ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เทคนิคการปลูกบัวประดับให้ได้ดอกสวยงาม

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 09 ก.ย 2565 เวลา 07.09 น. • เผยแพร่ 09 ก.ย 2565 เวลา 21.00 น.

หลายคนชื่นชอบการปลูกบัวประดับ แต่หลังจากซื้อบัวประดับจากร้านค้ากลับมาเลี้ยงที่บ้านต้นบัวประดับให้ดอกสวยงามแค่เพียงระยะแรก หลังจากเลี้ยงไปได้ 3 เดือน ดอกเริ่มเล็กลง และไม่ค่อยมีดอกแถมต้นทรุดโทรมลงอีกต่างหาก หากใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่ต้องกังวล “ เทคโนโลยีชาวบ้าน ” มีเทคนิควิธีดูแลบัวประดับอย่างถูกวิธี ที่จะช่วยให้บัวประดับของท่านมีดอกสวยงามเหมือนเดิม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บัวไทยมี 3 สกุล

ก่อนอื่นอยากแนะนำให้รู้จักสกุลบัวที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยว่า มีอยู่ 3 สกุล คือ สกุลบัวหลวงหรือปทุมชาติ สกุลบัวสาย หรือ อุบลชาติ และ สกุลวิกตอเรีย หรือ บัวกระด้ง

1.สกุลบัวหลวงนิยมเรียกชื่อว่า ปทุมชาติ หรือ บัวหลวง มีถิ่นกำเนิดอยู่ใน จีน อินเดีย และประเทศไทย บัวเป็นพืชที่มีต้นใต้ดิน หรือเหง้า และมีไหลเมื่อวัยอ่อน มีลักษณะเรียวยาว เลื้อยไปใต้พื้นดินเล็กน้อย เมื่อโตเต็มที่จะอวบอ้วน เพราะมีการสะสมอาหารเอาไว้ ต่อมาพัฒนาเป็นข้อปล้อง ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของต้นอ่อนและราก เมื่อเติบโตขึ้นจะยืดตัวส่งใบและดอกโผล่ขึ้นเหนือน้ำ ก้านใบและก้านดอกมีหนาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดอกเป็นชนิดดอกเดี่ยว รูปทรงมีทั้งป้อมและแหลม ดอกจะบานในเวลากลางวัน กลิ่นหอมมีกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ กลีบด้านนอกสีเขียว สีกลีบดอกมีทั้งสีขาว ชมพู และเหลือง ดอกมีขนาดใหญ่ นิยมนำไปบูชาพระ เหง้า ไหล และเมล็ดนำมาทำอาหารได้

2.สกุลบัวสาย หรือ อุบลชาติ บัวชนิดนี้มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เจริญเติบโตแบบแตกหน่อ ต่อมาพัฒนาเป็นใบและดอก ก้านดอกจะยืดขึ้นเหนือผิวน้ำ บางสายพันธุ์มีใบอยู่ใต้น้ำ ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ผิวบนเป็นมัน ด้านล่างส่วนใหญ่มีขน ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีทั้งชนิดบานกลางวัน และกลางคืน มีหลากสีสัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3.สกุลวิกตอเรียหรือ บัวกระด้ง เป็นบัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นหัวใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80-120 เซนติเมตร ขอบใบตั้งฉากกับผิวใบ ด้านบนสีเขียวเรียบ ด้านใต้สีม่วงมีหนามแหลมใช้ป้องกันปลาและสัตว์น้ำอื่นกัดกินหรือทำลาย ดอกมีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ก้านดอกและกลีบดอกด้านนอกมีหนามแหลม ดอกบานในเวลาค่ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ดอกมีกลีบประดับ 4 กลีบ แรกแย้มกลีบดอกมีสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพู

ธรรมชาติของบัว

บัวเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจ้า และต้องได้รับแสงอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง หากปลูกในร่มบัวจะให้ดอกน้อยหรือไม่ให้ดอกเลยก็มี ดินปลูก ต้องใช้ดินเหนียว มีธาตุฟอสฟอรัสสูง ไม่แนะนำให้ใช้ดินที่มีอินทรียวัตถุที่ยังไม่สลายตัวดีเป็นวัสดุปลูก น้ำ ต้องสะอาดมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.5-8.0 ส่วนระดับน้ำที่พอเหมาะกับบัวแต่ละสายพันธุ์ให้สังเกตจากก้านใบหรือก้านดอกที่ยืดตรงตั้งฉากกับผิวน้ำ สิ่งสำคัญไม่ควรให้ก้านใบแผ่กว้างรอบกอทำมุม 45 องศากับผิวดิน

บัวทรุดโทรมเพราะขาดปุ๋ย

บัวเริ่มทรุดโทรม เนื่องจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์หรือพูดง่ายๆ ว่าดินจืดนั่นละครับ บัวจะแสดงอาการชะงักการเจริญเติบโต ใบมีขนาดเล็กลง ผิวใบบนไม่มันวาว สีซีด เหลืองและแก่เร็ว จึงจำเป็นต้องให้ปุ๋ย อย่างไรก็ตาม ก่อนให้ปุ๋ยต้องตัดสางหรือนำเอาก้านใบด้านดอกและใบแก่ทิ้งไป แล้วใส่ปุ๋ย สูตร 10-10-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนชา ห่อด้วยดินเหนียว ผึ่งให้แห้ง เรียกว่าปุ๋ยลูกกลอน แต่ถ้าหากปลูกเพียง 2-3 กระถาง ให้ห่อปุ๋ยเคมีด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 2-3 ชั้น เป็นก้อนกลม ฝังลงดินตื้นๆ ห่างจากโคนต้น 5-8 เซนติเมตร

โรคและแมลง

“โรคใบจุด ” เป็นโรคสำคัญที่พบเสมอ โรคใบจุดเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง มักระบาดในช่วงฤดูฝน มีอากาศชื้น โดยเฉพาะใบแก่ อาการของโรคพบรอยแผลเป็นจุดวงกลมสีเหลือง ต่อมาขยายวงกว้างขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แผลตอนกลางจะแห้ง เมื่อพบอาการดังกล่าวให้ตัดใบที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้ง พร้อมล้างมือและอุปกรณ์ให้สะอาดก่อนนำไปใช้งานต่อไป

“ หนอนชอนใบ” เป็นศัตรูสำคัญของบัวประดับ หนอนชอนใบ เป็นหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่ไว้ใต้ใบหรือขอบใบ เมื่อฟักออกเป็นตัวจะเจาะเข้าไประหว่างชั้นใบดูดกินน้ำเลี้ยง มองเห็นจากภายนอกเป็นเส้นคดโค้งวาวเป็นมัน วิธีกำจัด คือ ตัดใบที่พบการเข้าทำลาย เผาหรือฝังดิน เพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนของแมลง หากระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยโมโนโครโตฟอส หรือมาลาไทออน อัตรา 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว 2 ครั้ง ทุกสัปดาห์ การระบาดของหนอนชอนใบจะหมดไป

การขยายพันธุ์บัว

บัวประดับสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การแยกหน่อหรือเหง้า การแยกไหล และ การเพาะเมล็ด

1.การแยกหน่อหรือเหง้า เหมาะสำหรับบัวชนิดที่มีเหง้า โดยตัดแยกหน่ออ่อนยาว 8-10 เซนติเมตร ตัดสางรากออกบ้าง นำปลูกลงในกระถาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-25 เซนติเมตร ปลูกลงในดินที่เตรียมไว้ลึก 4-5 เซนติเมตร อัดดินโดยรอบพอแน่นให้ตั้งตัวได้ เติมน้ำลึก 5-10 เซนติเมตร เมื่อเห็นว่าต้นสมบูรณ์และเติบโตดีจึงนำลงปลูกในภาชนะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

2.วิธีแยกไหล ใช้กับบัวชนิดที่มีไหล ส่วนใหญ่เป็นบัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อน ด้วยวิธีตัดไหลที่มีต้นอ่อนเกิดขึ้นแล้วให้มี 2-3 ข้อ นำปลูกลงดินในกระถางลึก 3-5 เซนติเมตร รอจนเติบโตแข็งแรงดีจึงนำลงปลูกในแหล่งที่ต้องการได้

3.วิธีการเพาะเมล็ด โดยทั่วไปไม่นิยมนำมาปฏิบัติกัน เนื่องจากยุ่งยาก ซับซ้อน ยกเว้น กรณีที่มีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อต้องการลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ เริ่มจากเลือกต้นพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น เช่น รูปทรงของดอก สีของดอก และความทนทานต่อโรคโดยธรรมชาติของบัว ดอกจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรเพศเมียจะพร้อมให้การผสมเกสรก่อนเพศผู้ 1-2 วัน ให้สังเกตเกสรเพศเมียจะอยู่วงในของดอก เมื่อดอกเริ่มบานให้ขลิบตัดเกสรเพศผู้ทิ้ง แล้วคลุมด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล นำเกสรเพศผู้จากดอกอื่นที่บานแล้ว 2 วัน โดยใช้พู่กันแตะเกสรเพศผู้แล้วนำไปป้ายลงบนเกสรเพศเมียของดอกที่เตรียมไว้ แล้วคลุมด้วยถุงกระดาษเช่นเดิม ดอกที่ผสมติดจะพัฒนาเป็นฝักในเวลาต่อมา

เมื่อเมล็ดแก่จึงนำไปเพาะลงในภาชนะใส่ดินเหนียวที่สะอาด ไม่มีเศษซากพืชและกลิ่นเหม็น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25-30 เซนติเมตร มีดินในกระถางปริมาตรครึ่งหนึ่งของกระถาง ปรับผิวหน้าดินให้เรียบ วางเมล็ดลง กดให้จมลงดินตื้นๆ ป้องกันเมล็ดลอยขึ้น เติมน้ำลงในกระถางให้มีระดับน้ำลึก 7-10 เซนติเมตร เก็บกระถางในร่มรำไร เปลี่ยนน้ำทุก 5-7 วัน ป้องกันน้ำเน่าใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน เมล็ดบัวจะงอกเป็นต้นอ่อน ดูแลจนมีใบ 2-3 ใบ ให้แยกปลูกในภาชนะ หรือสถานที่ต้องการ คัดเลือกต้นที่ให้ดอกที่มีดอกสีสดสวยไว้ นำไปจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ที่กองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • 🏕🌈Nid🌌🏝
    ปลูกทีไรตายทุกที ซื้อมาปลูกหลายรอบแล้ว ไม่รู้จะทำไงดี
    17 ก.พ. 2561 เวลา 06.46 น.
ดูทั้งหมด