เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยยาโมโนโครนอล แอนติบอดี้ในประเทศไทยว่าในวงการแพทย์ตอนนี้วัคซีนพัฒนาไม่หยุด ยาก็เช่นเดียวกันมีการวิจัยยาเฉพาะหลายตัวเช่นยาโมโนโครนอลฯ หรือแอนติบอดีค็อกเทลเป็นยาสังเคราะห์เข้าไปจับเซลล์ไวรัสไม่ให้เข้าในร่างกาย หากใช้ในระยะต้นที่เริ่มมีอาการจะทำให้หายเร็วขึ้น อาการไม่รุนแรง และจากข้อมูลลดการเสียชีวิตได้ ช่วยให้ไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากเกินไป ล่าสุด ราชวิทยาลัยฯ จัดหายาแอนติบอดี้ค็อกเทล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเพื่อให้ยากับผู้ป่วยระยะแรกที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งมีข้อมูลว่าเมื่อได้รับยาจะลดการเข้า รพ.และลดการเข้าไอซียู
ด้าน นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยาโมโนโครนอลฯ มีความน่าสนใจที่สามารถบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ทำให้ช่วยคนไข้ความเสี่ยงสูงได้ดีพอสมควรโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าไอซียู คือผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ทรัพยากรมากสุดและมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด หากใช้อย่างเหมาะสมในกลุ่มที่มีความเสี่ยงจริง เชื่อว่าน่าจะช่วยไม่โหลดระบบ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกมีความต้องการใช้โมโนโครนอลฯ และราคาแพงมากถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ยานี้ ต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อใช้ยาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เบื้องต้นมีการนำเข้ายาโมโนโครนอลฯ 4,000 โด๊ส กระจายให้กับรพ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน 50 แห่งที่ลงทะเบียนแจ้งความต้องการใช้พร้อมย้ำว่ายาตัวนี้เป็นทางเลือกที่ไม่ได้ให้กับทุกคนในส่วนของ รพ.เอกชน อาจต้องมีค่าใช้จ่ายส่วน รพ.รัฐคาดว่าน่าจะมีการใช้เงินของรพ. หรือเงินบริจาคต่างๆมาเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวเบื้องต้นยาโมโนโครนอลฯ ที่นำเข้ามีราคา 50,000 บาท ต่อโด๊ส โดยผู้ป่วย 1 คน ใช้ 1 โด๊ส.