“มนุษย์ย่อมทำกรรมดีเพราะหวังสวรรค์ในภพหน้า”นี่คือความเชื่อพื้นฐานของหลาย ๆ ศาสนาที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ หรือดินแดนในโลกหลังความตาย แต่ “ภควัทคีตา” คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่ของ “ฮินดู” เป็นหลักปรัชญาแนวคิดแรก ๆ ของมนุษยชาติร่วมกับศาสนาพุทธและเชนที่มองข้ามพ้นจุดนั้น คือมองถึงภาวะ “หลุดพ้น” จากวัฏสงสาร หรือการเวียนว่ายตายเกิด
ภควัทคีตาอธิบายว่า ผู้เสวยสวรรค์ทั้งหลายไม่ช้าบุญเก่าย่อมมลายหายไปและต้องกลับมาเกิดใหม่ ต้องเวียนว่ายตายเกิดเสวยทุกข์ในโลกมนุษย์เช่นเดิม ดังนั้น ต้องมุ่งข้ามพ้นสรวงสวรรค์ มองถึงการหลุดพ้น โดยเข้าถึงพระเป็นเจ้า หรือ “พระเจ้าสูงสุด” คือมหาเทพและมหาเทวีทั้งหลาย
ภควัทคีตาเป็นส่วนหนึ่งของ ศาสนาฮินดู หรือลัทธิฮินดู (Hinduism) มาจากคำว่า “ฮินด์”(Hind) ภาษาเปอร์เซียที่ใช้เรียกชาวอารยันหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในอินเดียบริเวณลุ่มแม่น้ำอินดัส หรือสินธุ ลัทธิฮินดูนั้นพัฒนาโดยชาวอารยันและเป็นความเชื่อดั้งเดิมอันเก่าแก่ไม่เพียงแต่ในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำอินดัสเท่านั้น แต่รวมถึงมนุษยชาติด้วย
ชาวอารยันเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ แม้ภายหลังเทพเจ้าเหล่านั้นจะวิวัฒน์จนเกิดเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุดองค์เดียวอย่าง พระตรีมูรติ แต่พิธีกรรมทั้งหลายซึ่งมีนักบวชหรือพราหมณ์เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า รวมถึงการเชื่อในความจริงสูงสุดที่เรียกว่า “พรหม” (ฺBrahman) ทำให้ลัทธินี้ถูกเรียกว่า “ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู”
คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของชาวอารยันคือ คัมภีร์พระเวทแบ่งเป็น 4 เวทด้วยกัน ได้แก่ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท และอถรรพเวท แต่ละเวทยังแบ่งเป็นอีก 4 ส่วน ได้แก่ สังหิตา พระเวทดั้งเดิม และบทเสริมที่เชื่อว่าแต่งขึ้นภายหลังคือ พราหมณะ อรัณยกะ และ อุปนิษัท
คัมภีร์อุปนิษัท หรือเวทานตะ แปลว่า “ที่สุดแห่งพระเวท” เป็นส่วนที่แต่งขึ้นหลังสุด ปรัชญาจะแตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ โดยในทางศาสนา อุปนิษัทนับเป็นส่วนหนึ่งของพระเวท แต่ในทางปรัชญาต้องกล่าวว่าส่วนนี้แตกต่างจากส่วนอื่นที่แต่งก่อนอย่างชัดเจน เพราะพระเวทส่วนอื่น ๆ มักมุ่งเน้นความสำคัญของยัญพิธี หรือพิธีบูชายัญ การบวงสรวงด้วยการฆ่าสัตว์ถวายเทพเจ้าพร้อมเครื่องเซ่นสังเวย ขณะที่อุปนิษัทมุ่งอธิบายหลักความจริงสูงสุดหรือ พรหม ในลักษณะที่ว่าเป็น “ปฐมเหตุ” แห่งจักรวาล
ปรัชญาในคัมภีร์อุปนิษัทนี่เองคือ “รากฐาน” ของปรัชญาในภควัทคีตา โดยเฉพาะการอธิบายเกี่ยวกับวิญญาณกับร่างกาย เรื่องของพรหม กฎแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด อุปนิษัทอธิบายว่า มนุษย์ทุกผู้นามมีส่วนที่เป็นอมตะ คือ “อาตมัน”ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นวิญญาณ (spirit) เพราะอาตมันไม่มีวันสูญสลายแม้ร่างกายสิ้นสภาพ
คำว่า ภควัทคีตามาจากคำว่า “ภควัท”หมายถึง ผู้เป็นที่เคารพอย่างสูง หรือพระเป็นเจ้า รวมกับ “คีตา”แปลว่า บทเพลง จึงแปลได้ว่า บทลำนำแห่งทวยเทพ เป็นคำสอนที่พระเป็นเจ้าทรงประทานแก่มวลมนุษย์เพื่อนำทางให้พวกเขาได้เข้าถึงพระองค์นั่นเอง
“รบเถิดอรชุน” ปฐมบทแห่ง ภควัทคีตา
บทภควัทคีตาปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของภีษมบรรพในมหากาพย์ มหาภารตะตอนที่ พระกฤษณะ เทศนาเชิงปลุกใจให้ อรชุน ออกรบ เป็นบทลำนำที่ปลุกเร้าให้อรชุนฮึกเหิมและกระหายในการทำสงคราม
สงครามในมหาภารตะ เป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย คือฝ่ายเการพ (อธรรม) และปาณฑพ (ธรรมะ) ในนาทีวิกฤต อรชุนในฐานะตัวเอกฝ่ายธรรมะนำทัพประจันหน้ากับฝ่ายเการพ ซึ่งล้วนเป็นวงศาคณาญาติ และครูบาอาจารย์ของตนทั้งสิ้น ทำให้รู้สึกท้อใจที่ต้องมารบราฆ่าฟันกับญาติพี่น้องและอาจารย์ พระกฤษณะซึ่งทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้อรชุน จึงแนะนำให้เขากล้าเผชิญหน้ากับฝ่ายอธรรมและองคาพยพทั้งปวง
คำสอนของพระกฤษณะในครั้งนั้นเองที่เรียกว่า “ภควัทคีตา”
พระกฤษณะในมหาภารตะไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป พระองค์คือร่างอวตารของ พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เป็นพระเป็นเจ้าในร่างมิตรและอาจารย์ของอรชุน รวมถึงเป็นที่พึ่งทางใจ ทำให้อรชุนมั่นใจว่า การประหัตประหารที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผ่านบทภควัทคีตา บทภควัทคีตาจึงถูกนักปรัชญาจำนวนหนึ่งมองว่าเป็นการส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
พระกฤษณะเริ่มด้วยการชี้ให้อรชุนเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ (อาตมัน) แม้ร่างกายจะเน่าเปื่อยแต่วิญญาณเป็นอมตะ ไม่แตกสลาย ฆ่าก็ไม่ตาย วิญญาณเปลี่ยนร่างใหม่ดุจคนเปลี่ยนเสื้อผ้าอาภรณ์ ไม่ควรเศร้าโศกเสียใจหากญาติมิตรและอาจารย์ต้องล้มตาย เพราะวิญญาณของพวกเขามิได้สูญสลาย
พระกฤษณะเล่าถึงความสำคัญและหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์ หรือนักรบ ตามคติของ ฮินดู อรชุนอยู่ในวรรณะกษัตริย์ ต้องทำหน้าที่ตามวรรณะของตน ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างจากการละทิ้งหน้าที่ เสียเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และกลายเป็นบาปติดตัว คนอื่น ๆ จะตราหน้าว่าเขาไม่รบเพราะความขลาดกลัว มิตรเลิกนับถือ ศัตรูหยามเหยียด อรชุนต้องรบ หากชนะเขาจะได้ครองโลก หากสิ้นชีพก็จะได้ไปสวรรค์
แต่พระกฤษณะทราบดีว่าโลกและสวรรค์ไม่ใช่ความปรารถนาของอรชุน จึงเสนอ “หนทางสู่ความหลุดพ้น” จากการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ นั่นคือการเข้าถึงพระเป็นเจ้า เป็นอาตมันระดับ “ปรมาตมัน” หรือความสุขอันเป็นนิรันดร์
อันที่จริงปรัชญาที่พระกฤษณะถ่ายทอดแก่อรชุนคือการทำหน้าที่ต่อสังคมของมนุษย์ทั่วไป ในฐานะที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถูกบีบจากสังคมให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือประกอบกรรมตามบทบาทของตนเอง สำหรับอินเดียในยุคสมัยดังกล่าว สงครามคือเครื่องแสดงเกียรติยศของวรรณะกษัตริย์
ภควัทคีตาเน้นการกระทำที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงภายใต้แรงผลักดันของธรรมชาติหรือสังคม แม้คิดอยู่ในใจแต่ไม่กระทำด้วยกายก็นับว่าเป็นคนลวง หากกระทำโดยสำรวมไม่มุ่งหวังผลตอบแทนจะนับว่าเป็นคุณอย่างอเนกอนันต์ ควรประกอบกรรม (ตามหน้าที่) ประหนึ่งทำเพื่อเซ่นสังเวยแด่เทพเจ้า ไม่พะวงหรือผูกพันกับผล จะเป็นหนทางสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ หรือการเข้าถึงพระเป็นเจ้า นี่คือสิ่งที่พระกฤษณะถ่ายทอดแก่อรชุน
ถ้าหากกรรม (ตามหน้าที่) นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ควร หรือเป็นกรรมชั่วล่ะ?
ผู้กระทำต้องสละความผูกพันอันจะเกิดจากผลของการกระทำ คิดเสียว่าแม้กระทำอยู่ก็เสมือนมิได้กระทำ… เพียงอุทิศการกระทำนั้นแด่พระเป็นเจ้า ด้วยวิธีคิดดังกล่าว เขาจะไม่แปดเปื้อนด้วยบาป “ดุจใบบัวไม่เปียกน้ำ”
ทางสู่ความ “หลุดพ้น” ในภควัทคีตามีหลายทาง แต่ทางแห่งการกระทำตามหน้าที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงความรู้ คือ รู้ว่าวิญญาณไม่สลายไปกับร่าง ความรู้เกี่ยวกับพระเป็นเจ้า ยิ่งหากรู้จักอวตารหรือผลงานของพระเป็นเจ้า ผู้นั้นจะไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก เมื่อตายแล้ววิญญาณจะไปถึงพระเป็นเจ้า แม้มีบาปก็จะข้ามไปถึงได้ด้วยญาณ ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่รู้จักหรือสงสัยในพระเป็นเจ้าจะพบแต่ความทุกข์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทั้งนี้ พระเป็นเจ้ามิได้ปรากฏพระองค์ให้ประจักษ์แก่สายตาใครง่าย ๆ
ระหว่างการเทศนาของพระกฤษณะ อรชุนยังขอดูร่างที่แท้จริงของพระองค์ด้วย พระกฤษณะต้องให้ตาทิพย์แก่เขา เพราะดวงตามนุษย์ไม่อาจแบกรับอานุภาพหรือมองร่างจริงของพระเป็นเจ้าได้ เมื่อร่างขององค์พระวิษณุปรากฏแก่สายตาของอรชุน พลันเขาได้เห็นทั้งจักรวาล เป็นความกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีที่สิ้นสุดของพระเป็นเจ้า ทั้งแลเห็นนักรบแห่งสมรภูมิทุ่งกุรุเกษตร ลานประหัตประหารในวันนั้น พวกเขาเหล่านั้นกำลังกรูเข้าไปในปากอันน่าสะพรึงกลัวของพระเป็นเจ้าต่อหน้าต่อตาอรชุน
พระวิษณุอธิบายว่า พระเป็นเจ้าคือกาลเวลา คือผู้ทำลายล้างโลกและสรรพชีวิต แม้อรชุนจะไม่รบ นักรบฝ่ายอธรรมก็จะถูกทำลายล้างอยู่ดี แล้วบอกเขาว่า จงรบเสียเถิด รบเพื่อเกียรติยศ คว้าชัยชนะเหนือศัตรูเพื่อเสวยราชสมบัติอันมั่งคั่ง เพราะพวกเขาเหล่านั้นล้วนถูกสังหารด้วยพระเป็นเจ้า โดยมีอรชุนเป็นเครื่องมือเท่านั้น
ตอนนั้นเองที่อรชุนประจักษ์แก่ใจถึงบทบาทของตน แม้เขาจะหลีกหนีสงครามครั้งนี้ ผลจะเกิดแก่โลกอยู่ดี แต่หากทำตามหน้าที่ย่อมแสดงถึงศรัทธาที่มนุษย์มีต่อพระเป็นเจ้า อรชุนน้อมกายขอให้พระวิษณุอภัยต่อเขาดังเช่นบิดาอภัยต่อบุตร เพราะร่างแท้จริงของพระเป็นเจ้าทำให้เขาหวาดกลัวอย่างมาก จึงขอให้พระองค์กลับคืนร่างวิษณุ 4 กร
นี่คือคำอธิบายว่า เหตุใดพระเป็นเจ้ามิได้ปรากฏร่างแท้จริงแก่มนุษย์ เพราะร่างนั้นจะทำให้มนุษย์หวาดหวั่นจนทำอะไรไม่ถูก กล่าวได้ว่า อรชุนคือหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้เห็นพระเป็นเจ้าในร่างที่ทรงอานุภาพถึงเพียงนั้น
พระวิษณุชี้ให้เห็นต่อว่า พระเป็นเจ้ายังเป็นที่อยู่ของ “พรหม” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ต้องการหลุดพ้นตามคัมภีร์อุปนิษัท คือมุ่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปเป็นหนึ่งเดียวกับพรหมที่ไร้รูปร่าง แต่พระเป็นเจ้านั้นสูงส่งกว่าพรหม และไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่า เมื่ออรชุนได้สดับฟังลำนำภควัทคีตาจนจบก็สิ้นความสงสัย เกิดจิตใจมั่นคงไม่ลังเล แล้วตัดสินใจทำตามบัญชาของพระเป็นเจ้า คือรบกับศัตรู…
คุณค่าของ “ภควัทคีตา” คือการทำให้มนุษย์คลายความสงสัย ไม่มั่นใจ แล้วทำหน้าที่ของตนอย่างไม่ลังเลนั่นเอง แต่หลักการดังกล่าวมิได้ห้ามเชื่อในสิ่งใดนอกเหนือจากพระเป็นเจ้า เพราะชาวฮินดูยังเชื่อว่ามีหลายหนทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้นได้ เพียงแต่ภควัทคีตาถูกยกย่องว่าเป็นหนทางแห่งความภักดีที่ยอดเยี่ยมที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- ด้านมืดของพระกฤษณะ ในศึกมหาภารตะ ที่ต่างจากแง่มุมคุณธรรม-ความดี
- ลัทธิทหารแบบ ฮินดู ในอินเดีย ดูวิถีการรบโบราณ ถึงธรรมเนียมคร่าชีวิตในสงคราม
- “พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่าพระอิศวร? จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็นเทพฮินดู
อ้างอิง :
กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2555). ศึกมหาภารตะ. กรุงเทพฯ : สยาม.
กฤษณไทวปายนวยาส รจนา อินทรายุธ แปล. (2522). ภควัทคีตาพร้อมภาคผนวก. กรุงเทพฯ : ศิวาลัย.
สยามคเณศ. “ภควัทคีตา” หลักธรรมอันสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.siamganesh.com/BhagavadGita-00.html
ศรีสุรางค์ พูนทรัพย์. ภควัทคีตา : ปรัชญาสำหรับผู้ไม่พอใจสวรรค์. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566. จาก http://www.human.cmu.ac.th/courseonline/course/004233/pdf/doc08.pdf
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ภควัทคีตา” คัมภีร์แห่งการนำพามวลมนุษย์ข้ามพ้นสรวงสวรรค์ ที่มา “รบเถิดอรชุน”
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com