ทั่วไป

"ละว้าโมเดล" ต้นแบบเอาชนะโรค "พยาธิใบไม้ในตับ" ลดผู้ติดพยาธิเหลือ 3%

คมชัดลึกออนไลน์
อัพเดต 20 ม.ค. 2565 เวลา 09.14 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2565 เวลา 08.38 น.

"ละว้าโมเดล" โมเดลเอาแก้ปัญหาโรค "พยาธิใบไม้ในตับ" แก้ปัญหาใหญ่ด้านระบบสาธารณะสุขในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันช่วยลดอัตราผู้ติดพยาธิเหลือเพียง 3%

ประชากรไทยกว่าร้อยละ 9.4 หรือประมาณ 6 ล้านคนทั่วประเทศมีการติดเชื้อ "พยาธิใบไม้ในตับ" โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลักฐานทางระบาดวิทยาและการศึกษาทดลองสนับสนุนว่าการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี นอกจากนี้มะเร็งตับและท่อน้ำดียังเป็นชนิดมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดในบรรดามะเร็งชนิดต่างๆ สูงกว่า มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งปากมดลูก โดยในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีกว่า 26,000  คน หรือประมาณ 70 คน ต่อวัน คิดเป็นเกือบร้อยละ 5 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็งตับทั่วโลกที่มีประมาณปีละ 600,000 คน นับเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะยากจนในชนบทของภาคอีสานและภาคเหนือ  นอกจากนั้นยังประมาณการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับกว่า 12 ล้านคนในประเทศในลุ่มน้ำโขง โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับจึงนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทยและของภูมิภาค

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในปี พ.ศ. 2550 ศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Tropical Disease Research Center at Khon Kaen University: TDRC) จึงได้บุกเบิกการควบคุมป้องกันโรค "พยาธิใบไม้ในตับ" แบบบูรณาการวิถีนิเวศสุขภาพ (EcoHealth/One Health) ณ ชุมชนรอบแก่งละว้า ซึ่งอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มาทำงานรวมกันในหลายมิติ อาทิ กระบวนการควบคุมโรคประกอบด้วยการถ่ายพยาธิทุกคนที่ติดเชื้อ การให้ความรู้แก่ชุมชนและโรงเรียนอย่างเข้มข้นเพื่อให้ตระหนักถึงพิษภัยโรค "พยาธิใบไม้ในตับ" และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการการบริโภคปลาดิบ การตรวจและรักษาพยาธิใบไม้ตับในสัตว์รังโรค (สุนัขและแมว) รวมถึงการสำรวจสัตว์พาหะตัวกลาง โดยดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี จนประสบความสำเร็จสามารถลดอัตราผู้ติดเชื้อพยาธิ "พยาธิใบไม้ในตับ" เหลือต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนปลาในแก่งละว้าที่มีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับจาก 70 % เหลือน้อยกว่า 0.1%

 
สู้ "พยาธิใบไม้ในตับ" ด้วย "ละว้าโมเดล"

ชุมชนบ้านละว้า เป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแก่งละว้าซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มมน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ประมาณ 7,000 ไร่ ในจังหวัดขอนแก่น มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่เพาะพันธ์ปลาน้ำจืดมากมาย ประชาชนในพื้นที่นี้จึงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการหาปลาจากแก่งละว้าเพื่อนำไปขายและบริโภค อย่างไรก็ดีความนิยมในการบริโภคปลาน้ำจืดแบบดิบๆ ซึ่งอาจมีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับในระยะติดต่ออาศัยอยู่ ส่งผลให้ในอดีตพื้นที่นี้มีอัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับสูงมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นางสาวพจนีย์ ศรีสด นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเมืองเพีย กล่าวว่า "จากการสืบค้นข้อมูลในปี 2551 พบว่ามีประชากรที่ติดพยาธิใบไม้ตับ 70% ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ  และหลังจากที่เริ่มดำเนินโครงการมาจำนวนประชากรที่ติดเชื้อได้ลดลง โดยในปี 2563 เหลือผู้ติดพยาธิเพียง 9%  สะท้อนให้เห็นว่าโครงการทำให้เห็นผลอย่างชัดเจน ประชาชนเริ่มซึมซับและเข้าใจว่าการกินปลาดิบสามารถส่งผลต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเองได้พยายามให้ข้อมูลแก่ชาวบ้าน และทางโครงการได้ผลักดันในการช่วยค้นหาผู้ที่ติดพยาธิและรักษา ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีลดลงได้อย่างรวดเร็วจะเห็นได้ว่าโครงการได้ช่วยตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้เป็นอย่างดี"

 

องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานได้นำไปสู่ "ละว้าโมเดล" ต้นแบบความสำเร็จในการควบคุมป้องกันโรคพยาธิไม้ในตับ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ หมู่บ้านละว้าและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านละว้าได้กลายเป็นสถานที่ดูงานด้านการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับแบบบูรณาการของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจากทั่วประเทศและต่างประเทศเป็นประจำทุกปีหลักการของ "ละว้าโมเดล/สุขภาพหนึ่งเดียว" ได้ถูกนำไปใช้เป็นคำแนะนำ (Recommendation) ในการควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้จากอาหาร ขององค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก สำหรับใช้ในประเทศที่มีการระบาดของพยาธิใบไม้ในภูมิภาคนี้ โดยปัจจุบันหลักการ “ละว้าโมเดล” ยังได้รับการนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ส่งต่อองค์ความรู้สู่ภูมิภาคด้วย "ละว้าโมเดลออนไลน์"

 

โครงการ "สร้างเสริมองค์ความรู้สุขภาพหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (Strengthening One Health Education in Southeast Asia) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเชฟรอนและเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโอฮุน (Southeast Asia One Health University Network: SEAOHUN) ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเผยแพร่เรื่องราวความสำเร็จของ "ละว้าโมเดล" ให้กับบุคลากรสาธารณสุข ปศุสัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งหวังให้เกิดการนำเอาแนวความคิดแบบละว้าโมเดล ไปปรับใช้ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ และโรคระบาดต่างๆ ในชุมชนและประเทศของตน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งสามหน่วยงานได้เปิดตัวโครงการ "ละว้าโมเดลออนไลน์" ที่ได้พัฒนาองค์ความรู้ของละว้าโมเดลเป็นบทเรียนออนไลน์ที่มีเนื้อหาเหมาะกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการรุ่นใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เข้าถึงได้ง่ายบนช่องทางออนไลน์

 

ศ.ดร. บรรจบ ศรีภา ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา ละว้าโมเดลสามารถควบคุมและป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก จึงควรมีการเผยแพร่แนวทางของละว้าโมเดลไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งในหลายพื้นที่มีโรคพยาธิใบไม้ในตับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ  ศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ร่วมมือกับเชฟรอนและซีโอฮุน ในการพัฒนาหลักสูตรละว้าโมเดลออนไลน์ เพื่อให้บุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้ามาเรียนรู้และรับการอบรมผ่านระบบออนไลน์ และเมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ก็จะให้ผู้เข้าอบรมจากประเทศต่างๆ ได้มาศึกษาดูงานที่บ้านละว้าอีกครั้ง เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ของละว้าโมเดลและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน” 

 

ดร.วิพัฒน์ คุรุจิตรธรรม ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ชุมชนบ้านละว้าเป็นแบบอย่างที่ดีในการแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างเป็นระบบ และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ ซีโอฮุนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเชฟรอน เพื่อพัฒนาหลักสูตรละว้าโมเดลออนไลน์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ละว้าโมเดลและการประยุกต์ใช้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวให้กับ 8 ประเทศสมาชิกได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย และบุคลากรต่าง ๆ ที่สนใจ เพื่อไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพชุมชนของตนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป"
 

ดูข่าวต้นฉบับ