หลังจากเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย กับงานสัมมนาเชิงธุรกิจประจำปี LINE THAILAND BUSINESS 2022 การรวมตัวกันของกูรูเศรษฐกิจและธุรกิจครั้งใหญ่ พร้อมข้อมูลที่น่าสนใจมาเปิดเผยมากมาย ในวันนี้ LINE ขอเจาะลึกเนื้อหาประเด็นใหญ่ นั่นคือภาพรวมเศรษฐกิจโลก ที่เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตในปัจจุบันนี้ ว่ามีปัจจัยอะไรที่น่าจับตามอง และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อวงการเศรษฐกิจไทยกันบ้าง
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในวิทยากรคนสำคัญ ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ MACROECONOMIC OUTLOOK เปิดเผยถึงข้อมูลสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 และได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อันมาจาก 3 ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อเมริกา ยุโรป และจีน ที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดรวมกันเป็น 60% ของ GDP โลก การเคลื่อนไหวของ 3 ประเทศยักษ์ใหญ่นี้ จึงสามารถชี้ทิศทางอนาคตเศรษฐกิจของโลกได้
มรสุมเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคสำคัญ : อเมริกา ยุโรป และจีน
จากความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เกิดจากการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงของการปิดเมืองช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยไม่สนเรื่องจะทำให้เศรษฐกิจชะลอ จนมีการคาดการณ์ว่าภายในกลางปีหน้า ดอกเบี้ยสหรัฐจะแตะสูงถึง 5% จากปัจจุบันอยู่ประมาณ 4%
ในขณะที่ทางฝั่งยุโรป ก็มีปัญหารุมเร้ามากมาย ทั้งราคาพลังงานสูงมาก การขาดแคลนอาหารและปัจจัยการผลิต จากสงครามยูเครน-รัสเซีย จนทำให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นที่เรียบร้อย
ด้านจีน ก็มีความน่ากังวลเช่นกัน จากมาตรการปิดเมือง ZERO COVID ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ไม่เต็มที่และขาดความต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจจีนที่ปกติเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% คาดการณ์จะขยายตัวเหลือเพียง 4% ในปีหน้า
และเมื่อ 3 เศรษฐกิจใหญ่ของโลกมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน
ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
เมื่อกลับมามองเศรษฐกิจไทย ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ในไตรมาส 3 นี้ จะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นมากจากภาคบริการจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว แต่ก็นับเป็นเพียงสถิติเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในอดีต
สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยในมุมมองมหภาค คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยเมื่อดูจากตัวเลขนำเข้าส่งออก จะเห็นว่าตัวเลขการนำเข้าของไทย หากตัดการนำเข้าพลังงานและทองคำทิ้ง จะมีพลังซื้อการนำเข้าที่ลดลงมาก นั่นหมายถึงการนำเข้าปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่ลดลง สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีการผลิตสินค้าที่ลดลง นำไปสู่การส่งออกที่ลดลงในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ผลที่ตามมาคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีการซื้อมากกว่าการขายออกไป ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนลงไปอีก
อีกทั้งยังประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำของไทย ยิ่งเป็นปัจจัยให้เงินทุนไหลออกไปต่างประเทศ ส่วนในด้านของตลาดหนี้ โดยเฉพาะหนี้สำหรับกลุ่มธุรกิจ SME ถือว่ายังไม่ฟื้นตัว และหนี้สำหรับครัวเรือนก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยปัจจุบัน ยังมีปัจจัยความเสี่ยงอีกหลายด้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวล ที่ภาคธุรกิจไทยต้องจับตามองและเฝ้าระวัง
คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเป็นในทิศทางบวกหรือลบ คาดการณ์ว่าจะได้เห็นทิศทางชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 โดยมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็น
1) การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่หากมีการรชะลอตัวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อได้ดี ก็จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยไปด้วย เพราะไม่มีความกดดันเพิ่มให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขึ้นดอกเบี้ย
2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป
3) การยกเลิกมาตรการ ZERO COVID ของจีน และการเปิดประเทศ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อประเทศไทยในเรื่องของการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มเม็ดเงินจากต่างประเทศ
4) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ต้องระวังไม่ให้ขาดดุลมาก และ
5) เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งหากกำหนดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่น ได้รัฐบาลยุคใหม่ที่เป็นความหวังของประชาชน ก็จะยิ่งส่งผลในเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
ไม่เพียงความวุ่นวายทางเศรษฐกิจเท่านั้นที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ พฤติกรรมของผู้คนบนโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว ภายในงาน LINE THAILAND BUSINESS ยังได้มีผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันข้อมูลในส่วนนี้ด้วย โดย มร. อเล็กซานเดอร์ โกรมอฟ และ ดาลัด ตันติประสงค์ชัย พาร์ทเนอร์ แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก โดยได้ให้ข้อมูลถึง 6 เทรนด์สำคัญของโลก ที่ธุรกิจต้องตระหนัก จับตามอง พร้อมปรับตัวตาม ไม่ว่าจะเป็น
1) การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การดูแลสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการกินอยู่ที่ดี โดยผู้คนในปัจจุบันยินดีและยอมรับที่จะจ่ายเพิ่มส่วนต่างในการบริโภค เช่น ซื้อถุงเพิ่มในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
2) ในด้านของการจับจ่ายใช้สอย ช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการช้อปปิ้ง ถึงแม้คนจะยังมาเดินช้อปปิ้งในศูนย์การค้า แต่เมื่อต้องตัดสินใจซื้อ หลายครั้งก็จะหันกลับไปหาข้อมูลเพิ่มในออนไลน์
3) ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ยินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์ง่ายขึ้น หากมีแบรนด์ที่นำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจมากกว่า
4) ผู้บริโภคในยุคนี้ คาดหวังที่จะได้รับการบริการหรือการสื่อสารในแบบ Hyper Personalization รับข้อมูลหรือจะพิจารณาสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือตรงกับตนเองเท่านั้น
5) เทรนด์ที่มาแรงมาในเอเชีย คือ การใช้ช่องทาง Social Commerce ในการซื้อขายสินค้า เห็นได้จากมูลค่าของ Social Commerce ในจีน ที่มีมูลค่าถึง 360 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยนับเป็น 13.1% ของธุรกิจ E-commerce ทั้งประเทศจีน ที่ประเทศผู้นำอย่างสหรัฐฯ ยังต้องการศึกษาเพื่อดำเนินรอยตาม
6) และที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดไม่สิ้นสุด โดยเรามองเห็นพฤติกรรมอีกหลากหลาย ที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ การเกิดขึ้นของโลกเมตาเวิร์ส หรือแม้แต่อาชีพใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น อาชีพครีเอเตอร์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจากแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ยังชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นบนโลกที่มีความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ความต้องการพื้นฐานของผู้คน ที่ยังมีความต้องการสินค้าและบริการพื้นฐานปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตเหมือนเดิม
ดังนั้น สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องปรับเพิ่มเติมในเรื่องของความรวดเร็ว ความสะดวกง่ายดายในการเข้าถึง และการนำเสนอที่ตรงใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอด ซึ่งจะสร้างระบบนิเวศของธุรกิจให้สมบูรณ์เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มุมมองระดับมหภาค ทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นข้อมูลที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่จะต้องรู้และอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะตั้งรับ ปรับตัว ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในทุกช่วงเวลา สาระความรู้ในงาน LINE THAILAND BUSINESS ยังมีน่าสนใจอีกมาก ทั้งในเรื่องกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ การเจาะลึกเครื่องมือการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมย้อนหลังและอัพเดทข้อมูลสำคัญในการทำธุรกิจบน LINE ได้ที่ FB: LINE for Business
#LINETHBUSINEE2022 #LINEforBusiness