เช็คความเชื่อเรื่อง "หน่อไม้" ชอบกินหน่อไม้เยอะ ๆ จะเป็นอะไรมั้ย? คำถามยอดฮิตสำหรับผู้ที่ชอบทาน "หน่อไม้" เป็นชีวิตจิตใจ แต่ "หน่อไม้" มักอยู่ในรายชื่ออาการที่ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยแนะนำให้ลูกหลานรับประทาน!!
น่าจะเป็นคำถามยอดฮิตสำหรับผู้ที่ชอบทานหน่อไม้เป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะเมนูที่หยิบหน่อไม้มาทำเป็นอาหารยอดฮิตสำหรับชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นซุปหน่อไม้ แกงเปรอะหน่อไม้ โอ้ย แซ่บ ๆ นัว ๆ น่าอร่อยยิ่งนัก เมนูหน่อไม้ มีขึ้นในเมืองไทยคาดว่าน่าจะหลายทศวรรษกันเลยทีเดียว และ "หน่อไม้" มักอยู่ในรายชื่ออาการที่ผู้ใหญ่มักไม่ค่อยแนะนำให้ลูกหลานรับประทาน (บางคนตัวเองก็ไม่ทาน) ด้วยเพราะเชื่อว่า หน่อไม้อันตรายบ้าง เป็นอาหารแสลงบ้าง ก่อให้เกิดอันตรายบ้าง ยิ่งถ้าเพิ่งผ่าตัดมาใหม่ ๆ เชื่อว่าจะทำให้แผลหายช้าลง แต่อันที่จริงแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ เป็นความจริง มากน้อยเพียงใด? วันนี้ผู้เขียนจะพามาหาคำตอบกัน
มารู้จักพืชที่เรียกว่า "หน่อไม้" กัน
หน่อไม้ เป็นหน่ออ่อนของไผ่ที่แตกจากเหง้าใต้ดิน โดยมีลักษณะสีเหลืองอ่อน รสชาติกรุบกรอบ (ผู้อ่านอ่านแล้วนึกตามน้ำลายสอ) หอมละมุน กลิ่นดี (ถ้าคนที่ชอบ จะชมว่าหอมอร่อย) หน่อไม้ สามารถนำมาปรุงอาหารได้อย่างหลากหลายชนิด ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด และความนิยมไม่เพียงแต่ที่ประเทศไทย แม้ในต่างประเทศ ก็ชมชอบการรับประทานหน่อไม้กันมาก แถมถ้าผู้อ่านท่านใดเคยไปต่างประเทศ แล้วไปสั่งเมนูหน่อไม้ จะร้องโอ้ยเลย ด้วยสนนราคาที่แพง แถมสายพันธ์ต่างประเทศ หน่อไม้จะมีแต่หน่อเล็ก ๆ รสชาติจะคล้ายของไทย แต่ความคิดผู้เขียน ชมว่าหน่อไม้ไทย รสชาดอร่อยสุดในสามโลก
"หน่อไม้" อันตรายจริงหรือ?
หน่อไม้ มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษ Bamboo shoot, Bamboo Sprout ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกหน่ออ่อนของไผ่ที่รับประทานได้ที่แตกจากเหง้าใต้ดิน โดยมาจากสปีชีส์ Bambusa Valgaris หน่อไม้มีลักษณะผิวสีเหลืองอ่อน รสชาติกรุบกรอบ นิยมรับประทานในทวีปเอเชียและอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยมีกรรมวิธีปรุงที่หลากหลาย หน่อไม้ มีทั้งประโยชน์ และโทษ หากเลือกกินอย่างเหมาะสม ก็สามารถให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ แต่หากกินหน่อไม้ ไม่ถูกวิธี ไม่มีความระมัดระวังในการกิน ก็อาจเป็นโทษต่อร่างกายได้
หน่อไม้ดิบ
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หน่อไม้ดิบหรือหน่อไม้ที่ยังไม่ปรุงสุก อาจะได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ ซึ่งมีอยู่ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย สามารถขับออกได้ทางปัสสาวะ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก สารไซยาไนด์ จะจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง (hemoglobin) แทนที่ออกซิเจนทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน หมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหน่อไม้ดิบ และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนที่จะนำหน่อไม้ไปบริโภคควรปรุงให้สุก ด้วยการต้อมหน่อไม้ ในน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อลดปริมาณไซยาไนด์ลงได้ถึง 90.5%
หน่อไม้ดอง
ถือเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาหมักดองเพื่อการเก็บรักษาอาหารเอาไว้ให้นานยิ่งขึ้น และหากการหมักดองไม่สะอาดเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย Clotridiu, Botulinum เจริญเติบโตอยู่ในหน่อไม้ที่อยู่ในไห ในปิ๊บได้
"หน่อไม้" ทานเยอะได้ไหม?
ถึงแม้เป็นอาหารโปรดของหลายคน แต่ก็มีข้อแนะนำ สำหรับผู้ที่มีโรคส่วนตัว ดังต่อไปนี้
- ด้วยเพราะหน่อไม้มีสารพิวรีนสูง ซึ่งสารตัวนี้อาจทำให้กรดยูริค ที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์สูงขึ้น ซึ่งกรดยูริก เป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญของพิวรีน มีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และพืชผักอ่อน โดยเฉพาะหน่อไม้
- โรคไต ไม่ควรรับประทานอาหารที่กรดยูริกมากเกินไป เช่น หน่อไม้ เพราะอาจมีปัญหาในการขับกรดยูริคส่วนเกินออกจากร่างกายไม่ได้
กิน "หน่อไม้" แล้วปวดข้อจริงหรือ?
น่าจะเป็นความเชื่อของคนไทยเดิม มักจะคิดว่า กินหน่อไม้แล้วทำให้ปวดข้อ จึงไม่ค่อยนิยมทานหน่อไม้มากนัก ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เนื่องจากหน่อไม้นั้น ไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อมหรือปวดข้อในคนปกติแต่อย่างใด เพียงจะมีผลต่อคนที่เป็นโรคเกาต์เท่านั้น โดยโรคเกาต์ เกิดจากการเผาผลาญสารพิวลีนในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีกรดยูริคคั่วในเลือดสูงตามข้อเล็ก ๆ และอวัยวะบางแห่ง ทำให้เกิดอาการปวดที่อวัยวะนั้น ๆ
กรดยูริคในร่างกายเกิดได้ 2 ทาง คือ เกิดจากสารพิวรีนที่ได้จากการสลายตัวของเซลล์ภายในอวัยวะร่างกาย และอีกทางเกิดจากสารพิวลีนที่เป็นส่วนประกอบของอาหารที่บริโภค เนื่องจากหน่อไม้ เป็นอาหารที่มีปริมาณสารพิวรีน อยู่ในช่วงระดับ 50-150 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม จัดอยู่ในสารอาหารที่มีสารพิวลีนปานกลางอยู่ในกลุ่มเดียวกับเนื้อวัว เนื้อหมู ฯลฯ ดังนั้น คนทั่วไปปกติทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ สามารถบริโภคหน่อไม้ได้เป็นปกติ ส่วนผู้ป่วยโรคเกาต์ แนะนำต้องควบคุมปริมาณในการบริโภค
"หน่อไม้" กับศาสตร์แพทย์แผนจีน
ด้วยเพราะหน่อไม้ เกิดจากใต้ดิน อยู่ในป่าค่อนข้างสมบูรณ์ จึงปนเปื้อนสารพิษจากปุ๋ยเคมีในดิน และในอากาศน้อยกว่าผักชนิดอื่น ๆ ถือเป็นพืชผักที่ค่อนข้างปลอดภัย เป็นผักที่ให้พลังงานน้อย แต่มีกากใยเยอะมาก ในแพทย์แผนจีน ระบุว่า หน่อไม้มีฤทธิ์เย็น มีรสหวาน ช่วยบำรุงยิน เย็นเลือด ดับร้อนละลายเสมหะ ดับกระหาย บำรุงตับ
ทีนี้ เรามาดูข้อมูลทางโภชนาการของหน่อไม้ โดยยกตัวอย่างหน่อไม้ ปริมาณ 100 กรัม
- แคลอรี่ (kcal) 27
- ไขมันทั้งหมด 0.3 gไขมันอิ่มตัว 0.1 g
- ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.1 g
- คอเลสเตอรอล 0 mg
- โซเดียม 4 mg.
- โพแทสเซียม 533 g
- คาร์โบไฮเดรท 5 g
- เส้นใยอาหาร 2.2 g
- น้ำตาล 3 g
- โปรตีน 2.6 g
- วิตามิน เอ 20 IU
- วิตามิน ซี 4 mg
- แคลเซียม 13 mg
- เหล็ก 0.5 mg
- วิตามินดี 0 IU
- แมกนีเซียม 3 mg
กิน "หน่อไม้" อ้วนมั๊ย?
การกินหน่อไม้สด จะได้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่า และให้พลังงานน้อยกว่าหน่อไม้ดอง หรือหน่อไม้ปี๊บ เนื่องจากการดอง หรือการถนอมอาหาร จะทำให้สูญเสียวิตามินไปกับน้ำ และความร้อน โดยหน่อไม้สด 100 กรัม ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี่ ไขมัน 0.2 กรัม ถือว่า หน่อไม้ เป็นอาหารที่ให้แคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
"หน่อไม้" ช่วยลดคอเลสเตอรอล ได้ด้วยหรือ?
งานวิจัยของศาสตราจารย์ไนร์มาลา ชงธรรม (Nirmala Chongtham) (แผนกพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปัญจาบ) เขียนไว้ว่า "หน่อไม้อ่อน ไม่เพียงแค่อร่อยเท่านั้น แต่อุดมไปด้วยส่วนประกอบของสารอาหาร มีโปรตีน เป็นส่วนใหญ่ คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ และใยอาหาร มีน้ำตาลและไขมันต่ำ" นอกจากนี้ หน่อไม้อ่อน ยังมีไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) ซึ่งลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในอาหารที่รับประทานเข้าไป จะช่วยรักษาระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และใยอาหารสูง ที่ระบุได้ว่าเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงการป้องกันหรือรักษาโรค (Nutraceutical) ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจของนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ
"หน่อไม้" ปลอดภัยกว่าที่คิด
- ช่วยเพิ่มกรดอะมิโน หน่อไม้ช่วยร่างกายเพิ่มกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการกินอาหารเท่านั้น และหน่อไม้ เป็นผักที่มีส่วนช่วยในการผลิตกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการ
- ลดปัญหาท้องผูก ด้วยส่วนหน่อไม้ ที่มีเส้นใยอาหารมาก เส้นใยอาหารที่เหลือจะไปอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งช่วยขับกาก และสารพิษที่ตกค้างออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ทำให้ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และท้องไม่ผูกอีกด้วย
- ช่วยปรับสมดุล ทางการแพทย์จีน ถือว่าหน่อไม้ มีฤทธิ์เย็น จึงมีสรรพคุณช่วยแก้อาการร้อนต่าง ๆ ได้ดี หากรู้สึกว่าร่างกายร้อนเกินไป แนะให้ทานหน่อไม้ จะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย และยังช่วยแก้กระหาย ได้อีกด้วย
- ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ในหน่อไม้อุดมด้วยธาตุเหล็ก ที่มีหน้าที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันและรักษาภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก ร่างกายไม่อ่อนเพลียง่าย
- ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก เพราะหน่อไม้ มีวิตามินซี ในปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก และยังช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของริ้วรอยก่อนวัย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง
หน่อไม้อ่อน เป็นแหล่งอุดมไปด้วยสารอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งต้านอนุมูลอิสระ และคุณสมบัติถือเป็น อาหารเพื่อสุขภาพใหม่ แนะนำสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการกินหน่อไม้เป็นชีวิตจิตใจ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และเน้นว่าควรเลือกทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อได้รับสารอาหารครบถ้วนจะดีกว่า พบกันใหม่ ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ
(เครดิต : The Nutritional Facts of Bamboo Shoots and Their Usage as Important Traditional Foods of Northeast India, www.hindawi.com, 5 Incredibly Healthy Reasons Why You Should eat Bamboo, www.netmeds.com, Bamboo Shoots: Nutrients, Benefits, and More-Healthline, www.healthline.com, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมวิชาการเกษตร, หมอชาวบ้าน, BBC Thai, kmIntranet TISTR, กองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, siweb.dss.go.th, www.i-kinn.com)
อ่านข่าวเพิ่มเติม