ไลฟ์สไตล์

เมื่อไวรัสระบาดจนวิถีการทำงานเปลี่ยน : วงการหนังจะเป็นยังไงหลังภัยจาก COVID-19 จบลง?

The MATTER
เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 03.37 น. • Thinkers

สถานการณ์โรคไวรัส COVID-19 ระบาดทั่วโลกถือว่าน่าเป็นห่วง ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาทุกอย่างพลิกผันไปหมด ตั้งแต่ข่าวการปิดเมืองอู่ฮั่นในจีน, Super Spreader ที่สร้างวิกฤติการณ์การระบาดครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ จนถึงการ Lockdown ประเทศอิตาลีที่ยังมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันในระดับน่าเป็นห่วง

ตัดมาที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ที่เพิ่งจะมีคำสั่งปิดศูนย์การค้าและปรับวิถีการ 'นั่งกินในร้าน' ให้เป็นการสั่งมากินที่บ้านหรือซื้อกลับอย่างเดียว ปิดสถานบันเทิงรวมไปถึงโรงภาพยนตร์และผับบาร์ ยอดสตรีมมิ่งพุ่งสูงพรวดพราด สวนทางยอดรายรับโรงหนังที่ดิ่งฮวบจนกระทั่งมีคำสั่งปิด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วิถีชีวิตแบบ 'สัตว์สังคม' ของมนุษย์โลกเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน แต่คำถามก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นแค่ชั่วคราวหรือถาวร แล้วมันจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราหลังการวิกฤติการณ์ครั้งนี้สงบลงอย่างไร? ในบทความชิ้นนี้เราจะชวนผู้อ่านมาสำรวจเฉพาะในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย-เทศ ที่น่าจะเปลี่ยนโฉมไป..ไม่มีวันเหมือนเดิมอีก

สหพันธ์แรงงานผลักดันมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ

120,000 คนคือตัวเลขแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูดที่ตกงานทันทีหลัง WHO ประกาศยกระดับโคโรน่าไวรัสหรือ Covid-19 เป็นการระบาดทั่วโลก ( pandemic) 40,000 คนคือตัวเลขแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอังกฤษที่ตกงานทันทีเช่นกัน ประเมินกันว่าอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก มีแรงงานได้รับผลกระทบกว่า 83% ซึ่งรวมตั้งแต่แรงงานในอุตสาหกรรมหนัง, โทรทัศน์, ละครเวที, คอนเสิร์ต-อีเวนต์ ตลอดจนอาร์ตแกลเลอรี่และสตูดิโอต่างๆ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการออกกองถ่ายหนังระหว่างเกิดโรคระบาดเช่นนี้ เพราะกองถ่ายทำอย่างน้อยก็มีทีมงานรวมนักแสดงถึงร้อยชีวิต เขาและเธอเหล่านี้ต้องทำงานคลุกคลีกันมาก ไม่สามารถทำงานในแบบ social distancing อย่างอาชีพอื่นๆ ได้เลย แม้แต่ฉากเล็กๆ ที่พระเอกนางเอกยืนคุยกันสองคน คุณก็ต้องการตากล้อง ทีมไฟ และอีกหลายตำแหน่งวิ่งวนในเซ็ตภายในระยะห่างกันไม่เกิน 1 เมตรทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่นที่อังกฤษ ตัวเลขรายได้ที่แรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์สูญเสียไปนับแต่ประกาศยกระดับโรคระบาดนั้นมีตั้งแต่ 2 พันปอนด์ (ราว 76,000 บาท) ถึง 4 หมื่นปอนด์ (1.5 ล้านบาท) หรือที่ออสเตรเลีย อุตสาหกรรมหนังของที่นี่อิงกับฮอลลีวูดค่อนข้างมาก บุคลากรกว่า 20,000 คนที่นี่ทำงานในโปรดักชั่นระดับยักษ์ตั้งแต่หนังอย่าง 'Shang Chi' หนังซูปเปอร์ฮีโร่เรื่องใหม่ของมาร์เวลและ 'Mcbeth' หนังอีพิคดัดแปลงจากบทประพันธ์เชกสเปียร์โดยผู้กำกับ บาซ เลอห์มานน์ เรื่องหลังนี่แหละที่ ทอม แฮงค์ ไปร่วมแสดงจนติดเชื้อ ต้องหยุดการถ่ายทำทันทีแบบไม่มีกำหนด

ในฮอลลีวูดหนังใหญ่ๆ ที่มีข่าวยืนยันอาทิ The Batman,  Avatar 2-3, Little Mermaid ฉบับคนแสดง, Mission: Impossible 7, Jurassic Park 4 ฯลฯ เหล่านี้คือหนังที่หยุดถ่ายทันทีหรือเลื่อนกำหนดการถ่ายทำออกไปทั้งที่เตรียมงานมาหลายเดือน หากสตูดิโอยังจ่ายค่าแรงให้แก่แรงงานที่มีสัญญาวันต่อวันหรือสัญญาจ้างระยะสั้นตามตกลงไปก่อนในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์นี้ หรือรายที่นับค่าแรงเป็นชั่วโมง ก็จะจ่ายค่าแรง 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ขณะที่บรรดาแรงงานที่มีสัญญาจ้างระยะยาวเช่น ผู้กำกับ, นักแสดง, คนเขียนบท จะได้ค่าจ้างส่วนหนึ่งตามระบุไว้ในสัญญา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทว่าหลายคนที่ไม่ได้มีสัญญาจ้างชัดเจน ก็จะยังไม่ได้รับค่าจ้าง อาทิ นักเขียนบทที่ส่งบทไปแล้วแต่ทำการ “เบิกค่าจ้าง” ไม่ได้เพราะบริษัทนั้นๆ จำเป็นต้องระงับกิจการชั่วคราวตามคำสั่งรัฐบาล เหล่านี้คือ 'แรงงานนอกระบบ'

ปัญหาใหญ่ก็คือยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าการระบาดครั้งนี้

จะพ้นจุดวิกฤติเมื่อใด และจะใช้เวลานานแค่ไหน

ถึงจะกลับสู่สภาวะ 'ปกติ' ที่ดำเนินงานตามสัญญาจ้างเดิมได้

ซึ่งเป็นเรื่องที่  IATSE หรือ International Alliance of Theatrical Stage Employees สหพันธ์แรงงานลูกจ้างในอุตสาหกรรมบันเทิงของอเมริกากำลังยื่นข้อเรียกร้องต่อสภา ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนแรงงานภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งสิทธิในการได้รับเครื่องอุปโภค-บริโภคยังชีพจากรัฐตลอดช่วงประกาศภัยโรคระบาดนี้

สำหรับไทยนั้นมีมาตรการออกมาเยียวยาแรงงานแล้ว โดยแบ่งเป็นมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบที่ประกันสังคมจะช่วยจ่ายให้ ส่วนเงื่อนไขที่นับ 'แรงงานในระบบ' ได้ดังนี้คือ 1. มีนายจ้าง 2. มีการจ่ายเงินประจำให้ (เงินเดือน) 3. มีการส่งประกันสังคมให้ แรงงานภาพยนตร์นั้นส่วนใหญ่เข้าเงื่อนไขเพียงข้อแรก ดังนั้นจึงนับเป็น 'แรงงานนอกระบบ' ตามนิยามของ รศ.ดร. จักษ์ พันธุ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาทางช่อง 3

ส่วนมาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบนั้นเปิดให้แรงงานนอกระบบต้องเข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งมีเงื่อนไข 3 ข้อในการเข้าพิจารณารับเงินเยียวยาจำนวน 5 พันบาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ล่าสุดมีการลงทะเบียนไป 17 ล้านคนในรอบ 2 วัน **ซึ่งอาจจะไม่ได้ทุกคนที่ลงทะเบียน**) เงื่อนไข 3 ข้อที่ว่าคือ 1. เป็นแรงงานชั่วคราว ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ 2.ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3.ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด เช่น ถูกสั่งพักงาน/เลิกจ้าง, ธุรกิจปิดชั่วคราว, ลดเวลาทำงาน, รายได้ลดลง ฯลฯ ทั้งนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าผู้ที่ตกจากเงื่อนไขหรือถูกคัดออกจากเกณฑ์ข้างต้น จะได้รับการเยียวยาในรูปแบบใด

ณ เวลานี้มีเพียงสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่ออกประกาศ “ขอความร่วมมือให้ทุกกองที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์, ละคร, ซีรีส์, โฆษณา ในขณะนี้ หยุดพักการถ่ายทำ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 - 31 มีนาคม 2563” ลงประกาศในเฟซบุ๊กทางการของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาเช่นกัน และเป็นไปได้ว่าจะยืดระยะเวลาการหยุดการถ่ายทำออกไปอีกตามประกาศ พรก. ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ตามมาด้วยการขอความร่วมมือจากภาคประชาชน หนึ่งในนั้นคือ “ให้ประชาชนยึดหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์” ด้วยข้อนี้ทำให้การดำเนินงานในส่วนการถ่ายทำเป็นอันยุติไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ดีในไทยยังไม่มีสหพันธ์แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะแรงงานที่ได้รับสัญญาจ้างรายวันหรือรายชั่วโมง ที่ต้องพึ่งพิงกับจำนวนวัน 'ออกกอง' ที่ได้ทำในแต่ละเดือนเป็นรายได้หลัก

คาดการณ์: หลังเหตุการณ์ระบาดนี้ผ่านพ้น สหพันธ์แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลกอาจตื่นตัวถึงระบบสัญญาจ้างแรงงานรายวัน รวมทั้งเรียกร้องการรับรองสถานะแรงงานจากภาครัฐมากขึ้น ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานในระบบมากขึ้น หรืออาจต้องมีเงื่อนไขสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์ พร้อมกับทำประกันสังคม/ประกันชีวิตให้แก่แรงงานภาพยนตร์ที่ต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยงชีวิตและสุขภาพในกองถ่ายทุกวัน

คนทำหนังเองก็ต้องเปลี่ยน

ไม่ใช่แค่บุคลากรระดับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ บุคลากรระดับครีเอทีพอย่างผู้กำกับหรือคนเขียนบทเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เมื่อเดิมระบบการทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบ่งเป็น 3 ขั้นคือ Pre-Production (การเตรียมงาน) Production (ถ่ายทำ) Post-Production (กระบวนการหลังถ่ายทำที่รวมตัดต่อ,ทำเสียง,ซีจี ฯลฯ) ขั้นตอนแรกสุดอย่าง Pre-Production เดิมนั้นเน้นหนักไปที่การประชุม ตั้งแต่ประชุมบท, ประชุมทีมงาน ตลอดจนเวิร์กช็อปนักแสดง ซึ่งต้องทำงานในที่ปิด เป็นระยะเวลานานติดต่อกันหลายวันในรอบสัปดาห์

จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่เคยทำงานบทหนังและซีรีส์ ในโปรดักชั่นภายในและโปรดักชั่นร่วมสร้างระหว่างประเทศ โดยหลักจะเป็นการประชุมที่เรียกว่า Writer’s Room คือมีการระดมนักเขียนบทเข้ามานั่งประชุมร่วมกับโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ จำนวนนักเขียนอยู่ระหว่าง 2-4 คนหรืออาจจะมากกว่านั้นในกรณีที่เป็นซีรีส์ขนาดยาวกว่า 10 ตอนขึ้นไป การประชุมลักษณะดังกล่าวมักใช้วิธีนั่งประชุมสุมหัวรวมกัน โยนไอเดียกันทั้งวัน(และคืน) ในบางที่นั้นแทบจะกล่าวได้ว่าต้องกินนอนอยู่ในห้องประชุม โดยนัยวิธีการทำงานลักษณะเช่นนี้เกิดจากความเชื่อว่า “ถ้ามาอยู่ด้วยกัน ติดขัดอะไรจะได้ช่วยกันคิดและช่วยกันแก้ไขทันท่วงที” ในอีกมุมของผู้จ้างจะมองว่าการจ้างงานลักษณะเช่นนี้สามารถ 'ประเมินการทำงานได้' จากเวลาในการเข้างาน มากกว่าจะจากตัวงานที่ส่งให้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือเห็นคนมาทำงาน ดีกว่าเห็นงานส่งมา

ช่วงวิกฤติ COVID-19 ระบาดนี้ การทำงานลักษณะดังกล่าว

จำต้องเปลี่ยนเป็นการทำงานในรูปแบบออนไลน์

มีการส่งงานตามติดและคอมเมนต์งานทางออนไลน์ มีการประชุมที่สั้นลง 1-2 ชั่วโมงเพื่อสรุปประเด็นแล้วแยกย้ายไปทำงาน ผลดีก็คือทำให้ผู้ร่วมงานมีสุขภาพจิตและกายดีขึ้น ไม่ต้องแบกรับความเครียดและลดอาการเหนื่อยล้าจากการประชุมติดต่อกันยาวนาน (การประชุมก็เป็นการทำงานอย่างหนึ่งในกระบวนการทำหนังนะครับ) โปรแกรมประชุมงานออนไลน์อาทิ Moxtra และ Zoom นั้นช่วยในการทำงานภายใต้สถานการณ์ปิดที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้านมาก

ในฮอลลีวูด สถานการณ์นี้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในส่วนของ Post-Production เช่นกัน มาริโอ โรกิคกิ (Mario Rokicki) color supervisor แห่งบริษัท DNEG ที่รับผิดชอบงานด้านโพสต์ให้แก่สตูดิโอหนังฮอลลีวูดและซีรีส์ทาง Netflix มานานหลายสิบปี ได้ออกแถลงการณ์พร้อมลายเซ็นบรรดาทีมงานฝ่ายโพสต์จากบริษัทต่างๆ ที่เห็นชอบให้มีการทำงานจากบ้าน (Work from Home) จากเดิมพนักงานฝ่ายโพสต์ตั้งแต่ทีมเสียง, ทีมเกรดสี ไปจนถึงทีมซีจี (สเปเชียล เอฟเฟกต์) จะต้องเข้าออฟฟิศเก็บตัวทำงานในห้องปิดร่วมกันหลายคน และติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน

นอกจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปแล้ว ในเชิงเนื้อหา (content) ก็มีการคาดการณ์ว่าคนทำหนังเองจะหันมาทำหนังว่าด้วยวิกฤติการณ์ครั้งนี้มากขึ้น ผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่างเควิน แม็คโดนัลด์ (Kevin Macdonald) ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่าปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือคนดูหวนกลับไปค้นหาหนังที่พูดถึงเหตุโรคระบาดหรือสถานการณ์วันสิ้นโลกมากขึ้น รวมถึงหนังของแม็คโดนัลด์เองอย่าง How I Live Now (2013) ที่แม้ไม่เกี่ยวกับโรคระบาดโดยตรง แต่ก็มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์วันสิ้นโลก (ที่ผู้คนรู้สึกอยู่ในช่วงเวลานี้)

“บางทีคนดูอาจจะอยากเห็นสิ่งที่ตนกลัวในหนัง อย่างน้อยพอได้เผชิญหน้ากับมัน พวกเขาก็จะหวาดกลัวมันน้อยลง” ท้ายสุดแม็คโดนัลด์ยกตัวอย่างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปีแรกๆ นั้น (ปลายทศวรรษ 1940) คนทำหนังพากันทำหนังรักหรือตลก เพราะคิดว่าคนดูไม่อยากเห็นภาพหรือรับรู้เรื่องราวในสงครามอีก แต่การณ์กลับกลายเป็นกลุ่มหนังที่ได้รับความนิยมในทศวรรษ 1940-50 กลับเป็นกลุ่มหนังสงครามซะเอง เพราะหนังเหล่านั้นเสนอภาพที่คนดู 'กลัว' แล้วปลุกเร้าให้พวกเขาเอาชนะมันด้วยตัวเอง

คาดการณ์: คนทำหนังอาจได้ลองเปลี่ยนวิธีการทำงาน หันมาทำงานออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ประหยัดเวลาและลดการใช้พื้นที่ร่วมกันลง แต่ยังเอื้ออำนวยต่อการทำงานในสเกลร่วมทุนระหว่างประเทศได้ด้วย สำคัญสุดคือเนื้อหา (content) ต้องหลากหลายขึ้น เลิกความซ้ำซากจำเจพาฝันรักตลก เพราะสุดท้ายมันไม่ช่วยเยียวยาทั้งคนดูและคนทำหนังเอง คนดูกล้าพอที่จะเผชิญมัน คำถามคือคนทำกล้าพอที่จะทำออกมาให้ดูรึเปล่า?

พฤติกรรมคนดูเปลี่ยน

ผลจากการความไม่มั่นใจในสถาการณ์โรคระบาด คนไปดูหนังในโรงน้อยลง แม้ทางโรงจะมีมาตรการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการเช่น มีกระบวนการฆ่าเชื้อในโรงทุกรอบหลังการฉาย หรือ การเว้นระยะห่างจากเก้าอี้ผู้ชม จำนวนผู้ชมก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ดี ถึงขั้นลดรายได้จากสัปดาห์เดียวกันเมื่อปีก่อนถึง 60% ต่ำสุดในรอบยี่สิบปี จนกระทั่งมีคำสั่งปิดสถานบริการและโรงหนังไปตามดังกล่าว สวนทางกับตัวเลขผู้ชมออนไลน์ที่โตขึ้นถึง 13% ภายในสัปดาห์เดียว (ขณะที่ทีวีมีผู้ชมเพิ่มขึ้น 6%) ส่วนตัวเลขในเกาหลีและอิตาลี มีผู้ชมทีวีอยู่บ้านเพิ่มขึ้น 17% และ 12% ตามลำดับ

ในต่างประเทศ เดิมรูปแบบการฉายในโรงและสตรีมมิ่งจะมีกฎระยะห่างกัน 3 เดือน คือฉายโรงก่อนแล้วเมื่อหมดระยะการฉายโรงแล้วอีก 3 เดือนถึงจะหาชมหนังเรื่องเดียวกันได้ทางสตรีมมิ่ง แต่เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ หลายสตูดิโอตัดสินใจ 'ย่นระยะ' ดังกล่าวให้กระชับขึ้น เริ่มจาก Disney ที่ปล่อยหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Star Wars: The Rise of the Skywalker ขายทางช่องทางออนไลน์ทั้ง Amazon และ Apple TV ส่วน Frozen 2 ก็ฉายทางสตรีมมิ่งของค่ายเองอย่าง Disney+ ทั้งสองรายการจำหน่ายและเช่าชมทางออนไลน์วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่ที่ถือว่าเซอร์ไพรส์และน่าจะเป็นการเปิดตลาดรูปแบบ 'ฉายโรงและออนไลน์พร้อมกัน'

ก็คือค่าย Universal ตัดสินใจจำหน่ายและเช่าชมหนังชนโรงอย่าง The Invisible Man, Emma และ The Hunt ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตัวหนังเองยังยืนโรงฉายอยู่ก่อนจะมีคำสั่งปิดโรงจากภาครัฐ เช่นเดียวกับค่าย Warner Bros ที่จะปล่อยหนังอย่าง Birds of Prey และ The Gentlemen ลงสตรีมมิ่งภายใน 24 มีนานี้ ทาง Sony Pictures เองก็จะปล่อย Bloodshot หนังซุปเปอร์ฮีโร่ของวิน ดีเซล ที่เพิ่งฉายเมื่ออาทิตย์ก่อนขายทางสตรีมมิ่งเช่นกัน ถือเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ส่งตรงหนังถึงบ้านผู้ชมในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องอยู่บ้านกักตัวเอง

ความน่ากลัวอยู่ตรงที่ยิ่งการระบาดนี้กินเวลานานเท่าไหร่ คนดูก็มีสิทธิเสี่ยงที่จะเสพติดพฤติกรรมการชมสื่อบันเทิงที่บ้าน และลดละกิจกรรมทางสังคมลงมากขึ้น ผลกระทบนี้จะไม่ได้แค่กระทบโรงหนังหรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหมด ยกตัวอย่างดิสนีย์ที่ผลกำไรกว่า 45% ของบริษัทในปี ค.ศ.2019 มาจากธุรกิจสวนสนุกที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่ตลอดปีนี้ คนดูจะเลือกเสพสื่อบันเทิงในบ้านมากกว่าจะออกไปทำกิจกรรมชุมชนอย่างเคย และด้วยระยะเวลานานขนาดนั้น มีโอกาสที่สตูดิโอหนังเองจำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่

เพื่อพาหนังเข้าหาคนดูเร็วขึ้นและวงกว้างขึ้น นั่นคือการทะลายกรอบ 3 เดือนระหว่างการฉายโรงและการฉายทางสตรีมมิ่ง หนังที่ถูกเลือกเข้าโรงอาจจำกัดวงแคบลง เป็นหนังที่มีความเป็น Event สูง มีศักยภาพพอที่จะดึงคนดูหมู่มากได้ ในขณะที่หนังขนาดกลางและเล็ก อาจถูกส่งตรงสู่ระบบสตรีมมิ่งโดยตรงในรูปของการฉายจำกัดโรงหรือโรงจำนวนร้อยควบคู่กับการขายและเช่าชมทางสตรีมมิ่ง

ขณะที่สตรีมมิ่งอย่าง Netflix ออกแอพพลิเคชั่นพิเศษขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศการดูหนัง “ร่วมกับเพื่อนๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน” ผ่าน Netflix Party ที่ให้สมาชิกสามารถสร้างห้องดูหนังร่วมกับเพื่อนๆ พร้อมมีห้องแชทให้พิมพ์หากันระหว่างชมหนังเรื่องเดียวกันได้ด้วย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นนี้ถึง 5 แสนรายแล้ว กอปรกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ผูกติดกับโซเชียลมีเดียมากกว่าคนรุ่นก่อน พวกเขาอาจจะยังชอบไปปาร์ตี้กินดื่มกับเพื่อนๆ แต่ทุกคนต่างยังใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อสื่อสารรวมกลุ่มกันเพื่อนัดหมายก่อนอยู่ดี แสดงว่าการดูหนังหลังวิกฤติโรคระบาดก็อาจย่อส่วนลงมาอยู่ที่บ้านแทน?

สำหรับในไทยสตูดิโอนั้นเริ่มแผนรุกด้านสตรีมมิ่งชัดเจนตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้ว เริ่มจาก GDH และ พระนครฟิลม์ ในรายแรกคือปล่อยหนังและซีรีส์ฉายทาง Netflix รวมทั้งปีนี้จะมี Original Series เรื่องแรกอย่าง “ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์” ขณะที่พระนครฟิลม์ใช้ชาแนลทาง Youtube ปล่อยหนังที่ถือสิทธิในมือทั้งหนังค่ายตัวเองและหนังค่ายอาร์เอสเดิมฉายฟรีให้ดู (แลกกับการได้ค่าตอบแทนยอดวิวจาก Youtube) น่าสนใจว่าหลังวิกฤติการณ์โรคระบาดนี้สงบลง แต่ละสตูดิโอจะมีแผนรับมือกับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี้อย่างไร?

ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระยะเวลาการระบาดจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน? หนัง Event ใหญ่ๆ อย่าง Mulan, Black Widow และ No Time to Die ที่เลื่อนฉายออกไปนั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับมายืนโรงแล้ว จะยังมีศักยภาพดึงคนดูเข้าสู่โรงได้มากเท่าเดิมที่คาดการณ์ไว้หรือเปล่า ในมุมสตูดิโอนั้นการดึงคนดูเข้าโรงยังไงก็คุ้มกว่า พวกเขาสามารถเก็บค่าตั๋วรายหัว (เรตเมืองไทยคือ 200 บาท/คน) แต่กับสตรีมมิ่ง สมาชิกจ่ายเพียงรายเดียวอาจดูได้ทั้งบ้าน เท่ากับว่าถ้าครอบครัวหนึ่งมี 4 คน รายได้จะหายไปถึง 3 คนเมื่อผู้ชมเลือกดูสตรีมมิ่งแทนที่จะพากันยกครอบครัวเข้าโรง

และที่สำคัญผู้คนเสพติดความสะดวกสบายมากกว่าเสมอ

ยิ่งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งอันตรายกับโรงภาพยนตร์

คาดการณ์: ระยะห่าง 3 เดือนจะเลือนรางเต็มที คนดูมีสิทธิเลือกมากขึ้น สตูดิโอจำต้องตัดใจปล่อยหนังฉายในรูปแบบชนโรง+สตรีมมิ่งพร้อมกันมากขึ้น ขณะเดียวกันการสร้างสตรีมมิ่งของตัวเอง (เช่น Disney ที่มี Disney+) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคุ้มทุนถ้าไม่มีคอนเท้นท์ใหม่ๆ เรียกแขก การจับมือกับสตรีมมิ่งเจ้าอื่นยังเป็นฐานสำคัญในอนาคตอยู่ เพราะมีความหลากหลายให้เลือกด้วยคลังคอนเท้นท์จำนวนมหาศาล ตอบโจทย์คนดูทุกเพศวัยมากกว่า

อ้างอิงข้อมูลจาก

variety.com

variety.com

time.com

www.cnbc.com

www.theguardian.com

Illustration by Waragorn Keeranan

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • Nira
    🇹🇭🌈1️⃣6️⃣8️⃣🇹🇭🍇🍇🌈 💰🌠🌠💰💰💰🔮🔮💳 👔💜👔ประกาศค่ะ🍒🍒 👤รับสมัครคนช่วยงานตอบแชทลูกค้าผ่านเฟส/ไลน์ รายได้สัปดาห์ละ 4000-5000 บาท📱ทำผ่านมือถือได้📱 รับอายุ18 ปีขึ้นไป 🔸อยู่กรุงเทพปริมณฑลรับเป็นพิเศษ🔸 สนใจงานแอด📱LINE ID : @153lawtz (ใส่@ด้วยค่ะ)
    31 มี.ค. 2563 เวลา 23.41 น.
  • wee
    คงควบคุมได้95% กลุ่มหนังX ใช้ถ่ายทำแค่สองคนห่างๆกัน น่าจะดำเนินงานไปได้
    31 มี.ค. 2563 เวลา 22.28 น.
ดูทั้งหมด