ทั่วไป

"ม.มหิดล" สร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการสอนผลิตจักษุแพทย์คุณภาพ

สยามรัฐ
อัพเดต 24 ม.ค. 2566 เวลา 07.24 น. • เผยแพร่ 24 ม.ค. 2566 เวลา 07.24 น.

กว่าจะเป็นจักษุแพทย์ผู้รักษาดวงตาของผู้ป่วย แพทย์ประจำบ้านจะต้องผ่านการเรียนและฝึกฝนจนชำนาญกับครูแพทย์ พร้อมสื่อการสอนที่มากด้วยประสิทธิภาพ ก่อนรักษาผู้ป่วยจริง

ซึ่งสื่อการสอนที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องมาจากอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุด แต่อาจเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นเองโดยคนไทยเพื่อคนไทย ด้วยวัสดุที่หาได้ภายในประเทศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุภเลิศ ประคุณหังสิต อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับหน่วยหุ่นจำลองทางการแพทย์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์สร้างสรรค์นวัตกรรมลูกตาประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนสำหรับแพทย์ประจำบ้านศิริราช

ด้วยประสบการณ์จากทั้งการเป็นครูแพทย์ และแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย เมื่อหลอมรวมกับความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมสร้างสรรค์ฝ่ายผลิต ทำให้ได้นวัตกรรมสื่อการสอนลูกตาประดิษฐ์ที่แสดงลักษณะการบาดเจ็บของลูกตาในแบบต่างๆ ที่คล้ายของจริง เพื่อใช้เป็นโจทย์ในการฝึกวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วยสำหรับแพทย์ประจำบ้านได้อย่างเห็นผล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไม่ว่าจะบาดเจ็บด้วยสาเหตุใด ก็สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ลูกตาประดิษฐ์ให้เหมือนจริงได้โดยไม่ต้องนำเข้าสื่อการสอนราคาแพงจากต่างประเทศ สร้างโดยจำลองจากกรณีที่พบบ่อย อาทิ การบาดเจ็บของดวงตาจากอุบัติเหตุสัมผัสกับเศษไม้ และเศษเหล็กในโรงงาน เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กว่า 5 ปีที่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุภเลิศ ประคุณหังสิต ได้ร่วมกับทีมสร้างสรรค์นวัตกรรมปรับปรุงลูกตาประดิษฐ์ให้เป็นสื่อการสอนที่มีต้นแบบที่หลากหลายในทุกภาคการศึกษา โดยได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาผลงานสื่อการสอนคุณภาพดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมพัฒนาต่อยอดรอยโรคต้นแบบเพื่อใช้ในการศึกษาขั้นสูงขึ้นไป อาทิ โรคมะเร็งจอประสาทตา เป็นต้น

โดยทั่วไปเมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มีการตัดหญ้าด้วยเครื่องกล ผู้สัญจรที่อยู่ในรัศมีของการเหวี่ยงกระจายของเศษหญ้า หิน ดิน ทราย จะรับอันตรายได้มากกว่าผู้ตัดหญ้าเอง เนื่องจากเป็นการเหวี่ยงออก

ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดเพื่อลดการบาดเจ็บและสูญเสียดวงตา คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ใกล้จุดเสี่ยง และควรสวมใส่แว่นป้องกันขณะทำงาน หรือต้องเข้าใกล้รัศมีการเหวี่ยงกระจายของเศษวัสดุต่างๆ ที่อาจทำอันตรายต่อดวงตา

ไม่ว่าดวงตาจะได้รับอุบัติเหตุจากสาเหตุใดๆ ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา ไม่ควรใส่ยาทำแผลเอง โดยผู้วิจัยหวังพัฒนานวัตกรรมสื่อการสอนลูกตาประดิษฐ์ให้เป็น "มรดกทางปัญญา" ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ห่างไกลภาวะสูญเสียดวงตา สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และร่วมพัฒนาประเทศชาติสู่ความยั่งยืน จากการลดการนำเข้า และพึ่งพาตัวเอง สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สู่การเป็นจักษุแพทย์คุณภาพต่อไป

ดูข่าวต้นฉบับ