เมื่อทุกคนเกิดมา ก็มีนักษัตรประจำปีเกิดติดตัวมาด้วย ปีนักษัตร เป็นภูมิความรู้ที่มีมาแต่โบราณ มีอิทธิพลในประเทศทางตะวันออก ปีนักษัตรมีความสำคัญกับวิถีชีวิตผู้คน เพราะนอกจากจะเป็นหมุดบอกเวลา ยังเป็นฤกษ์ยามส่งสัญญานบางอย่างแก่ผู้คน สัตว์ประจำปีนักษัตรทั้ง 12 ชนิด ได้แก่ หนู, วัว, เสือ, กระต่าย, มังกร, งู, ม้า, แพะ, ลิง, ไก่ และหมู มีความแตกต่างตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศจีน วัฒนธรรมด้านนักษัตรของจีนมีประวัติมายาวนาน และแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวัน
วัฒนธรรมด้านนักษัตรของจีน ไม่เพียงแต่มีประวัติอันยาวนานในอดีตเท่านั้น แม้แต่ในปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวจีน ตัวอย่างเช่น เมื่อคนจีนพบเจอกัน แทนที่จะถามถึงอายุ กลับถามว่าเกิดปีนักษัตรอะไร แล้วคำนวณอายุตามลำดับของ 12 นักษัตร ซึ่งนอกจากจะทราบอายุของอีกฝ่ายแล้ว คนจีนยังชอบทายนิสัยใจคอจากนักษัตร จากนั้นก็พยากรณ์เรื่องหน้าที่การงาน คู่ครอง ความรัก โชคลาภ และสุขภาพจากนักษัตรนั้นๆ อีกเช่นกัน
ปัจจุบันมีหลักฐานข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่า คติ 12 นักษัตรนั้นกำเนิดขึ้นก่อนสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) นั่นคือความคิดเรื่องนักษัตรได้เกิดขึ้นในจีนก่อน ค.ศ. 25 แล้ว หวางชงที่อยู่ในสมัยฮั่นตะวันออกได้เขียนไว้ใน “ลุ่นเหิง” บรรพอู้ซื่อว่า “ยามหยินคือไม้ สัตว์ประจำของหยินคือเสือ ยามซวีคือดิน สัตว์ประจำของซวีคือสุนัข…ยามอู่คือม้า จื่อคือหนู ยามโหย่วคือไก่ ยามเหมาคือกระต่าย… ยามไฮ่คือสุกร ยามเว่ยคือแพะ ยามโจ๋วคือวัว…ยามซื่อคืองู ยามเซ็นคือลิง”
ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 420-589) กวีเสิ่นจุ่งได้แต่งกลอน 12 นักษัตร ไว้บทหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกวีที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละนักษัตร คำขึ้นต้นของแต่ละวรรคจะเป็นการเรียงนักษัตรหนูไปจนถึงสุกร ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายของการกำเนิดวัฒนธรรมนักษัตรแบบหนึ่งได้เช่นกัน
หนูคลานไปบนโต๊ะเปื้อนขี้ฝุ่น
วัวกลับคืนคอกในยามสนธยา
เสือคำรามกึกก้องทั่วทั้งป่า
กระต่ายบนจันทราอยู่นอกหน้าต่าง
มังกรอยู่ในที่ลึกและชิ้น
งูชอบห้อยต้นหลิวโยกกิ่งไกว
ม้ากระโจนตามทุ่งบุปผานานาพันธุ์
แพะได้อิ่มหนำฤดูแห่งวสันต์
ลิงแทะเกาลัดกันอย่างสำราญใจ
ไก่คุ้ยเขี่ยอาหารข้างลำธาร
สุนัขเฝ้าบ้านขโมยไม่กล้ำกราย
สุกรขี้คร้านมีแต่จะรอวันตาย
ในโลกนี้มีสัตว์อยู่มากมาย เหตุใดคนโบราณจึงได้เจาะจงเลือกเอาหนู วัว เสือ กระต่าย มังกร งู ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข และสุกร เป็นสัตว์ประจำของแต่ละนักษัตรล่ะ
ใน 12 นักษัตรประกอบด้วยสัตว์เลี้ยง 6 ประเภท คือ ม้า วัว แพะ ไก่ สุนัข และสุกร เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ที่เข้าใจยากคือ เหตุใดจึงเลือกเอาสัตว์อีก 6 ชนิดมาเป็นปีนักษัตร มังกรเป็นแค่สัตว์ในตำนานเท่านั้น ส่วนการเลือกหนู แทนที่จะเลือกแมวเป็นปีนักษัตรยิ่งดูไม่มีเหตุผล เกี่ยวกับการเลือกสัตว์ 12 ชนิดนี้เป็นปีนักษัตรนั้นมีการอธิบายหลายสำนัก คำอธิบายที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลก็คือ “เลือกตามช่วงเวลาการเคลื่อนไหว” กล่าวคือ การเลือกสัตว์ 12 ชนิดนี้มาเป็นปีนักษัตรและการจัดลำดับก่อนหลังนั้น มีส่วนเกี่ยวพันกับเวลาการเคลื่อนไหว (หัวตง) ที่เป็นพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์เหล่านั้นเป็นสำคัญ
คนโบราณแบ่งเวลาในหนึ่งวันหนึ่งคืนออกเป็น 12 ชั่วยาม ซึ่งเท่ากับ 24 ชั่วโมงของปฏิทินสุริยคติ 1 ชั่วยามเท่ากับ 2 ชั่วโมง และ 12 ชั่วยามก็จับคู่กับ 12 ตี้จือ ดังนี้
ลำดับ ปีนักษัตร เวลา ชื่อยาม 1 หนู/ชวด 23.00-01.00 น. ยามจื่อ 2 วัว/ฉลู 01.00-03.00 น. ยามโฉ่ว 3 เสือ/ขาล 03.00-05.00 น ยามหยิน 4 กระต่าย/เถาะ 05.00-07.00 น. ยามเหมา 5 มังกร/มะโรง 07.00-09.00 น. ยามเฉิน 6 งู/มะเส็ง 09.00-11.00 น. ยามซื่อ 7 ม้า/มะมีย 11.00-13.00 น . ยามอู่ 8 แพะ/มะแม 13.00-15.00 น. ยามเว่ย 9 ลิง/วอก 15.00-17.00 น. ยามเซิน 10 ไก่/ระกา 17.00-19.00 น. ยามโหย่ว 11 สุนัข/จอ 19.00-21.00 น. ยามซวี 12 สุกร/กุน 21.00-23.00 ยามไฮ่
ยามจื่อเป็นช่วงที่หนูออกมาหากินอย่างแข็งขัน ซอกแซกหากินไปทั่ว เลยใช้หนูคู่กับยามจื่อ ยามโฉ่วเป็นตอนที่วัวเคี้ยวเอื้อง เลยให้วัวคู่กับยามโฉ่ว ยามหยินเป็นยามที่เสือออกเพ่นพ่าน อาละวาดและดุดัน เสือจึงคู่กับยามหยิน ยามเหม่าพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น และยังเห็นพระจันทร์อยู่บนท้องฟ้า ตามตำนานเล่าว่ามีกระต่ายหยกบดยาอยู่บนดวงจันทร์ จึงให้กระต่ายคู่กับยามเหม่า ยามเฉินตามตำนานคือมังกรจะร่ายรำให้เกิดฝน จึงให้มังกรคู่กับยามเฉิน ยามซื่อนั้นงูเลื้อยไปมาตามพงหญ้าเพื่อหาอาหาร จึงให้งูคู่กับยามซื่อยามอู่คือยามเที่ยง มีแต่ม้าที่เวลานอน จะยืนนอน จึงให้ม้าคู่กับยามอู่ ยามเว่ยนั้นเป็นช่วงที่แพะปัสสาวะบ่อยที่สุด จึงให้แพะคู่กับยามเว่ย ยามเซินนั้นเป็นช่วงที่ลิงชอบส่งเสียงร้อง จึงให้ลิงคู่กับยามเซิน ยามโหย่วเป็นยามที่ไก่พากันกลับมาเข้าเล้า จึงให้ไก่คู่กับยามโหย่ว ยามซวีเป็นช่วงเริ่มต้นที่สุนัขต้องคอยเฝ้าบ้านช่องให้แก่เจ้าของ สุนัขจึงคู่กับยามซวี ส่วนยามไฮ่นั้นเป็นช่วงที่สุกรนอนแล้วจะอ้วนพีได้เนื้อเยอะ เลยให้สุกรคู่กับยามไฮ่
แน่นอนว่าที่กล่าวมานี้ก็มีส่วนที่จับแพะชนแกะอยู่บ้าง ทำให้เป็นคำอธิบายบ้างอันที่ดูฝืดๆ
นอกจากนี้ การเลือกนักษัตรและลำดับก่อนหลังก็คงมิได้เสร็จสมบูรณ์ลงในคราวเดียว คงจะผ่านการปรับเปลี่ยนตามกาลเวลาที่ผ่านไป
เวลาคนจีนพูดถึงนักษัตร จะเอาปีที่เกิดเป็นหลัก ส่วนคนตะวันตกเวลาพูดถึงราศี จะใช้เดือนเป็นเกณฑ์ เพราะโหราศาสตร์ของตะวันตกนั้น เวลาคนคนหนึ่งเกิด ตำแหน่งของดวงดาวประจำราศีในวงโคจร จะแสดงถึงลักษณะนิสัยโดยกำเนิด และพรสวรรค์ของคนคนนั้น เพราะฉะนั้น กลุ่มดาว 12 ราศีจึงเป็นตัวแทนของนิสัยใจคอของคน 12 แบบ ส่วนนักษัตรของจีนก็มีวิธีการนับแบบนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเรื่องที่เกี่ยวกับชะตาหรือดวงของคนเรานั้นควรจะฟังหูไว้หู
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อข้อมูลจาก โจวเซี่ยวเทียน-เขียน, รศ. อาทร ฟุ้งธรรมสาร-แปล. เปิดตำนาน 12 นักษัตรจีน, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2565