สธ. เตือน “ยาอี-ยาเลิฟ” โฉมใหม่ในซอง “คอลลาเจน-กาแฟ” ขายเกลื่อนออนไลน์ ตรวจสอบยาก! ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทใน 30 นาที จากนั้นทำหลอนประสาท คนเสพเกิดภาวะฆ่าตัวตายสูง
เมื่อวันที่ 15 เมษายน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยาอี หรือ ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน และเป็นยาเสพติดให้โทษร้ายแรง ก่ออันตรายถึงตายได้ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน ด้านหนึ่งนูนหรือเรียบ หรือมีขีดแบ่งครึ่ง อีกด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่างๆ เช่น ค้างคาว นก ดวงอาทิตย์ เป็นต้น ยาอีมีฤทธิ์หลอนและกระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 30 – 45 นาที และฤทธิ์ของยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้เสพจะรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง และการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
“ปัจจุบันมีการลักลอบนำยาอีบดเป็นผงบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ซองคอลลาเจน ซองกาแฟ ซองเครื่องดื่มเกลือแร่ โดยพบว่ามีการวางขายในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่กำลังฮิตในกลุ่มวัยรุ่น” นพ.มานัส กล่าว
ด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า ยาอีที่ถูกลักลอบบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ววางขายในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ตรวจสอบได้ยาก เมื่อเสพยาอีเข้าไปจะทำลายระบบประสาท ทำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ และยังทำให้การนอนหลับผิดปกติ เวลาการนอนลดลง หลับไม่สนิท อ่อนเพลียขาดสมาธิ ในการเรียนและทำงาน
“บางรายนิยมเสพพร้อมกับดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาชนิดอื่นร่วมด้วย อาจทำให้เกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแส เพื่อลดการแพร่กระจายของยาอีที่อยู่ในรูปแบบซองคอลลาเจน และซองกาแฟ หรือหากคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมเสี่ยงและพบสิ่งต้องสงสัย ควรพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา และรีบพาไป พบแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา” นพ.สรายุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นพ.สรายุทธ์ กล่าวว่า สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สบยช. กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ รพ.ธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น รพ.ธัญญารักษ์อุดรธานี รพ.ธัญญารักษ์สงขลา และ รพ.ธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th