ทั่วไป

พบผู้ป่วย “พยาธิปอดหนู” ขึ้นตารายล่าสุดที่ขอนแก่น โชคดีรักษาทัน

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 04 ก.พ. 2565 เวลา 07.01 น. • เผยแพร่ 04 ก.พ. 2565 เวลา 07.04 น.

จักษุแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ขอนแก่น เผยพบผู้ป่วย “พยาธิปอดหนู” ขึ้นตารายล่าสุดที่ขอนแก่น โชคดีรักษาทัน พร้อมเตือนอย่ากินหอย-กุ้งฝอยดิบ เสี่ยงพยาธิ

จากกรณีที่จักษุแพทย์ด้านจอตาและน้ำวุ้นตา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  จ.พิษณุโลก พบผู้ป่วย "พยาธิปอดหนูขึ้นตา" เป็นสาเหตุทำให้ตาขวาบอด 1 ข้าง ผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก พร้อมระบุว่าเคยพบผู้ป่วย "พยาธิปอดหนู" ขึ้นตามากที่สุดในภาคอีสาน รายงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 18 ราย นั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ล่าสุด วันนี้ (4 ก.พ.65) ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แพทย์หญิงสุธาสินี สีนะวัฒน์ ,รศ.สุธาสินี สีนะวัฒน์ จักษุแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น กล่าวว่า ในภาคอีสานพบผู้ป่วยที่เป็นโรคพยาธิขึ้นตา จากพยาธิหลายชนิด ทั้งพยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวตืด แต่ที่พบมากที่สุดคือ  "พยาธิปอดหนู" หรือ พยาธิหอยโข่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นพยาธิชอนไช เฉลี่ยพบปีละ 2 ราย 

โดยรายล่าสุดเข้ารับการรักษาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พบว่ามีรายงานจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่นมากที่สุดในโลก ส่วนสาเหตุที่พบในอีสานมากที่นั้น ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

"พยาธิปอดหนูนั้นส่วนใหญ่พบในเนื้อเยื่อที่เป็นระบบประสาท  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้ามารับการรักษาด้วยอาการเนื้อหุ้มสมองอักเสบมากกว่าตา ส่วนที่พบในตานั้น พยาธิจะชอนไชเข้ามาถือว่าเป็นจำนวนผู้ป่วยที่น้อย แต่ก็ไม่ลดลงเฉลี่ยพบมีผู้ป่วยปีละ 2 ราย 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของพยาธิ ผู้ป่วยที่มารักษามีตั้งแต่อาการน้อย ไปจนถึงมารักษาเมื่อตาบอดแล้วก็มี ขนาดพยาธิที่พบว่าในตาของผู้ป่วย มีตั้งแต่ 2  มิลลิเมตร ขนาดใหญ่สุด 2 เซนติเมตร

สำหรับผู้ป่วยที่มารับการรักษานั้น แม้ว่าจะรักษาหายแล้วแต่ก็ไม่สมบูรณ์ การมองเห็นก็ไม่เท่าเดิมทางป้องกันคือประชาชนจะต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุก จึงจะปลอดภัย" พญ.หญิงสุธาสินี กล่าว

ด้าน ศ.นพ.วีรจิตต์ โชติช่วง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศรีนครินทร์ กล่าวว่า อาการของ "พยาธิปอดหนู" นั้นในรายที่ไชขึ้นสมองเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7-30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัวเนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ส่วนความรุนแรงของโรคพยาธิปอดหนูจะมากน้อยขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไป และการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ

การรักษาปัจจุบันยังไม่มียาที่มีความจำเพาะในการรักษาโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้ยาแก้ปวดระงับอาการของโรค ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะต้องรักษาด้วยยากลุ่มสเตียรอย เพื่อลดการอักเสบ ส่วนพยาธิจะอาศัยในร่างกายได้ 1-2 เดือนก็จะตายไปเอง

 

ดูข่าวต้นฉบับ