ทั่วไป

บุกรวบ หมอเถื่อนอ้างตัวเป็นแพทย์ ทำงานคลินิกเสริมความงามชื่อดัง

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์
อัพเดต 25 ก.พ. 2566 เวลา 01.55 น. • เผยแพร่ 25 ก.พ. 2566 เวลา 08.41 น.

จากกรณีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นแพทย์ทำงานคลินิกเสริมความงาม

บุกรวบ หมอเถื่อนอ้างตัวเป็นแพทย์ ทำงานคลินิกเสริมความงามชื่อดัง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยได้ร่วมกันจับกุม นายพัสกร (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต”

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า มีคลินิกเสริมความงามเปิดให้บริการรับฉีดวิตามินผิว, ฟิลเลอร์, โบท็อก และร้อยไหม โดยแพทย์ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ในซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

จึงทำการสืบสวนขยายผลจนทราบข้อมูลว่า สถานพยาบาลดังกล่าว ชื่อ “วีบีจีคลินิก” มี นายพัสกร (สงวนนามสกุล) แสดงตนแอบอ้างเป็นนายแพทย์ ให้บริการฉีดรักษา เสริมความงามแก่ประชาชนทั่วไปจริง ซึ่งไม่มีความรู้ ความชำนาญ อย่างแพทย์ผู้มีวิชาชีพ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเข้ารับบริการ โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าแพทย์ที่ทำการรักษา เป็นแพทย์จริงหรือไม่ เสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจถึงแก่ชีวิตได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
บุกรวบ หมอเถื่อนอ้างตัวเป็นแพทย์ ทำงานคลินิกเสริมความงามชื่อดัง

เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) จึงได้ร่วมกันวางแผนเข้าทำการตรวจค้นและจับกุมสถานพยาบาลดังกล่าวในทันที ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ กรมสนับสนุนบริการ

สุขภาพ(สบส.) เข้าทำการตรวจสอบ “วีบีจีคลินิก” เลขที่ 471 ซอย อนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปอยู่ และพบ นายพัสกรฯ แสดงตัวเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษา โดยเป็นผู้ผสมตัวยา และกำลังฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้ผู้ที่เข้ารับบริการด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมตัว นายพัสกรฯ และได้ตรวจยึด เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่เป็นความผิด กว่า 26 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเจ้าหน้าที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้ตรวจสอบ ใบประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบประกอบกิจการดำเนินสถานพยาบาล สถานพยาบาล พบว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่ได้รับรักษาพยาบาลนอกเวลาที่ได้รับอนุญาต และไม่มีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ให้การรักษา

โดย นายพัสกรฯ รับว่าตนไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แต่อย่างใด โดยเรียนจบเพียงการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จากนั้นได้เข้าทำงานในคลินิกเสริมความงามในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล เนื่องจากมีความสนใจในด้านศัลยกรรมเสริมความงาม และเห็นช่องทางว่ามีรายได้ดี จึงเริ่มรับงานโดยแอบอ้างตัวเป็นแพทย์เฉพาะทาง รับฉีดวิตามินผิว, ฟิลเลอร์, โบท็อก ร้อยไหม นอกสถานที่ในลักษณะหมอกระเป๋า และรับงานรักษาในคลินิกกรณีคลินิกนัดหมายลูกค้าให้

โดยทำมาแล้วประมาณ 5 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท จากข้อมูลการสืบสวน นายพัสกรฯ ได้ทำการให้บริการเสริมความงามให้ผู้รับบริการคลินิคดังกล่าวกว่า 120 ราย และให้บริการรับฉีดฟิลเลอร์บริเวณหน้าผากด้วย ซึ่งแพทย์โดยทั่วไปไม่รับฉีดบริเวณดังกล่าวเนื่องบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีความอันตรายสูง เพราะมีเส้นเลือดเชื่อมต่อไปยังจอประสาทตา และสมอง หากแพทย์ที่ทำการฉีดไม่มีความชำนาญมากพอ อาจทำให้อาจเกิดผลกระทบโดยตรงถึงขั้นตาบอดได้

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา และในส่วนเจ้าของคลินิกดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนขยายผล และออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต”ต่อไป

ขอบคุณเนื้อหาจาก Police TV สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews

ดูข่าวต้นฉบับ