ไลฟ์สไตล์

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนักจิตบำบัดก็มีวันที่แย่กับเขาเหมือนกัน… - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 07 ก.ค. 2563 เวลา 10.41 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อาชีพนี้เป็นอาชีพที่แปลก

เพราะมันเล่นกับความซับซ้อน และละเอียดอ่อนของความรู้สึก

การดูแลความรู้สึกของตัวเองในฐานะนักจิตบำบัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จึงต้องเพิ่มระดับให้จริงจังและเข้มข้นขึ้นไปอีก

เพราะเราไม่ได้แค่ดูแลความรู้สึกของตัวเอง

เพื่อตัวเอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่เพื่อเราต้องรองรับสภาวะอารมณ์ของคนไข้อย่างมีสติให้ได้ด้วย

 

 

และหลายครั้ง เราก็เผลอใส่ใจความรู้สึกของตัวเองไม่ดีพอ

คิดเข้าข้างตัวเองไปว่าเราไหว

รู้ตัวเองอีกที ก็กระทบระยะเวลาการบำบัดของคนไข้เราในชั่วโมงนั้นๆ ไปแล้ว

อาการที่สังเกตได้ว่าเราอาจดูแลสภาวะจิตใจตัวเองไม่ดีพอ

เช่น

  • เผลอบ่นและใส่อารมณ์สุดๆ ระหว่างสนทนาในบางหัวข้อกับคนไข้เป็นพิเศษ (เพราะเรามีประเด็นในใจกับเรื่องนั้น ที่เรายังสะสางในใจไม่หมด) อาจเป็นการเข้าข้างคนไข้อย่างออกหน้าออกตา หรือรู้สึกไม่ชอบสิ่งที่คนไข้พูดขึ้นมาอย่างหาเหตุผลไม่ได้
  • รู้สึกต่อสิ่งที่คนไข้เล่า จนอารมณ์ของเราค้างเกินเวลาช่วงบำบัด เราเคยเป็น เมื่อก่อนเคยรู้สึกอินกับเรื่องที่คนไข้เล่ามากเพราะมันตรึงใจเราเหลือเกิน จนหาคำพูดกลับไปให้คนไข้ไม่ได้ อารมณ์ล้นจนพูดไม่ออก พอออกจากห้องบำบัดไป นั่งนิ่งๆ ทบทวนทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ แล้วก็เพิ่งนึกได้ว่า สิ่งที่เราควรพูด มันมีตั้งหลายข้อหลายประเด็นเลยนี่นาาา
  • ไม่มีสมาธิ สติไม่จดจ่อกับคนไข้ที่อยู่ตรงหน้า
  • รู้สึกกระอักกระอ่วนในชั่วโมงบำบัดอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกไม่สบายใจ จิตใจลุกลี้ลุกลน อาจรู้สึกอึดอัดที่จะนั่งนิ่งๆ นานๆ เพื่อฟังคนไข้

เราเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปบ้างแล้ว ที่ลิ้งค์นี้

 

 

 

ยิ่งช่วงโควิดระบาด

นักจิตบำบัดหลายคน ก็ตกที่นั่งลำบากอยู่เหมือนกันทางด้านจิตใจ

อาจารย์ของเรา ที่เป็นถึงหนึ่งในคณะบริหารสมาคมจิตวิทยาในแคลิฟอร์เนีย ยังสารภาพว่า ตัวเองก็ถามจิตแพทย์ของตัวเองเหมือนกันว่า ‘นี่ฉันมีอาการซึมเศร้ารึเปล่านะ?’

หรือจะเพื่อนสนิทเราที่นี่ ที่เคยติดเชื้อโควิดจนต้องหยุดทำงานไปหลายอาทิตย์

คนเป็นนักจิตบำบัดเอง หลายครั้งมักมีความกดดันให้ตัวเองว่าต้องเป็นคนที่เข้มแข็ง

ยิ่งป่วยทางกายเพิ่มไปอีกแล้ว ยิ่งรู้สึกเปราะบางลงไปอีก

 

 

หรือจะสดๆ ร้อนๆ ที่เราเพิ่งเลิกกับแฟน หนึ่งวันก่อนมีคนไข้สองคนในวันนั้น

ที่ระหว่างการพูดคุยกับคนไข้นั้น ยากเหลือเกินที่เราจะมีสมาธิกับคนไข้

สติเราไม่ดีพอ คิดคำพูดบางคำไม่ออก

บางครั้งก็เหมือนน้ำตาจะไหลออกมา แต่ก็ต้องฮึบไว้

เราจบชั่วโมงบำบัดวันนั้นด้วยความไม่ได้รู้สึกอิ่มใจ

ที่ทำหน้าที่ของตัวเองไม่เยี่ยมพอ เพราะจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ดี

 

 

 

‘นักจิตบำบัดหลายคน ก็มีนักจิตบำบัด’

หนึ่งในวิธีช่วยจัดระเบียบและระบายความคิดล้นๆ ของตัวเองออกมา

เพื่อจะได้ให้ความหมายของสภาวะในจิตใจเรานี้ได้อย่างลึกซึ้ง

เพราะบางครั้ง

‘ถึงเราจะเก่งช่วยคนอื่นได้ขนาดไหน เราก็อึกอักในการช่วยเหลือตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะมันดูมืดไปหมด ต้องให้ใครบางคนมาช่วยส่องไฟนำทาง’

หรือใครสักคนที่เราสามารถเชื่อใจ

และเดินทางไปกับความรู้สึกเรานี้ได้พร้อมกัน

‘เพื่อนสนิท’ คือสมบัติล้ำค่าสำหรับเรา

เพราะทุกครั้งที่คุยกับเพื่อนในเรื่องที่ค้างคา

สามารถทำให้เราเห็นปัญหา หรือ ‘สิ่งที่เคยเป็นปัญหา’

ได้ชัดเจนขึ้น ‘โดยไม่รู้สึกกำลังถูกตัดสินอยู่’

 

 

‘อยู่กับปัจจุบัน’

นั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจ

อาจเป็นการเล่นโยคะในตอนเช้าก่อนเริ่มวัน

หรือก่อนนอนเพื่อความผ่อนคลาย

สำหรับเรา ทุกชั่วโมงที่จบไปสำหรับคนไข้แต่ละคน

เราต้องขอให้ได้ยืดเส้นยืดสาย คลายอิริยาบถ

ก่อนการเริ่มชั่วโมงใหม่เสมอ

ท่าบริหารโปรดของเราก็คือ โค้งตัวเอามือแตะพื้น

ให้เลือดได้ไหลเวียนลงไปที่หัว เพื่อสมองจะได้ใสปิ๊งขึ้นบ้าง

 

 

‘เวลา เป็นสิ่งสำคัญ’

พยายามจบชั่วโมงนั้นให้ตรงเวลา

เพื่อจะได้มีเวลาพักอย่างเพียงพอสำหรับชั่วโมงต่อไป

และอย่าเริ่มเตรียมตัวสำหรับการบำบัดให้แค่ ‘ทันเวลา’

แต่ให้นั่งเตรียมตัว ‘ก่อนเวลา’ อย่างน้อยสัก 15 นาที

เพื่อมีเวลาทบทวนสิ่งที่เราจดเอาไว้เกี่ยวกับคนไข้คนนี้

และที่มีค่าที่สุด คือมีเวลาอยู่กับตัวเอง

ทบทวนและสังเกตความรู้สึกของตัวเองก่อนคนไข้มา

เพื่อเช็คสภาวะอารมณ์ตัวเองตอนนั้น

ว่ามันสั่นสะเทือนต่อสิ่งเร้าบางอย่างมากแค่ไหน

แล้วค่อยๆ ใช้เวลาปรับให้มวลอารมณ์พอคงที่

เพื่อเริ่มหน้าที่ของเราได้อย่างสวยงาม

 

 

 

 

เพราะนักจิตบำบัดก็มนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน

ถึงแม้จะถูกฝึกมาให้รองรับอารมณ์

และเรื่องราวหนักๆ ของคนอื่นได้พร้อมขนาดไหน

แต่ทุกห้วงอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับคนไข้นั้น

สักวันมันก็อาจเกิดขึ้นกับเราได้

 

หากจำเป็นต้องหยุดพักสักหนึ่งวัน

หรือจะหนึ่งอาทิตย์

เราก็ต้องทำ

เพราะหากไม่ทำ

ไม่ใช่เพียงแค่ไม่คุ้มกับสิ่งที่คนไข้จะได้จากเราไม่เต็มที่แล้ว

ยังเพิ่ม อารมณ์โศกที่มอดไหม้ขึ้นเรื่อยๆ ในใจ

แล้วคราวนี้แหละ

ยากกว่าเดิม ที่จำดับมัน

อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร

ความเห็น 7
  • Pattie
    พยาบาล หมอ กินยาคลายเครียดเยอะแยะ ไม่แปลกจ้า
    07 ก.ค. 2563 เวลา 11.46 น.
  • ผมคิดว่าบางครั้งในการที่ได้รับกำลังใจจากใครสักคนหนึ่งก็คงจะช่วยทำให้สภาวะทางจิตใจที่กำลังย่ำแย่ดีขึ้นมาได้บ้างเหมือนกันนะครับ.
    07 ก.ค. 2563 เวลา 14.21 น.
  • หมอก็ป่วยเป็นแต่รักษาตัวเองไม่ได้ไม่แปลกครับที่นักจิตบำบัดจะป่วย
    07 ก.ค. 2563 เวลา 14.28 น.
  • So
    หมอรักษามะเร็งบางคนเป็นมะเร็งเสียเอง
    15 ก.ค. 2563 เวลา 12.34 น.
  • เอก อรรถพล
    ขอแสดงความห่วงใยกับความรู้สึกที่เจอขณะทำหน้าที่นักจิตบำบัด. สมมุติว่าเวลาเครียดเราดื่มเหล้าสิ่งที่ไดก็แค่เมาพอเวลาหายเมาความเครียดก็ยังคงอยู่ที่เดิม. " ก็แค่อย่าเอาใจไปผูก" ในสิ่งที่กำลังเครียดหรือกำลังจะเข้าไปเครียดการตีความนั้นย่อมมีความต่างเป็นปกติในวิสัยของเรา ซึ่งสิ่งนี้คือความสวยงามถ้าเราตั้งใจฟังซึ่งกันและกันให้มากขึ้น.
    15 ก.ค. 2563 เวลา 04.55 น.
ดูทั้งหมด