การเมือง

"ทวี สอดส่อง"ย้ำงบประมาณ 65 ต้องไม่ลับ ลวง พราง ชี้เป็นเงินของประชาชน

สยามรัฐ
อัพเดต 23 เม.ย. 2564 เวลา 04.41 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2564 เวลา 04.41 น. • สยามรัฐออนไลน์

วันที่ 23 เม.ย.64 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุค ในหัวข้อ

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 “ต้องไม่ ลับ-ลวง-พราง ” เพราะเป็นเงินของประชาชนทุกคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

งบประมาณปี 2565 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีจะนำเข้าสู่รัฐสภา ได้มีการเผยแพร่ว่าตั้งงบประมาณไว้จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดจากปีงบประมาณปี 2564 ประมาณ 185,962 ล้านบาทเศษ ในปีนี้ โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท กู้ชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านล้านบาท ซึ่งการกู้เพิ่มจากปีก่อน ร้อยละ 14.95 มีหน่วยรับงบประมาณมากที่สุดตั้งแต่การจัดงบประมาณ มา คือมีจำนวน 802 หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ ส่วนราชการ 20 กระทรวง มีหน่วยรับงบประมาณในแต่ละกระทรวงรวมกัน 499 หน่วยรับงบประมาณและท้องถิ่นได้แก่ กทม. อบจ เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง รวมกัน 303 หน่วย ยังไม่มีรายละเอียดของงบประมาณเพียงแต่ติดตาม แต่จากการที่เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณในปีที่ผ่านมา มีข้อห่วงใยและข้อสังเกตเบื้องต้นในภาพรวม คือ

1. “การหาเงิน” ปกติเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีคลังและกระทรวงการคลังเพื่อเป็นงบประมาณ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายรับจากรายได้แผ่นดินและรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ที่น่าหวงคือเน้นกู้เงินผลักภาระให้ประชาชนเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเช่นในปีงบประมาณ 2564 ตั้งงบประมาณไว้ 3,285,962ล้านบาทเศษ (3.3 ล้านบาท) รัฐประมาณการรายได้จากหน่วยงานจัดเก็บได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร รัฐวิสาหกิจ (จำนวน 55 แห่ง) และรายได้จากหน่วยงานอื่นจำนวน 2,731,000 ล้านบาท (2.7 ล้านล้านบาท)แต่ความจริงสุดท้ายรัฐหาได้เพียง 2,307,215 ล้านบาท (2.3 ล้านล้านบาท)ต่ำ กว่าประมาณการจำนวน 423,784 ล้านบาท (4.3แสนล้านบาท) จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลที่เดิมประมาณการกู้เงินไว้ จำนวน 469,000 ล้านบาท (4.69 แสนล้านบาท) ต้องกู้เงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น จำนวน 701,283.64 ล้านบาท (7.01 แสนล้านบาท)กู้เงินสูงกว่าที่ประมาณการไว้

ที่ผ่านมารายรับรัฐมีความไม่แน่นอนสูงและในปีนี้เชื่อว่าการเก็บภาษีน่าจะน้อยกว่าที่ประมาณการไว้อีก รายได้แผ่นดินถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลมักปิดบังมีข้อมูลให้ศึกษาน้อยเกินไป ส่วนตัวมีข้อสังเกตจากการค้นหาเพิ่มเติม เช่น กรมสรรพากรที่เป็นหน่วยงานจัดเก็บมีรายได้เข้าประเทศมากที่สุด จะไม่มีข้อมูลการ “คืนภาษี” ที่งบประมาณไปใช้ได้ต้องหักเงินคืนภาษีก่อนหรือเป็นรายได้สุทธิ มีตัวเลขการคืนภาษีที่ผิดปกติ คือในปี พ.ศ. 2561 กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ 1,915,456 ล้านบาท แต่มีการหักเงินคืนมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลและอื่นๆ จำนวน 320,529 ล้านบาท จึงเหลือเงินที่จะใช้ได้สุทธิเพียง 1,636,683 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ในปี พ.ศ. 2563 จัดเก็บภาษีได้ 1,833,812 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนหน้าปี 61 ถึง 81,644 ล้านบาท มีการคืนภาษีมากถึง 374,244 ล้านบาท “เก็บภาษีได้น้อยแต่คืนภาษีมาก” กว่าปี พ.ศ.2561 ถึง 53,715 ล้านบาท เหลือเงินได้สุทธิเพียง 1,497,081 ล้านบาทเท่านั้น จึงเป็นประเด็นข้อสังเกตและข้อสงสัยทางสังคมที่รัฐต้องสร้างความโปร่งใสมีเอกสารให้ ตรวจสอบได้ด้วย

2. การจัดทำงบประมาณและการกำหนดตัวชี้วัด ตาม “ยุทธศาสตร์ชาติและแผ่นปฏิรูปประเทศ” ยังไม่สะท้อนการแก้ปัญหาของประเทศ และใช้งบประมาณในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด19 ยังจัดงบมุ่งความมั่นคงของรัฐ(บาล)ที่ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชนและชาติตามความเป็นจริง ไม่ความคุ้มค่าเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน ไม่มีการประเมินความคุ้มค่าจากผลลัพธ์ต่องบประมาณ ไม่มีการเปรียบเทียบความคุ้มค่าของแต่ละโครงการ ที่สำคัญผลการเบิกจ่ายของแต่ละหน่วยรับงบประมาณในปีที่ผ่านมาจะพบว่างบลงทุนจะจ่ายประมาณไม่ถึง 70% (ปีพ.ศ. 2563 งบลงทุนเบิกจ่ายเพียง 66%เท่านั้น) จะมีประมาณ 120,000-200,000 ล้านบาทเบิกจ่ายไม่ทัน

ตามหลักการต้องคืนเงินที่เหลือให้กับแผ่นดินไม่สามารถนำไปใช้ได้ แต่รัฐได้อ้างข้อยกเว้นที่ขออนุญาตกระทรวงการคลังหรือเทคนิคที่ยากต่อการตรวจสอบไม่ยอมคืนเงินส่วนนี้กลับเป็นของแผ่นดิน แสดงถึงการขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ
การจัดงบประมาณรวมศูนย์ที่ส่วนกลางเพียง “มอบงาน ไม่มอบอำนาจ” ให้ส่วนภูมิภาค งานซ้ำซ้อนกับท้องถิ่นที่รู้ปัญหาความต้องการของชุมชนท้องถิ่นดี พบว่างบประมาณที่ไปภูมิภาคจึงใช้สร้างสำนักงานเขตพื้นที่จำนวนมาก ผิดหลักการบริหาร สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะเป็นหน่วยงานวิชาการหรือหน่วยประสานราชการ มิใช่หน่วยปฏิบัติจึงไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ การจ่ายงบบุคลากรบุคคลกรและเป็นงบดำเนินการสูง ไม่มีหน่วยงานอิสระที่เป็นกลางประเมินผลความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์จริงหรือไม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3. หน่วยรับงบประมาณเมื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณในปีพ.ศ. 2564 หรือบางหน่วยหลายปีติดต่อกันที่มีจำนวนมาก รายงานงบการเงินและมีผลการตรวจสอบงบการเงิน “ไม่ถูกต้อง” คือผู้ตรวจสอบได้แสดงความเห็นในรายงานการเงิน แสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน หรือ แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขที่ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังกำหนด จะต้องแสดงความเห็น “อย่างไม่มีเงื่อนไข” จึงถือว่างบการเงินถูกต้อง

กรณีหน่วยรับงบประมาณที่รายงานการเงินไม่ถูกต้องน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 68) กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ ที่กระทรวงการคลังกำหนด หน่วยรับงบประมาณที่มีรายงานการเงินถูกต้องถือเป็นมาตราฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดต้องมีก่อนได้รับการจัดสรรงบประมาณว่าชอบด้วยกฎหมาย ในงบประมาณปี 2564 ที่ผ่านมา ได้พบว่ามีผลการตรวจสอบในรายงานของผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข งบการเงินไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน กับหน่วยรับงบประมาณจำนวนมาก ได้แก่
1.) แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข
อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ , สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี,สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย , กองทัพบก(กรมการเงินทหารบก) , กองทัพเรือ , ธนาคารออมสิน , กรมทางหลวง , กรมทางหลวงชนบท , สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม , กรมธนารักษ์ , สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมชลประทาน , กรมทรัพยากรธรณี , กรมทรัพยากรน้ำ, สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , กรมโยธาธิการและผังเมือง, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด , สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ , สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ฯลฯ

2.) แสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง
อาทิ หน่วยงานกรมกิจการเด็กและเยาวชน , กรมวิชาการเกษตร , กรมทรัพยากรน้ำบาดาล , กรมราชทัณฑ์ , กรมคุมประพฤติ , สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ

3.) ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน
อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง , กรมสรรพากร , กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร , สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมส่งเสริมการเกษตร , กรมฝนหลวงและการบินเกษตร , กรมป่าไม้ , กรมการปกครอง , สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย , กรมที่ดิน , กองทุนยุติธรรม , สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ฯลฯ

รายงานการเงินถูกต้องถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำก่อนที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่รัฐบาลไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยปะละเลยไม่ดำเนินการ จึงมีประเด็นสงสัยว่าการจัดงบประมาณชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเพื่อความโปร่งใสจำเป็นเปิดเผยข้อมูลรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีของหน่วยงานต่อสาธารณชนด้วย เพราะเงินงบประมาณเป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศจะต้องใช้อย่างถูกกฎหมาย และตรวจสอบได้

4. สัดส่วนของรายจ่ายประจำโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กลับสูงขึ้นกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ 2563 ทั้งที่ปีผ่านมาได้มีการตั้งข้อสังเกตถูกทักท้วงให้รัฐบาลต้องมีนโยบายปฏิรูประบบราชการ การลดงบบุคลากร งบดำเนินการที่ไม่จำเป็นลง เพื่อนำงบประมาณในส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับงบประมาณด้านการลงทุนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ เช่น ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตกระจายอำนาจให้ชุมชนหมู่บ้าน ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการศึกษา ด้านงานวิจัยและนวัตกรรม และด้านการสาธารณสุข เป็นต้น แต่ยังไม่มีแนวโนมที่จะลด เป็นการแสดงถึงมุ่งจัดงบแบบรัฐรวมศูนย์ ไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจรัฐบาลต้องพิจารณาทบทวนโครงสร้างภาครัฐ เพื่อควบรวมและลดจำนวนหน่วยรับงบประมาณที่มีภารกิจที่ทับซ้อนกัน เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน โดยพิจารณาถึงความคุ้มค่าของงบประมาณต่อการดำรงอยู่ของแต่ละหน่วยรับงบประมาณ

5. “เงินนอกงบประมาณ” คือเงินของแผ่นดินซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานจะต้องจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ที่มีจำนวนมากประมาณ 4 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมิการงบประมาณที่ผ่านมาได้ตั้งข้อสังเกต ในการจัดงบประมาณปีต่อไปควรกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งข้อมูลแผนงานและรายละเอียดการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่ผ่านการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบบัญชี โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งจะทำให้การพิจารณาจัดสรรงบประมาณเหมาะสมกับสถานะการเงินและการคลังของหน่วยงานนั้น ๆ

6. ข้อมูลประกอบการพิจารณางบประมาณ ที่กรรมาธิการขอไปส่วนใหญ่จะไม่ยอมส่งให้ จึงทำให้การพิจารณาไม่มีข้อมูลเพียงพอ ไม่มีความละเอียด ชัดเจน และมีมาตรฐานเดียวกัน ที่ผ่านมาได้ร้องขอทั้งสำนักงบประมาณ และหน่วยรับงบประมาณไป แต่ส่วนใหญ่รับปากในที่ประชุมแต่จะไม่ยอมส่งให้ ที่กรรมาธิการ ยิ่งในปีงบประมาณ 2565 มีหน่วยรับงบประมาณจำนวนมากถึง 802 หน่วยรับงบประมาณ จึงขอนำข้อเสนอของคณะกรรมิการฯในปีงบประมาณ 2564 ที่ต้องการเอกสารเพิ่มเติม คือ

สำนักงบประมาณ:
(1) รายงานที่จำแนกให้เห็นถึงจำนวนและสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำและงบประมาณค่าใช้จ่ายในการลงทุนของแต่ละหน่วยรับงบประมาณ
(2) รายงานข้อมูลการจัดสรรงบประมาณในมิติเชิงพื้นที่หรือรายจังหวัดเพื่อแสดงให้เห็นว่าในแต่ละพื้นที่หรือในแต่ละจังหวัด ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมกันจากทุกโครงการเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ สำหรับโครงการใดที่ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงลงไปเป็นรายพื้นที่ได้ ให้สรุปเป็นยอดรวมที่สามารถอ่านผลได้ง่าย
(3) รายงานข้อมูลเป้าหมายและผลลัพธ์ของตัวชี้วัด อย่างน้อย 5 ปีงบประมาณย้อนหลัง

หน่วยรับงบประมาณ:
(1) เอกสารงบการเงิน โดยมีหมายเหตุประกอบงบการเงิน รายงานของผู้สอบบัญชี และบัญชีทรัพย์สินย้อนหลังอย่างน้อย 5 ปี
(2) ข้อมูลรายละเอียดของแต่ละโครงการ อาทิ ข้อกำหนดขอบเขตงาน (TOR) สัญญาจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณก่อนหน้า เอกสารใบเสนอราคาเปรียบเทียบ หรือรายละเอียดรายการที่ใช้ในช่วงจัดทำคำของบประมาณต่อสำนักงบประมาณ
(3) เอกสารชี้แจงถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแหล่งที่มาของเงินนอกงบประมาณ พร้อมแผนงานและรายละเอียดการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(4) หน่วยงานควรนำส่งรายงานผลการศึกษาวิจัย หรือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาในช่วงริเริ่มก่อนทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (ถ้ามี) โดยควรเปิดเผยต่อสาธารณะ
(5) ในส่วนของการขอเอกสารเพิ่มในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หน่วยงานต่าง ๆ ควรต้องจัดส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในปีนั้น
(6) ข้อมูลของแผนงานบูรณาการควรแสดงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำคำของบประมาณ เช่น รายงานการประชุมร่วมของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้แผนงานเดียวกันและมีรูปแบบที่เหมือนกัน

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ประเด็นสำคัญต่างๆต้องรอรายละเอียดเมื่อได้ศึกษาเอกสารงบประมาณ 2565 ก่อนถึงจะสามารถแสดงความเห็นมิติต่างๆได้

ดูข่าวต้นฉบับ