หลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยเองกำลังติดกับคำว่า “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” เรายังคงวนเวียนอยู่ในกับดักนี้มากว่า 30 - 40 ปี เพราะเราทำอะไรแบบเดิม ๆ แต่สำหรับบางประเทศที่หลุดออกไปได้ ก็เพราะว่าเขาทำอะไรแตกต่างไปจากเดิม นั่นคือเขามี ‘การขับเคลื่อนระบบ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม’ แล้วประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้เมื่อไหร่ ? วันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ด้านการพัฒนาระบบและเครือข่าย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) จะมาบอกเล่าถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อการพัฒนาประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ ได้พูดถึงงานวิจัยและนวัตกรรมในสังคมไทยว่า ก่อนจะมองภาพรวมของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในสังคมไทย อยากให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า การวิจัย คือการไปศึกษาหาความรู้ใหม่ ในเรื่องที่เป็นคำถามแล้วยังไม่มีคำตอบ ส่วน นวัตกรรม คือการนำความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งนวัตกรรมก็เป็นได้หลายทาง ส่วนใหญ่เราจะนึกไปทางเชิงเศรษฐกิจ เชิงพาณิชย์ แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แค่นั้น นวัตกรรมทางสังคมก็มีเยอะ เวลาเจอปัญหาก็ต้องไปดูว่าอยู่ตรงไหน ไปศึกษาวิจัย แล้วเอาคำตอบมาแก้ปัญหาเชิงสังคม มาแก้นโยบายและกฎหมาย รวมถึงทำให้ชาวบ้านหรือชุมชนได้รับรู้อะไรใหม่ ๆ แล้วนำไปปรับเปลี่ยนปัญหาตรงนั้นได้ นี่คือนวัตกรรมทางสังคม
ภาพรวมตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังติดกับคำว่า “กับดัก” อยู่ 2 อันใหญ่ ๆ นั่นคือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกับดักความเหลื่อมล้ำ บางประเทศที่เขาหลุดออกไปได้ เขาทำอะไรแตกต่างไปจากเดิม นั่นคือเขาสร้างนวัตกรรม ถ้ามองย้อนกลับไป 30 - 40 ปีที่แล้ว ประเทศที่เคยอยู่ใกล้ ๆ เราอย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย รายได้เฉลี่ยต่อหัวใกล้เรามาก ๆ มาถึงตอนนี้เราเทียบเขาไม่ได้เลย ทำไมพวกเขาถึงแซงไปแล้ว ถ้าเราไปดูตัวเลขการลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของเขา จะเห็นว่าเขาลงทุนสูงมาก ถ้าถามว่าต่างกับบ้านเราขนาดไหน ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ที่ลงทุนกับงานวิจัย 4.6% ของ GDP ต่อปี ในขณะที่ของเราอยู่ประมาณ 1% เรายังลงทุนน้อยมาก เราอาจจะมองว่าการที่ใส่เงินวิจัยไป มันได้อะไรกลับมาหรือเปล่า คุ้มค่าหรือเปล่า ในบ้านเราอาจจะไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ แต่กลับกันประเทศที่เขาไปถึงตรงนั้นแล้ว เกาหลีใต้ อิสราเอล เขาลงทุนเยอะ เพราะเขารู้ว่ามันทำให้ประเทศของเขาไปถึงจุดนั้นได้ สำหรับประเทศไทยเอง วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่ช่วยเราปลดล็อคกับดักสองอันนี้ได้ ถ้าตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ที่ไทยเราตั้งเป้าเอาไว้ประมาณปี 2583 เราจะหลุดจากกับดัก และกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ แต่คำถามที่ท้าทายกว่านั้นคือ เราทำให้มันเร็วกว่านั้นได้หรือเปล่า มันก็มีแนวโน้มเร็วขึ้นมาเรื่อย ๆ
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวว่า จริง ๆ ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องของการวิจัยและนวัตกรรมมาตั้งแต่ 30 ปี ที่แล้ว มีการตั้งหน่วยงานสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการวิจัยและพัฒนาขึ้น 3 - 4 หน่วยงาน ได้แก่ สวทช. ที่อยู่ในหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(เดิม) และ สกว. ก็คือ สกสว. ในปัจจุบัน และ สวรส. หรือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เพราะในตอนนั้นประเทศไทยเริ่มเห็นแล้วว่าถ้าไม่มีการทำวิจัยและพัฒนาคงไม่ได้ เลยมีการตั้งหน่วยงานสำคัญเหล่านี้ขึ้นมา แต่พอผ่านมา 20-30 ปี เนื่องจากการเมืองไม่นิ่ง และเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนนี้มากนัก งบประมาณก็ไม่ได้มากหากเทียบกับงบประมาณภาครัฐส่วนอื่นที่ลงไป จน 2 ปีที่ผ่านมาเลยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เราควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ควบรวมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ควบรวมกับ สกว. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ให้มารวมในที่เดียว คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการเปลี่ยนกองทุนซึ่ง สกว. เดิมดูแล แทนที่จะให้ทุนเป็นรายโครงการ เปลี่ยนมาเป็นกองทุนที่ใช้ระบบจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมทั้งหมดของประเทศ เราทำให้เป็นภาพเดียวกันมากขึ้น มองไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ความคาดหวังก็คือ
1.ทิศทางต้องชัด เราต้องรู้ว่าจะลงทุนอะไร
2.เสนอข้อมูลในการจัดสรรงบประมาณ รู้ว่าเงินที่จะใส่ควรให้ใครทำ ใครที่เก่งตรงไหนหรือเก่งเรื่องอะไร
3.ดูภาพรวมประเทศในเชิงระบบ ทำอย่างไรเอกชนถึงจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรเอกชนถึงจะเอาผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะว่าแค่หน่วยงานรัฐไม่สามารถทำให้เกิดนวัตกรรมด้วยตัวเองได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐไม่ได้มีหน้าที่ทำผลงานแล้วเอาออกไปขาย คนที่ออกไปขายคือเอกชน เพราะงั้นทำยังไงให้เขาทำงานร่วมกัน ทำยังไงให้นักวิจัยมีเพิ่มมากขึ้น ในจำนวนที่ทัดเทียมกับต่างประเทศที่ทำการวิจัย ทำยังไงที่จะสร้างแรงจูงใจให้เขา อันนี้เป็นเรื่องเชิงระบบที่เราต้องทำ
“งานวิจัยมันไม่เหมือนงบการสร้างถนนที่ใส่เงินลงไปแล้วเห็นถนนเลย มันต้องการระยะเวลาการวิจัยต่อเนื่อง”
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวถึง วิธีการติดตามและประเมินผลงานวิจัยว่ามีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งคือดูผลลัพธ์ที่เราใส่เงินลงไป มันเกิดอะไรขึ้น ต้องมีการเก็บข้อมูลเป็นระบบ อันนี้เราก็อ้างอิงวิธีการทำงานของต่างประเทศ อีกส่วนของการติดตามประเมินผลที่สำคัญคือ หน่วยงานที่รับเงินไปแล้ว เขาส่งมอบได้หรือไม่ อีกมิติหนึ่งก็คือ มันจะเชื่อมโยงกับส่วนแรก เวลาเราดูว่าส่งมอบได้หรือไม่ได้ เราไม่ได้ประเมินเพื่อดูคุณหรือโทษอย่างเดียว มันต้องเป็นการประเมินด้วยการพัฒนา ทำยังไงถึงจะทำให้เขาพัฒนาและส่งมอบได้ นั่นคือหัวใจสำคัญของการประเมิน ตอนนี้ระบบนี้มันเพิ่งเริ่มเดิน เพราะฉะนั้นถ้าเดินไปข้างหน้าได้ตามที่เราคิดไว้ เราก็จะเห็นว่ารัฐลงทุนไปแล้วได้อะไรเกิดขึ้น คนที่ทำงานไปแล้วส่งมอบได้ไหม สามารถที่จะแสดงสมรรถนะตามที่ควรจะเป็นได้หรือไม่ และควรจะต้องพัฒนาเขายังไง อันนี้ก็คือภาพระบบติดตามประเมินผลที่เราวางไว้ แต่ต้องบอกให้เข้าใจว่า งานวิจัยมันไม่เหมือนงบการสร้างถนนที่ใส่เงินลงไปแล้วเห็นถนนเลย มันต้องการระยะเวลาการวิจัยต่อเนื่อง เช่น การพัฒนายาสักตัวอาจใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะออกมาเป็นยา จึงต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง และงานวิจัยมันไม่ใช่อะไรที่เอาไปสร้างของแล้วได้ผลออกมา บางอย่างมันก็ล้มเหลว จากที่เราศึกษามาทั่วโลกก็พบว่า อัตราการล้มเหลวมีร้อยละ 80 แต่อีก 20 ที่สำเร็จมันสร้างมูลค่ามหาศาลได้มากกว่า 100 ที่เราลงไป เพราะฉะนั้นมันต้องมีผลงานมากพอที่เราสามารถจะไปกรองของดีขึ้นมาได้
ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่จะปฏิรูประบบ เราลงทุนวิจัยแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้านึกตัวอย่างที่ใกล้ตัว อย่างถ้าไปปากช่อง มีไร่สุวรรณ มีน้ำนมข้าวโพดหวาน อันนี้เป็นพันธุ์ข้าวโพดที่เกิดจาการวิจัย ซึ่งมีผลกระทบมหาศาล หรืออย่างสถานการณ์ โควิด-19 ล่าสุด ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก เรื่องของการพบจำนวนผู้ติดเชื้อ การดูแลของเจ้าหน้าที่ เราพบว่าสาธารณสุขเราดีมาก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ อย่างที่บอกว่า 30 ปีที่แล้ว เราทำงานวิจัยเชิงระบบมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว มันมีการวิจัยแล้วเอาความรู้ตรงนี้ไปวางรากฐานระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ระบบคุณภาพของโรงพยาบาล เรื่องการผลิตบุคลากรการแพทย์ พวกนี้คือผลจากการวิจัยทั้งนั้น แม้ภาพประเทศไทยจะมีชื่อไม่ค่อยดีนักในการบริหารจัดการของภาครัฐ แต่เรารับมือกับโควิดได้ ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจ ติดเชื้อกันระนาว อันนี้ก็คือตัวอย่างชัด ๆ จากผลงานวิจัยที่เราสร้างไว้
สุดท้าย รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ ได้ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่และเด็กที่เลือกเรียนสายวิทย์ไว้ว่า ถึงแม้ตอนนี้เราจะเป็นประเทศที่ลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในสัดส่วนที่ไม่ได้สูงมาก แต่ถ้าไปดูภาพการลงทุน เราลงทุน 1% ของ GDP ซึ่งใน 1 % นี้รัฐลงทุนเอง ร้อยละ 20 อีก ร้อยละ 80 เอกชนลงทุน การที่เอกชนลงทุนตรงนี้ หมายความว่าเขาเห็นความสำคัญ บริษัททั่วไปเขาเห็นความสำคัญตรงนี้มาก ในประเทศไทยเอกชนเราก็ลงทุนสูงถึงร้อยละ 80 นั่นแปลว่าโอกาสของสายวิทย์ก็มีเยอะ เอกชนก็ต้องการคนที่มีความสามารถทางด้านนี้ คนที่สามารถทำวิจัยและนวัตกรรมได้ นี่คือความท้าทาย
ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีในอนาคตที่ยังไงเราก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิจัยและนวัตกรรมอย่างแน่นอน เพราะในเมื่อภาคเอกชนให้ความสนใจ ก็แปลว่ามันมีโอกาสที่อยู่ตรงนั้น รวมถึงในภาครัฐเอง หน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานก็ต้องการคนที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านนี้
สำหรับคนที่สนใจข่าวสารวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี งานวิจัยใหม่ ๆ ของไทย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://tsri.or.th และทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ สกสว.