ไลฟ์สไตล์

ไทย ไม่ใช่ถังขยะของโลก!

WWF-Thailand
เผยแพร่ 24 ม.ค. 2562 เวลา 17.01 น.

ขยะอุตสาหกรรมที่ถูกเคลื่อนย้ายมาทิ้งในบริเวณประเทศโลกที่ 3 เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความไม่ปกติกับสิ่งแวดล้อมของประเทศปลายทาง แม้ว่าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะถูกนำกลับมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในการตั้งต้นการผลิตสินค้าใหม่ๆ ก็ตาม 

ล่าสุด ประเทศจีนประกาศนโยบายยุติการนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อรีไซเคิลอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดคำถามว่าขยะพลาสติกกว่า 105 ล้านตัน ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2533 คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกทั่วโลก นับจากนี้จะถูกนำปล่อยไปที่ใด โดยเฉพาะสำหรับประเทศต้นทาง เช่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน ที่ส่งออกขยะพลาสติกไปที่ประเทศจีนเป็นเวลานาน 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หรือประเทศไทยจะเป็นปลายทางหลักของขยะพลาสติกเหล่านี้?

หลังจากจีนประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติก เวียดนาม และมาเลเซีย ก็ออกมาประกาศว่าจะหยุดออกใบอนุญาตนำเข้าขยะไม่ว่าจะเป็นพลาสติก เหล็ก หรือกระดาษในทันที 

ในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศยุติการนำเข้าสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกจำนวน 422 รายการ ซึ่งจะมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการภายปี 2564 หรืออีก 3 ปีข้างหน้านี้ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยจะมี 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร ร่วมกำหนดโควต้าการนำเข้าเศษพลาสติกในระยะเวลา 2 ปี โดยในปี 2562 กำหนดโควต้านำเข้าไม่เกิน 7 หมื่นตัน และให้ใช้พลาสติกภายในประเทศไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2563 กำหนดโควต้านำเข้าไม่เกิน 4 หมื่นตัน และให้ใช้ขยะพลาสติกในประเทศไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2564 เราจะไม่มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศอื่นๆ อีกต่อไป

ปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญกับการจัดการขยะพลาสติกที่ต้องนำมารีไซเคิลมากถึง 4 แสนตัน ซึ่งมากกว่าเท่าตัว จากเดิมที่ 1.6 แสนตัน ในปี 2560 

การประกาศยกเลิกนำเข้าขยะพลาสติกนี้ ถือว่าเป็นอีกมาตรการหนึ่งของประเทศไทยในการจัดการพลาสติกอย่างจริงจังนอกเหนือจากนโยบายอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น หน่วยงานรัฐจะต้องลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว 10 เปอร์เซ็นต์ แก้วพลาสติก 10 เปอร์เซ็นต์และโฟมบรรจุอาหาร 100 เปอร์เซ็นต์ ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีการประกาศงดใช้ถุงพลาสติกในแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่ รวมถึงแนวคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมในการเก็บภาษีกับร้านค้าที่ใช้ถุงพลาสติก 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปลายทางของขยะพลาสติก และ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นที่ใดในโลก เป็นประเทศไทย หรือไม่? อาจดูเป็นปัญหาประเทศที่ต้องมีกระบวนการคิดและการจัดการที่รอบคอบจากภาครัฐ แต่ในระดับจุลภาคอย่างผู้บริโภคเช่นเรา การลดปัญหาขยะพลาสติกอาจเริ่มทำได้จากการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ลดการสร้างขยะจากในครัวเรือน ก่อนที่ขยะเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหามหภาคนอกบ้านที่ต้องถูกแก้ไขจัดการต่อไป

ความเห็น 4
  • Otto
    ก็จะคอยดูว่าชาติด้อยพัฒนาแบบกะลาแลนด์จะจัดการได้จริงจังแค่ไหน??
    26 ม.ค. 2562 เวลา 06.36 น.
  • eka
    ใครละนำเข้า ก็คนไทยขยะที่รับเงินต่างชาตินั่นแหละ
    26 ม.ค. 2562 เวลา 02.24 น.
  • Anupap.
    อืม,จิตสำนึกผู้นำประเทศมันควรตระหนักรู้มลพิษทางอากาศและสุขภาวะสิ่งแวดล้อมของประชาชนก่อน,ท่านสีจิ่นผิงพูดจริงกวาดขยะโรงงานมลพิษจริงจังต่อเนื่อง,ไม่ใช่พูดเป็นนกแก้วนกขุนทองตามกลุ่มนายทุน/พุ่มสกี้
    26 ม.ค. 2562 เวลา 01.02 น.
  • Boy
    แต่ผู้เกี่ยวข้องหิวเงิน พอมีคนจ่ายเงินเข้ากระเป๋าก็พร้อมที่จะกลายเป็นถังขยะของโลก และปล่อยให้คนไทยตายผ่อนส่ง ประเทศแห่งการคอร์รัปชั่นที่กฎหมายไม่รุนแรงและเข้มงวด จนผู้คนไร้วินัย ความรับผิดชอบ และจิตสำนึกในเรื่องความถูกต้อง เหมาะสม
    26 ม.ค. 2562 เวลา 00.41 น.
ดูทั้งหมด