ทั่วไป

อาชีพแถวหน้าในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญความยั่งยืน-ปัญญาประดิษฐ์

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 30 พ.ค. 2566 เวลา 11.48 น. • เผยแพร่ 01 มิ.ย. 2566 เวลา 00.45 น.
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร

จากการเติบโตของเทคโนโลยี ดิจิทัล โดยเฉพาะการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ หรือ artificial intelligence (AI) ซอฟต์แวร์บนระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้งาน และทักษะประเภทต่าง ๆ ได้อย่างเฉลียวฉลาดราวกับมนุษย์ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานในโลกธุรกิจ

ผลสำรวจอาชีพในอนาคต (future of jobs report) จัดทำขึ้นโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) พบว่าภายใน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 อนาคตอาจมีงานลดลงราว 14 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2570 หรือ 2% ของการจ้างงานในปัจจุบัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่ความต้องการอาชีพด้าน AI และ big data พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับอาชีพพนักงานธนาคาร แคชเชียร์ พนักงานบันทึกข้อมูล และไปรษณีย์ที่อาจถูกลดบทบาทลง

“ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร” คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวถึงรายละเอียดรายงานผลสำรวจว่า CBS เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) สำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (future of jobs survey) โดยรวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งรวมการจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก

ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในระดับมหภาค พบว่าตลาดแรงงานโลกไม่เหมือนเดิม โดยมี 3 ปัจจัยคือ 1.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ เงินบาทอ่อนต่าง ๆ 2.เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไม่หยุด 3.การเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน (green transition) ซึ่งการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนนั้นเป็นประเด็นสำคัญ ทุกองค์กรพูดถึงเรื่องนี้เยอะมาก เพราะพัฒนามาจาก CSR การปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ต่อมาเกิดการยกระดับเป็น CSV ที่เน้นการสร้างผลกระทบต่อสังคม คือองค์กรต้องมีค่านิยมหลักที่สอดคล้องกับค่านิยมในการพัฒนาสังคมร่วมด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“จนปัจจุบันมีเรื่องของ ESG (environment social และ governance) ขึ้นมา ตอนนี้ทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังมุ่งขับเคลื่อนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง คือทำเรื่องการช่วยเหลือสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลให้สอดแทรกอยู่ในกระบวนการธุรกิจด้วย ซึ่งผลลัพธ์อาจก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานมากขึ้น ดังนั้น เรื่องของ green transition และเทคโนโลยี จะเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้บางอาชีพอยู่รอด แต่บางอาชีพลดลง”

10 อันดับงานเติบโตเร็ว

“ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ” กล่าวต่อว่า ผลสำรวจคาดว่างานประมาณ 23% จะเปลี่ยนแปลงภายในปี 2570 โดยมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และมีการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง จากงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน โดยพบว่า 10 อันดับงานที่เติบโตเร็วปี 2566-2570 ได้แก่ 1.เอไอ และแมชีนเลิร์นนิ่ง 2.ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3.นักวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูล 4.ความปลอดภัยทางข้อมูล 5.วิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและเทคโนโลยี 6.นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล 7.การสร้างหุ่นยนต์ 8.วิศวกรด้านอิเล็กทรอนิกส์ 9.ด้านการเกษตร 10.ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

ทั้งนี้ อาชีพที่มีความต้องการสูงในอนาคตเป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยี และดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (data analysts), ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต (big data specialists), ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI machine learning specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity professionals) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ภายในปี 2570

“นอกจากนี้ ยังคาดว่างานทางด้านพาณิชย์ดิจิทัล (digital commerce) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ, ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีและดิจิทัลอาจลดงานในบางบทบาทลง เช่น ธุรการหรือเลขานุการ, พนักงานธนาคาร, แคชเชียร์ และพนักงานป้อนข้อมูล”

5 อาชีพเติบโตอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ด้วยว่า อาชีพที่เติบโตและอาชีพที่ถูกทดแทนเร็วที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย อาชีพที่เติบโต ได้แก่ 1.ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ 2.ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน 3.นักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ 4.นักวิเคราะห์ความปลอดภัยของข้อมูล และ 5.วิศวกรฟินเทค ส่วนอาชีพที่ถูกทดแทน

ได้แก่ 1.พนักงานธนาคาร และตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง 2.พนักงานให้บริการไปรษณีย์ 3.พนักงานเก็บเงินและพนักงานขายตั๋ว 4.พนักงานบันทึกข้อมูล 5.เลขานุการฝ่ายบริหาร

งานด้านความยั่งยืนโต 33%

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับผลการศึกษาคือ งานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน คาดว่าจะเติบโต 33% จนนำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 1 ล้านตำแหน่ง ซึ่งงานด้านความยั่งยืนอาจมีหลากหลาย แต่ตำแหน่งที่เกิดขึ้นใหม่แน่นอนคือ ตำแหน่ง sustainability specialist หรือผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน

เพราะทุกธุรกิจเขาไม่ได้ทำกำไรระยะสั้น เขาต้องมองการเติบโตระยะยาว ฉะนั้น ตำแหน่งนี้จะเข้ามาช่วยซัพพอร์ตองค์กรว่าทำอย่างไรองค์กรจะเติบโตแบบยั่งยืนได้ พร้อม ๆ กับการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม

นอกจากนั้นคืองานด้านการศึกษา เพราะการศึกษาปัจจุบันมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เช่น เรียนที่ไหนก็ได้ไม่ใช่แค่ห้องเรียน ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 10% จนนำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง และงานด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชน

เพราะวันนี้การเกษตรมีการใช้นวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรออกผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น คาดว่าจะเติบโต 15-13% จนนำไปสู่งานที่เพิ่มขึ้น 4 ล้านตำแหน่ง ซึ่งทั้ง 3 อาชีพนับว่ามีบทบาทสำคัญไม่น้อย

สถาบันการศึกษาต้องปรับตัว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจ “ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ” แสดงความเห็นว่า ทุกองค์กรจึงต้องเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลกและประเทศไทยคือ องค์กรต่าง ๆ ควรกำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะใหม่

โดยให้ความสำคัญ และลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลมหัต (big data) รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking)

นอกจากนี้ องค์กรต่าง ๆ ควรคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถในการทำงานข้ามบทบาท การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และการเพิ่มผลผลิตของพนักงาน เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนองค์ความรู้ และประสบการณ์เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ให้กับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา

“ที่สำคัญคือบทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องไม่จำกัดแค่สถาบันที่ให้ความรู้ และประสบการณ์การเรียน แต่ต้องเป็นการบ่มเพาะทักษะทางด้านความคิด อารมณ์ ความฉลาด และเสริมสร้างพรสวรรค์ เพื่อพัฒนาทักษะที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น

รวมถึงพัฒนาจิตใจให้เข้าใจโลกและสังคม ทั้งยังต้องเป็นคนที่มองรอบด้าน มองทุกอย่างเชื่อมโยงอย่างเข้าใจ ส่วนหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนไป คือต้องพัฒนาทักษะควบคู่กับการพัฒนาจิตใจด้วย”

จากผลสำรวจยังพบอีกว่าทักษะสำคัญจากทั่วโลกที่จะมีผลต่ออาชีพแห่งอนาคตได้แก่ 1.การคิดเชิงวิเคราะห์ 2.การคิดเชิงสร้างสรรค์ 3.ความยืดหยุ่นและการคล่องตัว 4.การมีแรงจูงใจ 5.การเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีความอยากรู้อยากเห็น 6.ความสามารถด้านเทคโนโลยี 7.ตาไว เห็นรายละเอียด 8.การเอาใจใส่ เป็นผู้ฟังที่ดี 9.ทักษะความเป็นผู้นำ 10.ควบคุมคุณภาพ

“ซึ่งทั้ง 10 ทักษะต้องอาศัยการใช้ใจ ใช้สมอง และใช้มือ ได้แก่ การคิดเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง มีความมุ่งมั่น มั่นใจ ในความคิด มีความอยากรู้อยากเห็น การทำงานร่วมกับคนอื่น และทักษะทางเทคโนโลยี”

ขณะที่ในประเทศไทยมี 10 ทักษะที่จำเป็นได้แก่ 1.ปัญญาประดิษฐ์และบิ๊กดาต้า 2.การคิดเชิงวิเคราะห์ 3.การคิดเชิงสร้างสรรค์ 4.ความเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม 5.การจัดการความสามารถ 6.ความยืดหยุ่นและความคล่องตัว 7.ความต้องการเรียนรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต 8.ความรู้ทางเทคโนโลยี 9.การดูแลสิ่งแวดล้อม 10.แนวทางการให้บริการและการบริการลูกค้า

“จากอันดับดังกล่าวจะเห็นว่า ไทยเราให้ความสำคัญกับทักษะด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับจริยธรรม ความรับผิดชอบสังคม ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตสำนึก และทักษะการเชื่อมโยงตนเองกับภายนอก เพราะถ้ามองในแง่ของการทำธุรกิจ การที่ธุรกิจจะเติบโตได้ไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าและบริการให้ได้คุณภาพอย่างเดียว

แต่จะทำอย่างไรให้คนภายนอกเกิดความรักความศรัทธาต่อแบรนด์ ดังนั้นเรื่องจิตสำนึก และความรับผิดชอบต่อสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ทุกคนในองค์กรจึงต้องมีทักษะเหล่านี้เป็นพื้นฐาน และระบบการศึกษาก็ต้องเล็งเห็นความสำคัญ”

ดูข่าวต้นฉบับ