมญาที่มีนัยแห่งความดูถูก เยาะเย้ย สงสารและสมเพชแฝงอยู่ ซึ่งเจ้าจอมทุกคนประจักษ์ในนัยนี้เป็นอย่างดี จึงไม่มีผู้ใดประสงค์จะอยู่ในสภาพเช่นนั้น
สตรีที่อยู่ในพระราชสำนักฝ่ายในนั้นแม้จะอยู่ในฐานะที่แตกต่างจากคนธรรมดาสามัญ แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นเพียงผู้หญิงที่มีชีวิตจิตใจ เช่น บุคคลทั่วไปที่รู้จักรัก หึงหวง เสียใจและทุกข์ร้อน แต่ก็มีความสามารถเป็นพิเศษในการอดทนและอดกลั้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีและความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุข มิต้องการให้มีสิ่งใดมาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพระราชสำนักฝ่ายในจึงไม่รุนแรงนัก
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระพันวัสสาฯ พระชนมายุยืนยาว ทรงรับสั่งฝากฝังอะไร ไฉนไม่เป็นตามพระราชประสงค์?
- เครื่องเพชรของเจ้าจอมสดับ เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 กับการตั้งรพ.จุฬาลงกรณ์
- เจ้าจอมคนโปรดแห่งฝ่ายใน กับการชิงดีชิงเด่นผ่าน “เจ้าจอมก๊กออ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ความอิจฉาริษยา และความไม่ลงรอยกัน ในพระราชสำนักฝ่ายใน” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2562
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ความอิจฉาริษยา และความไม่ลงรอยกัน ในพระราชสำนักฝ่ายใน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ยาญ่า น่าสงสาร.เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก
07 ก.ย 2563 เวลา 01.04 น.
โหราจารย์ นโม ยุคปลายกรุงศรีก็ริษยากันเสียจนกรุงแตกและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องเสียกรุงแก่พม่า
21 ก.ย 2562 เวลา 00.26 น.
ดูทั้งหมด