ไลฟ์สไตล์

เปียโนแมว-เครื่องดนตรีหนังแมว ประวัติศาสตร์ดนตรี ที่ทาสแมวไม่อยากได้ยิน

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 10 พ.ย. 2566 เวลา 02.40 น. • เผยแพร่ 09 พ.ย. 2566 เวลา 08.36 น.

ประวัติศาสตร์ของ “ดนตรี” กับ “แมว” ที่ทาสแมวไม่อยากเห็น เมื่อญี่ปุ่นมี “ซามิเซ็ง” เครื่องสายทำจาก “หนังแมว” และตะวันตกก็มี “เปียโนแมว”

ช่วงปลายยุคหินเก่า มนุษย์ในวัฒนธรรมออริกนาเซียน (Aurignacian culture) เจาะกระดูกสัตว์ป่าที่จับได้มาทำเครื่องเป่าชิ้นแรกในประวัติศาสตร์ นับแต่นั้นมา พัฒนาการด้านดนตรีของมนุษย์ก็ดูเหมือนจะตามมาด้วยการเข่นฆ่าอันโหดร้าย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังจะเห็นได้จากคันชักไวโอลินที่ทำจากกระดูกวาฬ สายไวโอลินที่ทำจากลำไส้ของแพะ แกะ หรือ วัว ปิ๊กกีตาร์ที่ทำจากกระดองเต่า หน้ากลองขนาดใหญ่ที่ทำจากหนังควาย ฯลฯ

เบื้องหลังการยกระดับจิตวิญญาณและการพัฒนาวัฒนธรรมผ่านเครื่องดนตรี กลับต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ในจำนวนนั้น “แมว” คือผู้พลีชีพรายหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรี

แมว มีอิทธิพลต่อดนตรีไม่น้อย อาทิ เพลง Duetto buffo di due gatti ประพันธ์โดยโจอาคิโน อันโตนิโอ รอสซินี (Gionchino Antonio Rossini) คีตกวีชาวอิตาลี, เพลง The Waltzing Cat ของเลอรอย แอนเดอร์สัน (Leroy Anderson), เพลง The Year of The Cat ของอัล สจ๊วต (AI Stewart) ฯลฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซามิเซ็ง “หนังแมว”

การนำแมวมาทำเครื่องดนตรี เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เช่นเครื่องสายพื้นบ้านที่มีชื่อของญี่ปุ่นอย่าง “ซามิเซ็ง” ทำจาก “หนังแมว” ทั้งตัว

ซามิเซ็ง เป็นเครื่องดนตรีมีพื้นฐานมาจาก “ซานเสียนฉิน” ของจีน ที่เผยแพร่เข้ามาสู่อาณาจักรริวกิว โดยปกติเครื่องดนตรีจีนโบราณมักใช้ “หนังงูเหลือม” ทำเป็นแผ่นขึงหุ้มซอ (เช่น เอ้อร์หู) ดังนั้น ซามิเซ็งในช่วงแรกจึงใช้หนังงู แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า งูมีสถานะค่อนข้างสูง จึงนำหนังแมวมาใช้ทดแทน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดังนั้น หากพินิจดูซามิเซ็งที่ทำขึ้นในสมัยโบราณอย่างละเอียด จะพบว่ามีจุดสีดำเล็กๆ หลายจุดเรียงกันในลักษณะสมมาตร ซึ่งแท้จริงแล้วจุดดำเหล่านี้มิใช่คราบเปื้อน แต่เป็นร่องรอยหัวนมบนท้องแมวที่หลงเหลือมา

ต่อมา เนื่องจากซามิเซ็งเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตเครื่องสายจำนวนมากจึงเริ่มหันมาใช้ “หนังสุนัข” ที่หาได้ง่ายกว่าแทนหนังแมว

จุดที่น่าสนใจก็คือ ซามิเซ็งที่ทำจากแผ่นหนังส่วนหลังของสุนัข ไม่มีจุดสีดำเล็กๆ จัดเรียงอย่างสมมาตร ผู้ผลิตเครื่องสายหลายราย จึงไม่เพียงพยายามคัดเลือกหนังสุนัขที่มีลักษณะคล้ายกับหนังของแมว เพื่อให้ผลงานของพวกเขาดูเป็น “ของแท้” ยังมีการแต้มจุดสีดำบนหนังสุนัขเป็นพิเศษ เลียนแบบหนังแมวอีกด้วย

เปียโนแมว สะท้อนความดิบของมนุษย์

นอกจาก “หนัง” ของแมวที่เสียชีวิต แมวเป็นๆ ยังเป็นส่วนประกอบของเครื่องดนตรีอย่าง “เปียโนแมว”

เปียโนแมว (Cat Piano) เรียกอีกอย่างว่า หีบเพลงแมว (Cat Organ) เครื่องดนตรีชนิดนี้ไม่เพียงแต่ทำเสียงแมวได้เท่านั้น หากยังสะท้อนสันดานดิบเถื่อนของมนุษย์อีกด้วย

โครงสร้างของเครื่องดนตรีดังกล่าวค่อนข้างเรียบง่าย อันดับแรก นำแมวมาวางในกล่องเปียโนตามระดับเสียงร้องของพวกมัน และยึดหางเอาไว้ใต้แป้นนิ้ว จากนั้นต่อตะปูยาวกับปลายแป้นนิ้วเข้าด้วยกัน เมื่อผู้เล่นกดแป้นเปียโน ตะปูยาวจะตอกลงที่หางของแมว ทำให้แมวส่งเสียงร้องคร่ำครวญอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ยังไม่อาจสรุปแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้คิดค้นเปียโนแมว คิดค้นขึ้นเมื่อใด รวมถึงแรงจูงใจในการออกแบบดังกล่าวเกิดจากความรักต่อเสียงร้องของแมว หรือเป็นเพราะความอาฆาตพยาบาทกันแน่

ฌอง-บาปติสต์ เวกแกร์แล็ง (Jean-Baptiste Weckerlin) นักแต่งเพลงและผู้จัดพิมพ์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 กล่าวในหนังสือ “มูซิเชียนา-บทคัดย่องานหายากหรืองานแปลก เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย จดหมาย ฯลฯ เกี่ยวกับดนตรีและนักดนตรี” (Musiciana: Extraits d’Ouvrages Rares Ou Bizarres, Anecdotes, Lettres, Etc. Concernant La Musique Et Les Musiciens) ของเขาว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้มีมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 16

ใน ค.ศ. 1549 เมื่อพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน เสด็จไปเยี่ยมสมเด็จพระจักรพรรดิชาร์ลส์ ที่ 5 พระราชบิดาของพระองค์ในกรุงบรัสเซลส์ พระองค์เห็นขบวนพาเหรดที่ค่อนข้างแปลกบนท้องถนน หัววัวที่กำลังไหม้ไฟ ปีศาจตัวเตี้ย ม้าไร้หาง เด็กชายสวมหนังหมี และเทวทูตสวมชุดสีสดใสปรากฏขึ้นในขบวนทีละคน ในรถม้าสี่ล้อคันหนึ่ง มีเสียงเพลงแปลกๆ ที่ไม่คาดคิด บรรเลงออกมาพร้อมกับขบวนพาเหรด น้ำเสียงเศร้าและแหลม จนทำให้ผู้คนสงสัยว่ามาจากเครื่องดนตรีประเภทใด

ที่แท้มันคือหีบเพลง แต่ที่ที่ควรจะเป็นท่อลมเสียง ถูกแทนที่ด้วยหัวของแมว 16 ตัว เมื่อกดแป้น แมวจะเริ่มร้องครางเมื่อเสียงคร่ำครวญค่อยๆ ประสานเป็นเพลง ทั้งลิง หมาป่า และสัตว์อื่นๆ ในป่าก็ทยอยโผล่ออกมาทีละตัวเต้นรำไปพร้อมกับเสียงเพลงจากนรก…

แม้ว่าคำบอกเล่าของเวกแกร์แล็งจะเหมือนตำนานพื้นบ้านมากกว่า แต่ก็ยังถ่ายทอดถึงความพิลึกพิลั่นของ “เปียโนแมว” มีหลายคนเชื่อว่าเปียโนประหลาดนี้เป็นเครื่องดนตรีที่แม่มดเล่นในวันสะบาโต และยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาและการบูชาซาตาน อย่างไรก็ดี เมื่อนักประวัติศาสตร์สืบค้นต้นกำเนิดต่อไป ก็พบว่าเครื่องดนตรีที่โหดร้ายนี้อาจเคยมีประสิทธิผลเช่นเดียวกับ “ดนตรีบำบัด” ในปัจจุบัน

บุคคลแรกในประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเปียโนแมวในงานเขียน คือ อธานาซิอุส เคียร์เชอร์ (Athanasius Kircher) นักวิชาการชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 17 งานเขียนของเคียร์เชอร์ในปี ค.ศ. 1650 เน้นย้ำว่ามีความเป็นไปได้ที่ “เปียโนแมว” จะมีผลต่อการรักษาความผิดปกติทางอารมณ์

“เครื่องดนตรีที่ชาญฉลาดอย่างยิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นไม่นานมานี้เพื่อขจัดภาวะซึมเศร้า…แมวที่มีชีวิตขนาดต่างๆ กันจะถูกวางไว้ในกล่องออกแบบพิเศษ พร้อมทั้งวางวัตถุแหลมไว้ใกล้หางของพวกมัน เมื่อกดแป้นเปียโน วัตถุแหลมเหล่านี้จะทิ่มแมวให้ร้องออกมาเป็นระดับเสียงที่ไม่เหมือนกัน เสียงร้องของแมวเหล่านี้บางครั้งก็กลมกลืนกัน บางครั้งก็เจ็บปวด บางครั้งโกรธ บางครั้งเศร้า ซึ่งการบรรเลงที่ไม่ธรรมดาเช่นนี้สร้างความบันเทิงอันยอดเยี่ยม…”

ไม่กี่ปีต่อมา กัสปาร์ ช็อตต์ (Gaspar Schott) เพื่อนร่วมงาน และลูกศิษย์ของเคียร์เชอร์ ยังได้วาดภาพลักษณะที่แท้จริงของ “เปียโนแมว” ในหนังสือเรื่อง “เวทมนตร์ธรรมชาติ” (Magia Naturalis) ของเขา เครื่องดนตรีดังกล่าวเป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยม แป้นนิ้วและหัวของแมวทั้ง 9 ตัวถูกวางขนานกับ 2 ด้านของกล่อง หลังจากมีการรับรองของ “ผู้มีอำนาจ” เครื่องดนตรีชิ้นนี้จึงค่อยๆ กลายเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่แพทย์บางคนสนใจ

โยฮันน์ คริสเตียน ไรล์ (Johann Christian Rel) นักจิตวิทยาชาวเยอรมันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยแนะนำการใช้เปียโนแมวในด้านจิตวิทยาคลินิก เขาให้เหตุผลว่า เสียงและรูปลักษณ์ของเปียโนแมวมีความพิเศษที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสมาธิดีขึ้น

การนำแมวมาทำเครื่องดนตรี ไม่ว่าจะเป็นด้วยความจำเป็นทางการแพทย์ หรือเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียวก็ดี อาจดูเป็นเรื่องโหดร้าย แต่ก็ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสำรวจโลกมนุษย์ก่อนยุคเรืองปัญญา หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ใน ค.ศ. 2010 เฮนรี แดกก์ (Henry Dagg) นักดนตรีแนวทดลองชาวอังกฤษ นำรูปสัณฐานของ “เปียโนแมว” มาแสดงอีกครั้งในงานปาร์ตี้ในสวน ซึ่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นเจ้าภาพ เขานำตุ๊กตาแมวขนปุยจำนวนสิบกว่าตัวที่กดปุ่มแล้วส่งเสียงแบบแมวมาเทียบระดับสียง และจัดเรียงตามลำดับบนแป้นเปียโน

แดกก์ใช้ “เปียโน (ตุ๊กตา) แมว” เล่นเพลง Over the Rainbow ที่ไม่เพียงสร้างความบันเทิงได้ยอดเยี่ยม แต่ยังเรียกเสียงหัวเราะจากเจ้าภาพและแขกได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดย่อเรียบเรียงจาก หูชวนอัน-เขียน, อารยา เทพสถิตย์ศิลป์-แปล. ย้อนรอยโฮ่งตามเหมียว, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2565

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2565

ดูข่าวต้นฉบับ