แรกมี “เสาไฟ” ส่องสว่างยามค่ำคืน จากโคมตะเกียงน้ำมันก๊าด ถึงโคมไฟฟ้า บนถนนสมัย รัชกาลที่ 5
ในสมัย รัชกาลที่ 5 รัฐได้ตั้ง “เสาไฟ” ส่องสว่างลักษณะเป็นเสาโคมตะเกียงน้ำมันก๊าดตามถนนสายต่าง ๆ เพื่อให้แสงสว่างในพื้นที่สาธารณะ โดยให้กองตระเวนภายใต้สังกัดกระทรวงนครบาล ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ
สภาพเสาไฟส่องสว่างในยุคนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่กองตระเวนมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร เรื่องนี้ พ. เนตรรังษี ผู้เคยพบเห็นเสาไฟส่องสว่างในยุคนั้นได้เล่าไว้ว่า
“เพื่อป้องกันไม่ให้ถนนมืดจนเกินควร ทางการจึงจัดการจุดตะเกียงหลอดตามริมถนนรายทางระยะห่างกัน 3-4-5 เส้น ตามแต่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่และงบประมาณ เขาปักเสาไม้แก่นประมาณ 5-6 ฟุต ยอดเสาทำเป็นกระจกไว้สี่ด้าน ใช้สังกะสีบัดกรีเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้างบนมีแผ่นสังกะสีหนาครอบ เจาะรูพอให้อากาศเข้าออกได้ ประมาณ 10-15 รู ฝาครอบทำสูงเหมือนหลังคาจั่วสี่เหลี่ยม แผ่นกระจกด้านหลังปิดเปิดได้ มีขอรับขอสับสำหรับเอาตะเกียงหลอดใส่ไว้ข้างใน
พอค่ำก็จุดไฟโดยตำรวจเดินไปจุดตามรายทาง ตำรวจนั้นในกระเป๋ามีไม้ขีดไฟกลักหนึ่ง สำหรับจุดตะเกียง มือหิ้วกาน้ำเหมือนที่ใส่น้ำกินตามร้านกาแฟ สำหรับเติมดวงตะเกียงที่น้ำมันพร่องหรือหมด นอกจากนั้นยังมีกรรไกรย่อม ๆ อันหนึ่งติดกระเป๋าไปด้วย กรรไกรนี้มีประโยชน์ในการตัดไส้ที่ไหม้ทิ้ง ตกแต่งไส้ให้ได้รูปลักษณะ เวลาจุดแล้วไฟโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือเป็น 3 แฉก แหลมตามแต่จะประดิษฐ์เห็นงาม”
จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2427 อันเป็นปีที่กรุงเทพฯ เริ่มมี “ไฟฟ้า” แสงสว่างชนิดใหม่ของเมืองขึ้นมา ได้มีการนำโคมไฟฟ้ามาใช้เพื่อประโยชน์แก่ผู้สัญจรไปมายามค่ำคืน โดยรัฐเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าตามท้องถนนต่าง ๆ เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนตรีเพชร ถนนท้ายวัง ถนนเยาวราช ฯลฯ ทั้งหมด ทั้งนี้ในระยะแรกไฟฟ้ามีใช้จำกัดเพียงในเขตพระนคร บริเวณรอบโรงไฟฟ้า เช่น ในพระบรมมหาราชวัง วังเจ้านายต่าง ๆ สถานที่ราชการของรัฐ ส่วนตามบ้านเรือนของราษฎรแทบจะไม่สามารถใช้ได้เลย เนื่องจากอุปกรณ์และค่าไฟฟ้ายังมีราคาสูง มีเฉพาะบ้านผู้มีฐานะเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กิจการไฟฟ้าในยุคแรกยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะการขาดความชำนาญเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้กระแสไฟฟ้ามิได้เกิดอย่างสม่ำเสมอ ติด ๆ ดับ ๆ ไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีมากนัก ดังที่กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวไว้ว่า “มีอาจารย์ [น่าจะหมายถึงชาวต่างประเทศหรือหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่วิทยาการในสยาม-กองบก.ออนไลน์]หลายคนได้จุดไฟฟ้าเปนยุคเปนคราว การจุดไฟฟ้านั้นก็เปนการผลุบโผล่ ดับบ้างติดบ้าง แล้วก็หยุดไป เมื่อไต่ถามดูว่าเปนเพราะเหตุใดก็กล่าวกันต่าง ๆ ว่า เปนเพราะเครื่องไม่ดีบ้าง แสงไม่พอบ้าง…ได้จุดใช้ราชการหลายครั้งก็ไม่เปนการสดวก ติดบ้างดับบ้าง”
ขณะที่ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) กล่าวถึงการใช้ไฟฟ้าในยุคนั้นว่า “ต่อมาเมื่อข้าพเจ้าเริ่มไปอยู่กรุงเทพฯ มีไฟฟ้าแล้ว คือเพิ่งเริ่มจะมีโดยเฉพาะตามถนนนั้นขึงสายไฟฟ้าขวางระหว่างตึก ดวงโคมไฟฟ้าห้อยติดกับสายอยู่กลางถนนแต่สูงมาก แสงไฟก็ริบหรี่ไม่สว่าง คนเดินอาศัยร้านเจ๊กเขียนหวย ซึ่งมีตะเกียงกระจกตั้งโต๊ะสว่างไปสองข้างถนนระยะห่าง ๆ กันไปสว่างมากกว่าไฟฟ้า ไฟฟ้าเมื่อแรกมีนี้ ถ้าเป็นข้างขึ้น พระจันทร์สว่าง ไฟดับหมด พอถึงข้างแรมพระจันทร์มืด จึงเปิดไฟ สลับไปอย่างนี้ทุกข้างขึ้นข้างแรม
ส่วนตามตึกบ้านเรือนที่ต้องการใช้ไฟฟ้า คิดค่าเช่าเป็นดวง ๆ ละ 6 สลึง (หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์) ดวงหนึ่งไฟ 10 แรงเทียน จะคิดกี่ดวงก็ได้ตามราคาที่คิดเป็นดวง เท่าที่เห็นใช้กันเพียงหนึ่งหรือสองดวงเท่านั้น ไฟฟ้าดีอย่างหนึ่งเป็นการบอกเวลา คือเวลาสองทุ่มตรง ไฟจะดับแวบหนึ่งให้รู้ว่าสองทุ่ม ใครมีนาฬิกาก็ตั้งจากไฟฟ้าได้ทันที”
ต่อมา รัฐได้ตั้ง เสาไฟ ส่องสว่าง ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเสาโคมตะเกียงน้ำมันก๊าดยังมีใช้อยู่ แต่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจากการใช้งานมาอย่างยาวนานและการลักขโมยอย่างสม่ำเสมอ แม้เจ้าหน้าที่กองตระเวนจะคอยตรวจตราอุปกรณ์ให้แสงสว่าง แต่พบว่าการให้แสงสว่างแก่เมืองทำได้ไม่เต็มที่นัก ดังในรายงานของ นายโป๊ สารวัตรแขวงโรงพักพาหุรัตน์ เมื่อ พ.ศ. 2443 ดังนี้
“ด้วยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ร.ศ. 119 ข้าพเจ้าได้โยกมาจากโรงพักพาหุรัตน์ มารับราชการอยู่ที่โรงพักป้อมปราบ แลได้ตรวจดูโคมเหลี่ยมที่ปักตามถนนหลวงนั้นหาได้จุดไม่ และมีโคมอยู่ 40 โคม เสาโคม 44 ต้น กับแก้วใส่น้ำมัน 20 ใบ จุดไม่ได้ชำรุธ แจ้งอยู่ในบาญชีของข้าพเจ้าที่เสนอเมื่อวันที่ 20 เดือนนี้นั้นแล้ว ๆ ข้าพเจ้าได้สอบถามนายหมวด นายยาม ได้ความว่า ไม่ได้จุดมาช้านานแล้ว เหตุที่มีคนร้ายขโมยกระจุบทองเหลืองไปเสีย จึงไม่ได้จุด บัดนี้ข้าพเจ้าขอเรียนถามท่านว่า ต่อไปจะให้ข้าพเจ้าจุดหรือไม่ ถ้าท่านจะให้จุดแล้ว จะต้องกะระยะวางเสาโคมให้ห่าง ของเก่าถี่มากเหลือที่จะระวัง”
เมื่อกิจการไฟฟ้าพัฒนาไปตามลำดับ แสงสว่างในพื้นที่สาธารณะหรือตามท้องถนนต่าง ๆ จากโคมไฟฟ้าจึงเข้ามาทดแทนโคมตะเกียงน้ำมันก๊าดไปโดยปริยาย ดังจะเห็นได้จากค่าไฟฟ้าเพื่อแสงส่องสว่างตามท้องถนนสาธารณะที่รัฐต้องจ่ายประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2450 เป็นเงินถึง 4,466.91 บาท จากจำนวน 26,549 ยูนิต
อ่านเพิ่มเติม :
- แรกมี “ไฟฟ้า” ในสยาม สิ่งฟุ่มเฟือยของชนชั้นนำ สู่กิจการโรงไฟฟ้า ไทยทำเจ๊ง ฝรั่งทำรุ่ง
- เส้นทางธุรกิจลูกสาวเจ้าสัวต้นตระกูลล่ำซำ แกลบที่โรงไฟฟ้าใช้เกือบทั้งหมด มาจากร้านนี้
- อิทธิพล “ความสว่าง” ยามค่ำ เมื่อแรกมีไฟฟ้าในสยาม เปลี่ยนกรุงเทพเป็นเมืองกลางคืน
อ้างอิง :
วิภารัตน์ ดีอ่อง. (2534). พัฒนาการของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2427-2488. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นนทพร อยู่มั่งมี. (กรกฎาคม, 2556). “กรุงเทพฯ ราตรี” : ความบันเทิงและการเสี่ยงภัยของชาวเมืองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 34 : ฉบับที่ 9.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2564
Phong 9897 ใครจะไปนึก ผ่านมาร้อยปี จะโกงกินกับเสาไฟฟ้า
14 มิ.ย. 2564 เวลา 10.51 น.
M!T กินยันเสาไฟ
14 มิ.ย. 2564 เวลา 11.15 น.
มันมีแสงสว่างเจิดจ้าแต่พวกที่โกงกินมันก็ต้องดับวูบ
14 มิ.ย. 2564 เวลา 10.58 น.
j jay 🦋 บ้านเมืองสมัยก่อน น่าอยุ่จัง
14 มิ.ย. 2564 เวลา 11.40 น.
KruVit "บริบท" ถึงประวัติศาสตร์สมัย ร.ศ.๑๑๒...
14 มิ.ย. 2564 เวลา 10.51 น.
ดูทั้งหมด