ทั่วไป

ถอดบทเรียน GM ปฏิบัติการตัดเนื้อร้าย รักษาเนื้อดี เบื้องหลัง Chevrolet โบกมือลาตลาดเมืองไทย

THE STANDARD
อัพเดต 18 ก.พ. 2563 เวลา 14.49 น. • เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 14.26 น. • thestandard.co
ถอดบทเรียน GM ปฏิบัติการตัดเนื้อร้าย รักษาเนื้อดี เบื้องหลัง Chevrolet โบกมือลาตลาดเมืองไทย

จากกรณีประกาศยุติการทำตลาดแบรนด์ Chevrolet ในประเทศไทยของ General Motors หรือ GM ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างมาก 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พร้อมกันนี้ GM ยังได้ประกาศยุติการทำตลาดแบรนด์ Holden อันเก่าแก่กว่า 164 ปี ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อีกด้วย 

 

มาลองดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใด GM จึงตัดสินใจชนิดช็อกหัวใจลูกค้าในภูมิภาคแห่งนี้ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ครองเบอร์หนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ที่จำหน่ายรถยนต์มากที่สุดในโลก 77 ปี

ก่อนอื่นขอย้อนภาพให้ทุกคนรู้จัก GM กันสักหน่อย บริษัทผู้ผลิตรถยนต์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2451 หรือราว 112 ปีมาแล้ว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ปัจจุบันมีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Chevrolet, Buick, Cadillac, GMC และ Holden รวมถึงแบรนด์ร่วมทุนอย่าง Baojun (เป่าจุน) และ Wuling (วู่หลิง)

 

 

ตลอดระยะเวลาการทำตลาดของ GM ผ่านช่วงเวลาทั้งสุขและทุกข์มาหลายครั้ง เข้าซื้อกิจการของแบรนด์รถยนต์ต่างๆ มาไว้ในมืออย่างมากมาย ที่เราคุ้นหูกัน เช่น Saab, Isuzu และ Suzuki 

 

แบรนด์ในมือเหล่านี้เองทำให้ GM สามารถครองตำแหน่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่จำหน่ายได้มากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่องถึง 77 ปีติดต่อกัน กินเวลายาวนานตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 30 มาจนถึงปี 2550 โดยที่ไม่น่ากังวลว่าจะมีใครมาทาบรัศมีได้ 

 

แต่ ‘ความแน่นอน’ คือ ‘ความไม่แน่นอน’ 

 

รายจ่ายเพิ่มสวนทางกับกำไรจนนำไปสู่การ ‘ล้มละลาย’

แท้จริงแล้วสัญญาณไม่ดีเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 เมื่อสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลและบำนาญของลูกจ้างที่เกษียณไปแล้วกลายมาเป็นรายจ่ายก้อนโต 

 

ประกอบกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาพลังงานใหม่ๆ เช่น เชื้อเพลิงฟิวเซลล์และรถยนต์ไฟฟ้าที่ GM ถือว่าตัวเองเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์จะต้องทำให้สำเร็จก่อนแบรนด์อื่น ซึ่งใช้เงินมหาศาล

 

 

แม้ว่าการขายรถจะเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายดังกล่าวทำให้สัดส่วนกำไรนั้นเริ่มน้อยลง ส่งผลให้กระแสเงินสดของ GM ลดลง กระทบถึงเงินปันผลของ GM จำเป็นต้องลดตามอย่างมีนัยสำคัญในปี 2549 เพื่อรักษากระแสเงินสดเอาไว้

 

เหนืออื่นใด เพื่อประคองฐานะทางการเงิน ในช่วงปี 2549-2550 GM เริ่มทยอยขายหุ้นในบริษัทรถยนต์ต่างๆ ที่ซื้อมาและธุรกิจบางส่วนที่ซื้อมาในช่วงรุ่งเรืองออกไป 

 

แต่จนแล้วจนรอด เมื่อสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน ‘Hamburger Crisis’ ในปี 2551 GM รายงานผลการดำเนินงานขาดทุนบางไตรมาสมากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.68 แสนล้านบาท GM จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายภายใต้ Chapter 11 

 

การขาดทุนดังกล่าวเกิดจากการขายรถลดลงและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่รายจ่ายกลับเพิ่มสูงขึ้น ครั้งนั้น GM เลือกแก้ปัญหาด้วยความมั่นใจบนพื้นฐานผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก แต่สุดท้ายเมื่อไม่รอด จำต้องยอมก้มหน้าเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันในชื่อ Chapter 11 

 

 

GM เหมือนรถไฟที่ตกราง

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายภายใต้ Chapter 11 คือการขายทรัพย์สินทั้งหมดของ GM โดยมีการตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ General Motors Company เข้ามาซื้อกิจการที่ดีของ General Motors Corporation ซึ่งรัฐบาลและเจ้าหนี้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทใหม่ด้วย 

 

ส่วนทรัพย์สินและกิจการที่พิจารณาแล้วว่าจะไม่สามารถทำกำไรได้จะถูกขายออกไปจนหมด เช่น แบรนด์ Saab, Opel และ Hummer เป็นต้น ส่วนแบรนด์ที่ยุติการทำตลาดไปคือ Pontiac

 

หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ GM คือขบวนรถไฟที่เกิดปัญหาตกราง ทำให้ผู้เข้ามาเก็บกู้ซากต้องมีการปรับขบวนใหม่ โดยผู้เก็บกู้รถไฟเลือกเอาโบกี้ที่ดีเก็บไว้ 

 

หลังจากนั้นนำโบกี้ที่เสียหายทิ้งไป แม้จะทำให้ขบวนรถไฟเล็กลง แต่รถไฟขบวนนี้สามารถเดินทางต่อไปได้พร้อมภาระที่ลดลง และช่วยยืดอายุหัวรถจักรให้วิ่งต่อได้ยาวนานขึ้น

 

Hummer หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่ GM ต้องขายออกไปหลังเจอวิกฤตการเงิน

 

จากบทเรียนดังกล่าวของ GM จะเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการใช้เงินเกินตัวจากการทุ่มซื้อกิจการต่างๆ ทั่วโลก ภาระผูกพันกับพนักงาน และการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาเพื่อสู้กับคู่แข่ง 

 

แต่เมื่อเกิดปัญหาการขายไม่เป็นไปตามเป้า หนทางเดียวที่จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้คือการตัดส่วนที่เสียหายทิ้งไป แล้วรักษาส่วนที่ยังมีความสามารถสร้างกำไรเอาไว้ 

 

อดีตที่ (เคย) ยิ่งใหญ่ในเมืองไทย

กลับมาดูประเทศไทย GM เข้ามาทำตลาดโดยใช้แบรนด์ Chevrolet ลุยขายในไทยเมื่อปี 2543

 

ช่วงแรกของการเข้ามานั้นมีการลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ที่จังหวัดระยองด้วยเม็ดเงินมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท พร้อมบุกเบิกตลาดด้วยรถที่แปลกไม่เหมือนใครในเวลานั้นอย่าง Chevrolet Zafira ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากลูกค้าชาวไทย 

 

ต่อมาขยับขยายเพิ่มรุ่นในการขายทั้งรถเก๋ง เช่น Chevrolet Aveo, Chevrolet Cruze และกระบะอย่าง Chevrolet Colorado รวมถึงรถอเนกประสงค์พีพีวีอย่าง Chevrolet Trailblazer และเอสยูวีในรุ่น Chevrolet Captiva

 

 

ทุกรุ่นที่กล่าวมาได้รับความนิยมอย่างงดงาม กวาดยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นแบรนด์รถยนต์ดาวรุ่งที่เจ้าตลาดต้องจับตามอง โดยเมื่อปี 2555 สามารถทำยอดขายได้ถึงกว่า 75,000 คัน 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ไทยถูกเรียกว่าเป็นตลาดปราบเซียนมาโดยตลอด แค่เพียง 2 ปีถัดมาคือในปี 2557 Chevrolet กลับมียอดขายเหลือเพียง 25,000 กว่าคันเท่านั้น และทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

จนนำมาสู่คำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์ดาวรุ่งดวงนี้

 

 

‘บริการหลังการขาย’ ความท้าทายใหญ่ที่สุดของ Chevrolet

เมื่อรถขายดี สิ่งที่ตามมาเสมอคือการบริการหลังการขาย และกรณีรถมีปัญหาจะจัดการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างไร

 

Chevrolet นับเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องบริการหลังการขายให้กับลูกค้าจนพึงพอใจได้ ทำให้เกิดกระแสในหมู่ลูกค้าที่ซื้อรถไปแล้วขุ่นเคืองใจในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถของ Chevrolet

 

จากจุดเล็กๆ เมื่อรถหนึ่งคันมีปัญหา และสังคมโซเชียลเริ่มเข้ามามีบทบาททำให้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ง่ายขึ้น การรวมตัวของลูกค้าที่บอกเล่าถึงปัญหาต่างๆ กลายเป็นมูลเหตุทำให้ความเชื่อมั่นในแบรนด์ Chevrolet ลดลงอย่างรวดเร็ว 

 

ประกอบกับวิธีการแก้ปัญหาแบบตะวันตกที่ผู้บริหารปฏิเสธการเจรจากับลูกค้า ทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย 

 

 

เคราะห์ซ้ำด้วยอีโคคาร์

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตลาดรถเก๋งของไทยทิศทางเปลี่ยนมาเป็นอีโคคาร์ ซึ่ง Chevrolet ไม่ได้ร่วมโครงการด้วย เมื่อแนวทางการแก้ปัญหายึดหลักการ Chapter 11 บริษัทแม่จึงสั่งยุติการทำตลาดรถเก๋ง 

 

โดยยุติการผลิตที่โรงงานและไม่มีรถรุ่นใหม่เปิดตัวมา การกระทำดังกล่าวยิ่งซ้ำเติมให้ความเชื่อมั่นของลูกค้าชาวไทยให้ลดลง คงเหลือเพียงไลน์การขายรถปิกอัพ พีพีวี และเอสยูวี ที่ยังมียอดขายเพียงพอต่อลมหายใจอยู่เท่านั้น 

 

แน่นอนในฐานะ ‘Chevrolet ประเทศไทย’ ย่อมต้องการสู้ในตลาดต่อ ดังนั้นเราจึงได้เห็นรถรุ่นใหม่ล่าสุด ‘Chevrolet Captiva’ ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว พร้อมกับการแบกความหวังทั้งหมดของเชฟโรเลต ประเทศไทย เอาไว้ด้วย 

 

ทว่าผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด ยอดขายพลาดเป้าอย่างมาก ขายได้ราว 500 คันในช่วงระยะเวลา 3 เดือนหลังเปิดตัวจากเป้าหมายเดือนละ 800 คัน 

 

Photo: Chevrolet / Facebook 

 

เมื่อ ‘ตลาดรถยนต์ขวา’ ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป

แม้ว่าจะมีการลดคนงานจำนวนหนึ่งไปก่อนหน้าพร้อมปรับโครงสร้างบริษัท แต่ด้วยการขายที่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยครบองค์ประกอบตามหลักการของ Chapter 11 ทำให้วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ทางบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศยุติการทำตลาดรถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทย 

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ GM ดำเนินการดังกล่าวมาจากการมองในภาพรวมของตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลกที่มีสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้น ไม่คุ้มค่าในการทุ่มทุนวิจัยพัฒนาอีกต่อไป 

 

และเมื่อ GM ตัดสินใจยุติการทำตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาในตลาดอื่นๆ ทั่วโลกไปแล้วจนเหลือเพียงแค่ 3 ประเทศคือ ไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ดังนั้นทันทีที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปฏิบัติการถอดสลักทิ้งโบกี้จึงเกิดขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน 

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเป็นเงินสด โดยเตรียมปลดพนักงาน 828 ตำแหน่งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนไทยเตรียมปลดทั้งสิ้น 1,500 คน 

 

ในแถลงการณ์ที่ GM ส่งให้สื่อในประเทศไทยระบุว่า GM จะให้ความช่วยเหลือและมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด

 

 

รถ EV มาแน่!

เราเห็นได้ชัดว่าปฏิบัติการคราวนี้เกิดจากบทเรียนครั้งก่อนๆ ที่สอนให้ GM ต้องรัดกุมในทุกย่างก้าวการลงทุน สิ่งใดไม่ทำกำไรให้ตัดทิ้ง เนื่องจากสถานการณ์ยานยนต์โลกขณะนี้เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่ทุกคนรับทราบกันเป็นอย่างดีว่ารถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV นั้นกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด 

 

ถึงแม้ว่า GM จะมีโมเดลที่ออกจำหน่ายแล้วอย่างรุ่น Volt แต่ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเริ่มขายมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ยอดขายยังไม่เป็นไปตามคาด จนทำให้ต้องยุติการจำหน่ายไปเมื่อปีที่แล้ว โดยคงเหลือเพียงรุ่น Bolt เท่านั้นที่ยังคงทำตลาดอยู่ 

 

ส่วนอนาคต ทุกค่ายมองเหมือนกันว่า EV มาแน่ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำได้สำเร็จและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ก่อนกัน 

 

ฉะนั้น GM จึงพลาดไม่ได้ในเส้นทางใหม่นี้!!

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 8
  • พิมพ์อักษรได้ถูกต้องทุกตัว....นักข่าวตัวจริงต้องแบบนี้ครับ
    18 ก.พ. 2563 เวลา 15.44 น.
  • Bee®🐼:(*_*):Bear™🐝
    น่าจะมีบางคนด่ารัฐบาลอยู่น่ะ
    18 ก.พ. 2563 เวลา 15.28 น.
  • 🌼KHANAVICH`🅝🅣🅣64🌼
    อ่านแล้ว เข้าใจทะลุปรุโปร่ง
    18 ก.พ. 2563 เวลา 15.31 น.
  • tam
    ใครเคยใช้รถยี่ห้อนี้น่าจะพอเข้าใจ ส่วนตัวเข็ด บายยยยยย
    18 ก.พ. 2563 เวลา 15.51 น.
  • bunterm
    ใครจะเป็นรายต่อไป​?
    18 ก.พ. 2563 เวลา 15.36 น.
ดูทั้งหมด