"บิ๊กตู่" ปลื้ม 3 เดือน "ส่งออกทุเรียนไปจีน" โกยเงินกว่า 1 แสนล้านบาท มั่นใจปี 66 ส่งออกผลไม้เศรษฐกิจตามเป้า 4.44 ล้านตัน กว่า 2 แสนล้านบาท
วันนี้ (17 พฤษภาคม 2566) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลยอดการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ในช่วงฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก 2566 รวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
2เดือน ส่งออกทุเรียนไปจีนกว่าแสนล้านบาท
การส่งออกทุเรียนในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนทั้งสิ้น 25,000 ตู้คอนเทนเนอร์ มีน้ำหนัก 4.5 แสนตัน สร้างมูลค่าการส่งออกกว่าแสนล้านบาท
โดยใช้เส้นทางการส่งออก ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศรวมทั้งเส้นทางขนส่งทางรถไฟ โดยผลการดำเนินการส่งออกเกินเป้าหมายทำยอดสูงสุด เกินกว่าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าไว้ รวมถึงทุเรียนไทยยังสามารถครองสัดส่วนตลาดในจีนได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่า 90%
และกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจว่าปี 2566 จะสามารถส่งออกผลไม้เศรษฐกิจ ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ ได้ตามเป้าหมาย คือ 4.44 ล้านตัน สร้างเงินให้ประเทศและเกษตรกรกว่า 2 แสนล้านบาท
ขึ้นทะเบียน GI ทุเรียนทะเลหอย จังหวัดกระบี่
นอกจากนี้ รัฐบาลส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) ให้กับสินค้าไทย เพื่อเพิ่มโอกาส เพิ่มมูลค่า คงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า
ซึ่งมีสินค้าเกษตรทุเรียนจากภาคใต้ชนิดใหม่ ได้รับการจดทะเบียนเพื่อให้เป็นที่รู้จัก สร้างรายได้ให้ชุมชน ได้แก่ ทุเรียนทะเลหอย ปลูกในอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพดีและมีลักษณะโดดเด่น คล้ายทุเรียนผสมครีมหรือนมสด เนื้อสัมผัสแห้ง เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีติดตาม ชื่นชมการทำงานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่ช่วยรักษาคุณภาพของทุเรียนในการส่งออกเพื่อให้ตรงตามมาตรฐาน พร้อมร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยมาอย่างต่อเนื่อง
โดยรัฐบาลจะสนับสนุนผลักดันการขึ้นทะเบียน GI เน้นระบบควบคุมคุณภาพสินค้า ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของสินค้า รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขาย และขยายช่องทางการตลาดทุกรูปแบบ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยเพื่อความยั่งยืน
อ่านขาวเพิ่มเติม