ทั่วไป

New Normal, Old Normal หรือ New Abnormal? การเมืองโลกบนขอบเหวของความปกติวิถีใหม่

The101.world
เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 05.53 น. • The 101 World

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

วันนี้ คำว่า 'New Normal' ดูจะกลายเป็น 'แฟชั่น' ใหม่ของการเมืองโลกยุค COVID-19 ที่ทุกคนต่างฉวยใช้ศัพท์นี้กันจนแทบไม่มีความหมายใดๆ คนส่วนใหญ่ทั้งนักวิชาการหรือสื่อจำนวนมากก็มักจะทึกทักเอาว่าโลกยุคหลัง COVID-19 จะไม่มีวันเหมือนเดิม และ business as usual แบบเดิมคงจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีกครั้ง 

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกมาตรการข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเดินทางอย่างเสรี ชีวิตที่ต้องทำงานจากบ้าน (WFH) โดยปราศจากร้านตัดผม ร้านอาหาร ยิม ร้านหนังสือ โรงหนังหรือสปา รวมทั้งการงดไปนวด (ทั้งแบบนวดไทยและอาบอบนวด) นั้น ดูเหมือนจะกลายเป็นภาวะความปกติวิถีใหม่ของโลก 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

New Normal กำลังเปลี่ยนแปลงแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ ที่วางอยู่บนชุดของเกมภาษา (language game) ที่เราเคยทำหรือปฏิบัติมาอย่างคุ้นชินจนเป็นนิสัย หรือกติกาทางสังคมไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง New Normal เริ่มที่จะกำหนดและกำกับพฤติกรรมหรือแนวการปฏิบัติของเรา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด ภาษา ท่าทาง หรือแม้กระทั่งเรือนร่างในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น การไอจามนั้นเดิมทีมักได้รับการอวยพร (bless you) แต่ถ้าเดี๋ยวนี้มีใครมาไอจามใส่หน้าอาจจะได้รับคำอื่นแทน (เช่น f**k you) เป็นต้น 

บทความนี้อยากชวนคิดและตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจาก New Normal เช่นนั้นหรือ? โดยบทความนี้จะเสนอว่าการตั้งคำถามใหม่ว่า Is there no alternative? ทำให้เราเห็นประเด็นปัญหาใหม่อย่างน้อย 4 ประการสำคัญที่ตามมาจากยุคสมัยแห่ง New Normal ดังนี้

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Old Normal 

 

“What we call ‘normal’ is a product of repression, denial, splitting, projection, introjection and other forms of destructive action on experience.” — R. D. Laing

 

ในขณะที่สื่อกระแสหลักพูดถึง New Normal จนแทบเป็นเทรนด์ใหม่ล่าสุด แต่ในมุมของคนชายขอบ เช่น คนผิวสี คนไร้บ้าน ผู้อพยพลี้ภัย แล้ว New Normal อาจเป็นเพียง Old Normal ของพวกเขา/พวกเธอทั้งหลายเหล่านี้มาตลอดชีวิต 

ทั้งนี้ เพราะมาตรการข้อจำกัดต่างๆ การกดปราบและการสอดส่องควบคุมโดยรัฐ การพรากสิทธิ์หรือการส่งกลับประเทศต่างเป็นลักษณะพื้นฐานของชีวิตประจำวันของคนเหล่านี้ ซึ่งอยู่ภายใต้สถานกาณ์ฉุกเฉิน (state of emergency) ที่ดำรงอยู่อย่างถาวรมาโดยตลอด 

ยกตัวอย่างเช่น การไม่สามารถเดินทางไปไหนได้อย่างเสรี ความวิตกกังวลว่าลูกหลานจะไม่ได้เข้าโรงเรียนหรือไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย หรือการไม่ได้เข้าร้านตัดผม ร้านอาหาร ยิม โรงหนังหรือสปา นี่เป็น Old Normal ของคนชายขอบ คนผิวสี หรือคนยากจนมาอย่างยาวนานแล้ว กล่าวคือ สภาวะดังกล่าวไม่ใช่ข้อยกเว้น หากแต่เป็นสภาพปกติธรรมดาสามัญของชีวิตของคนเหล่านี้ต่างหาก

อีกด้านหนึ่ง มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมเองก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะกับคนบางกลุ่มในบางพื้นที่ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นในสลัม ค่ายผู้อพยพลี้ภัย คุก สถานกักกันหรือชุมชนเมืองที่แออัดมากๆ   

ดังนั้น New Normal จึงไม่ new หรือไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร หากแต่เป็น Old Normal ของคนบางกลุ่มบางพวกเสมอ ประเด็นนี้กลายเป็นโจทย์คลาสสิกของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เช่น Black Lives Matter! ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่ง New Normal ไม่เปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่การปลดแอกทางการเมืองดังกล่าว 

 

New Abnormal

 

“There are no norms. All people are exceptions to a rule that doesn’t exist.” – Fernando Pessoa

 

ประการต่อมา New Normal หลายอย่างยกระดับกลายเป็น 'ความไม่ปกติใหม่' (New Abnormal) เช่น ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น การเหยียดเชื้อชาติ การข่มเหงรังแกคนอื่น การที่ชุมชนรังเกียจและขับไสไล่ส่งคนติดโรค รวมทั้งแนวโน้มใหม่ของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า และความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในบางกรณี 'บ้าน' ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่สะดวกเหมาะสมสำหรับการทำงานจากบ้านของทุกคนเสมอไป   

ความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity) ก็เป็น New Abnormal อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตาและน่ากังวลที่สุดในปัจจุบันและอนาคต ความไม่มั่นคงทางอาหารได้กระทบต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติและความไม่เพียงพอของระบบการผลิตและการบริโภคอาหารสำหรับผู้คนทั่วโลก ตอนนี้ หลายบริเวณในโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอาหารและวิกฤตน้ำดื่มสะอาด

ประเด็นเรื่องวิกฤตอาหารยังสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องเพศสภาพอีกด้วย กล่าวคือ วิกฤตอาหารมีแนวโน้มที่จะลุกลามไปสู่การคุกคามหรือการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และการเหยียดเพศที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะในหลายสังคมการเมือง ผู้หญิงถูกกำกับด้วยปทัสถานทางสังคมว่าจะต้องเป็น 'ผู้รับผิดชอบหลัก' ในการหุงหาอาหารให้แก่ครัวเรือน วิกฤตอาหารจึงจะมีส่วนทำให้ความรุนแรงในครัวเรือนยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย 

อาจกล่าวได้ว่า เวลาเราพูดถึง New Normal เราต้องไม่ลืมประเด็นปัญหาของ New Abnormal ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมการเมืองโลกด้วยเช่นเดียวกัน 

 

New Normal 'ซ่อนแอบ' ประเด็นปัญหาโลก  

 

“The truth is that everyone is bored, and devotes himself to cultivating habits.” — Albert Camus, The Plague

 

เมื่อ New Normal ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่วัตรปฏิบัติเดิมของเรา อีกประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงกันน้อยลงมากก็คือ การก่อตัวของ New Normal ได้ละลืมและละเลยประเด็นปัญหาสำคัญอื่นในโลกไป เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ฝุ่น PM2.5 ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน วิกฤตของระบบทุนนิยม ไปจนถึงปัญหาชนกลุ่มน้อย วิกฤตผู้อพยพผู้ลี้ภัย หรือแม้กระทั่งปัญหาของระบอบการเมืองแบบเผด็จการ   

COVID-19 ไม่ได้ทำให้ประเด็นเหล่านี้หมดไปได้เอง แต่มันกลับ 'ซ่อนแอบ' ประเด็นปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างปกปิดและมิดชิด เราเห็นปรากฎการณ์ที่รัฐบางรัฐมีแนวโน้มที่จะรวมศูนย์อำนาจเพิ่มมากขึ้น และฉวยโอกาสใช้อำนาจแบบพิเศษในสภาวะฉุกเฉินในการกระชับอำนาจและกีดกันศัตรูทางการเมืองหรือฝ่ายที่เห็นต่าง 

อีกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือเรื่องการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก หลังจากการวิกฤต COVID-19 ประเด็นนี้แทบไม่ได้รับการพูดถึงหรือรณรงค์มากเท่าใดนัก การพึ่งพิงระบบการส่งของแบบ delivery service ทั้งการส่งไปรษณีย์ การส่งของและการส่งอาหารต่างๆ ในช่วงเวลาแห่งการล็อกดาวน์ มีแนวโน้มจะใช้ถุงและผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ เพิ่มมากขึ้น 

โจทย์ใหญ่ประการหนึ่งของคนในยุค (หลัง) COVID-19 คือ จะทำอย่างไรที่จะไม่ลืมปัญหาซ่อนแอบเหล่านี้ในโครงสร้างและความสัมพันธ์ของแนวปฏิบัติใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่ 

 

New Normal อีกแบบที่เป็นไปได้  

 

“But in some great souls, who consider themselves as citizens of the world, and forcing the imaginary barriers that separate people from people…” — Jean-Jacques Rousseau

 

มโนทัศน์ 'การรักษาระยะห่างทางสังคม' (social distancing) เป็นการสื่อนัยความหมายผิดๆ เพราะมันทึกทักเอาว่าการรักษาระยะห่างทางสังคมนั้นไม่มีความเป็นสังคม คำที่เหมาะกว่าคือ physical distancing ซึ่งอาจจะช่วยทำให้เราไม่ละเลยความสำคัญของความเป็นสังคมและชุมชนทางการเมืองที่ยังวางอยู่บนพื้นฐานของภราดรภาพทางสังคม (social solidarity) และการพึ่งพาซึ่งกันและกัน 

กระนั้นก็ดี ในทางปฏิบัติ การรักษาระยะห่างทางสังคมกลับไม่ทำลายความเป็นชุมชนทางสังคมการเมืองลงไปทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ในช่วงเวลาแห่งการล็อกดาวน์ เรายังพอเห็นการแสดงออกทางสังคมในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้คนในละแวกใกล้เคียงกันออกมาร้องเพลงหรือเล่นดนตรีร่วมกันจากหน้าต่างบ้านหรือหน้าบ้านของตนเอง การที่คนในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงออกมาอวยพรวันเกิดให้หญิงชราวัยเกือบ 100 ปี การที่ผู้คนช่วยเหลือบริจาคข้าวและอาหารให้กันและกัน หรือในอังกฤษ เราเห็นคนออกมายืนบริเวณถนนหน้าบ้านเวลาประมาณสองทุ่มทุกค่ำวันพฤหัสบดี เพื่อปรบมือแสดงความขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ  

การกระทำเหล่านี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สำคัญที่ยังช่วยค้ำจุนภราดรภาพทางสังคม และการธำรงรักษาความเป็นชุมชนทางการเมืองเอาไว้ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่เป็นรากฐานของชุมชนทางการเมืองที่ดีในยาม physical distancing โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างชุมชนให้เหนียวแน่นนั้นจะช่วยลดปัญหาการผลักภาระหรือโทษปัจเจกบุคคล โดยไม่ละเลยที่จะมองปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระดับมหภาค เช่น ความล้มเหลวของรัฐในการทำหน้าที่และความรับผิดชอบสาธารณะ  

บทความนี้เสนอว่า นี่อาจจะเป็น New normal ที่เราอยากจะเห็นในอนาคตของความสัมพันธ์ทางสังคมการเมือง กล่าวคือ การสร้าง New Normal อีกแบบที่เป็นไปได้ขึ้นมาแทนที่ New Normal แบบที่รับรู้กันทั่วไป  

New Normal อีกแบบที่เป็นไปได้นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของ

  • การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ตั้งคำถามกับปัญหาเชิงโครงสร้างของโลก ทั้งระบบทุนนิยมที่สร้างความเหลื่อมล้ำ และระบบเผด็จการต่างๆ ที่กีดกันลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน  
  • การที่เราต่างอยู่ร่วมกันและพึ่งพาซึ่งกันและกันในสถานการณ์โรคระบาด 
  • การสร้างสังคมที่ลงทุนกับความเป็นธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมกัน และภราดรภาพนิยมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง   
  • การสถาปนาสังคมพลเมืองโลกหรือ Cosmopolitan World ที่มองคนเท่ากัน และมองคนในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก 

 

โลกยุค COVID-19: รับ 'นม' หรือ 'น้ำตาล' ดีครับ?

 

เราไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ หรือ? 

อุดมการณ์หลักของโลกยุค (หลัง) COVID-19 คือการบอกเรากลายๆ ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดหลงเหลืออยู่  หรือ There is no alternative! 

เรากำลังตกอยู่ในกับดักของ 'forced choices' ที่บีบบังคับให้เราต้องเลือกระหว่าง 'Old Normal' กับ 'New Normal'

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่มีทางเลือกที่แท้จริง ทั้งในแง่ของสถานการณ์ที่เราไม่อาจเลือกได้ (นั่นคือทั้งการระบาดของโรคและการควบคุมโรคไม่อนุญาตให้เรามีชีวิตบางแบบได้) และภาษาของ New Normal ก็ได้ปิดทางเลือกอื่นๆ หรือทำให้เราไม่คิดถึงทางเลือกใหม่ๆ ในการปฏิบัติตัวของเราและความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้อื่นในสังคมโลก 

ซ้ำร้าย หากเราเลือกทางเลือกที่รัฐหรือทุนมองว่า 'ไม่ใช่' กับดักนี้ก็จะกลับมาทิ่มแทงทำร้ายผู้ที่ต้องการแสวงหาทางเลือกแบบอื่นที่ดีกว่าอีกด้วย หากมองแบบ Slavoj Žižek แล้ว เรามีเสรีภาพที่จะเลือก ตราบเท่าที่เราตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ 'ใช่' ในสายตาของรัฐและทุนนิยมโลกเท่านั้น  

ทางเลือกระหว่าง 'New Normal' หรือ 'Old Normal' จึงมีความแย่ไม่ต่างกันนัก (แม้ว่าอาจจะแย่มากกว่าหรือแย่น้อยกว่าก็ตาม) แต่ทั้งสองทางเลือกต่างไม่ใช่ทางเลือกที่ดีทั้งคู่ เพราะมันเป็นเป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ทางเลือก หรือ forced choices สำหรับประชาชน

ทางออกที่แท้จริง จึงไม่ใช่เรื่องของ 'เก่าไปใหม่มา'  แต่อยู่ที่การก้าวข้ามให้พ้นจากโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมต่างหาก ซึ่งนี่น่าจะนำเราไปสู่การตั้งคำถามขั้นพื้นฐานว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในโลกยุค (หลัง) COVID-19 และเราจะสร้างสังคมอีกแบบที่เป็นไปได้อย่างไร 

หากเปรียบเปรยในเชิงอุปมาแล้ว บางครั้ง เราอาจจะไม่ต้องการรับ 'นม' หรือ 'น้ำตาล' เพราะเราอาจไม่ได้ต้องการจะรับกาแฟ แต่เรามีทางเลือกที่จะดื่มน้ำเปล่า ชา ชาดำเย็น ชามะนาวหรือโอเลี้ยง หรือแม้กระทั่งกาแฟดำเข้มๆ แทน ด้วยเหตุนี้ เรายังมีทางเลือกอีกหลากหลายรูปแบบในยุคสมัยที่ถนนทุกสายมุ่งตรงไปสู่ New Normal  

ในนวนิยายเรื่อง Quichotte (2019), Salman Rushdie นักประพันธ์ชาวอังกฤษเชื้อชาติอินเดียเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า 

“Normal doesn't feel so normal to me,"

“It's normal to feel that way”. 

ดูข่าวต้นฉบับ