เกือบทุกครั้งของการเปิดฉากการสนทนากับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เมื่อคู่สนทนาทราบว่าเอิ้นเป็นนักแต่งเพลง ยิ่งถ้าทราบว่าแต่งเพลงรักอะไรมาบ้าง
คำถามที่จะถูกถามตามมาเสมอคือ แต่งเพลงตั้งแต่เมื่อไร? (ตั้งแต่อายุ 18 จนตอนนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว)
แต่งได้ยังไง? (จากจิตนาการในฐานะผู้ฟังเพลง)
แต่งมากี่เพลง? ( มากกว่าสองร้อยเพลง) ต้องผ่านความรักโชกโชนขนานไหน? ( ไม่ได้โชกโชนอะไรเลย)
กว่าสองร้อยเพลงที่เขียนมาความจริงแล้วมีเพียงสี่เพลงเท่านั้นที่เขียนจากเรื่องของเอิ้นเอง นอกนั้นเป็นบทเพลงที่ได้จากการฟัง ฟังคนรอบข้าง ฟังให้เข้าใจ ฟังจนเหมือนได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้เล่า ก่อนที่เราจะทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด
เมื่อมาเรียนเป็นจิตแพทย์ เครื่องมือสำคัญที่ต้องใช้ในการดูแลรักษาคนไข้สิ่งแรกก็คือการฟัง ฟังให้คนไข้ได้คลายความทุกข์ ฟังให้เกิดการเยียวยาทางใจ
การฟังจะกลายเป็นเครื่องมืออันแสนวิเศษที่พาเราเข้าไปนั่งอยู่ในใจของใครอีกคนได้โดยไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว ย่อมไม่ใช่การฟังธรรมดา แต่เป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) และเราทุกคนสามารถเริ่มต้นการฟังอย่างลึกซึ้งได้โดย
1. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสนทนา : อุปสรรคสำคัญในการสื่อสารคือการที่ผู้พูดไม่ยอมเปิดใจที่จะเล่าเรื่องราวที่เป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสาร ดังนั้นเรื่องราวที่เล่าอาจวกไปวนมา บางคนพูดอ้อมจนหาทางเข้าเรื่องไม่เจอ เพราะไม่กล้าที่จะเล่าความปรารถนาที่แท้จริง ปฏิกิริยาเช่นนี้จะดีขึ้นหรือหายไปหากเราในฐานนะผู้ฟังมีท่าทีที่จริงใจ อยากเข้าใจ และตั้งใจรักษาความลับของผู้พูด
2. รู้ทันความคิดอัตโนมัติของเรา : เมื่อเราเป็นผู้รับฟัง ข้อมูลที่รับมาจะถูกดาวน์โหลดไปที่สมองของเราเพื่อทำการเทียบเคียงประสบการณ์เดิมของเราที่เคยผ่านมา เกิดการตีความตามประสบการณ์ของเราและตัดสินเรื่องราวที่ได้ฟังโดยใช้เวลาไม่ถึงเสี้ยววินาที หากเราไม่รู้ทันความคิดอัตโนมัตินี้ เราอาจจะเผลอมีพฤติกรรมรีบแทรกแทรง ชี้แนะทางออก เปรียบเทียบหรือยุยง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนอกจากจะไม่ได้ทำให้เข้าใจเรื่องราวที่แท้จริง ผู้เล่าก็จะยิ่งรู้สึกว่าเราไม่เข้าใจและจบลงด้วยความเสียใจมากกว่าเดิม
3. ระวังการตัดสิน : การตัดสินเปรียบเสมือนการปิดประตูแห่งความเข้าใจ ความคิดตัดสินมักเข้ามาในรู้แบบความคิดว่า “ทำไมเธอ……” ดังนั้นเมื่อไรที่มีคำนี้ผุดขึ้นมาให้รู้สึกตัวว่าไม่ใช่เวลาที่เราควรตัดสิน
4. เคารพความแตกต่าง : หลายครั้งที่การฟังใครสักคนมักต้องหยุดชะงักลงเพราะเราทนฟังความคิดที่ต่างจากเราไม่ได้
เรามักจะลืมไปว่าเรานั้นมีคนเดียวบนจักรวาลนี้ และความแตกต่างทางความคิดคือจุดเริ่มต้นของความรู้และการพัฒนาโดยเฉพาะการพัฒนาตัวเราเอง ดังนั้นเมื่อมีความคิดผุดขึ้นมาว่า “คิดอย่างงี้ได้ยังไง?” ให้รู้ว่ามีความแตกต่างที่เราควรทำความเข้าใจด้วยคำถามว่า “เพราะอะไรถึงคิดแบบนั้น?”
5. ทุกอย่างคือการเรียนรู้ : หากเราถามตัวเองเสมอว่า “ฉันได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ได้ฟัง” การฟังครั้งนั้นจะมีคุณค่าและความหมายเสมอทั้งต่อตัวเราและคนที่เล่าให้ฟัง
ดังนั้นหากตอนนี้คุณกำลังตกหลุมรักใครสักคนอยู่ แล้วคุณอยากเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของเค้าคนนั้นเหมือนกับที่เค้าเข้ามานั่งในหัวใจของคุณ ลองเริ่มต้นความสัมพันธ์ด้วยการเป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้งดูนะคะ รับรองได้ว่าไม่ว่าความรักครั้งนี้จะจบลงอย่างไรมันจะมีความหมายและงดงามเสมอ
หมอเอิ้น พิยะดา
Unlocking Happiness
จิตแพทย์/นักแต่งเพลง/วิทยาการสื่อสารเพื่อความสุขและสำเร็จ
Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549
----------------------------------------------------------------------------
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCUkLOuK0DwOyIsb6ho8G_ew
----------------------------------------------------------------------------
IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/
----------------------------------------------------------------------------
Website : http://www.earnpiyada.com/
ผมว่าการเป็นคนฟังที่ดีก็ควรที่จะรู้จักการวิเคาะห์ให้เป็นถึงจะให้คำตอบที่ถูกต้องได้.
29 ม.ค. 2562 เวลา 15.02 น.
ฟังให้จบ ขบให้แตก แถลงไม่สาย
29 ม.ค. 2562 เวลา 13.52 น.
ดูทั้งหมด