ปิดอุทยานฯหนีโควิด-19
ธรรมชาติฟื้น-สัตว์โผล่อวดโฉม
ปิดอุทยานฯหนีโควิด-19 ธรรมชาติฟื้น-สัตว์โผล่อวดโฉม - นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.2563 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ประกาศปิดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในสังกัดกระทรวง ทั้งอุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 78 แห่งทั่วประเทศ ปิดให้บริการอย่างเด็ดขาด
เพื่อลดกิจกรรมการท่องเที่ยวที่คนจะมารวมตัวกันมาก และอาจเป็นโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อโรค โควิด-19 ด้วย
จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 เดือน จากวิกฤตที่ต้องปิดการท่องเที่ยวกลับกลายเป็นโอกาสของธรรมชาติที่ได้ฟื้นตัว สัตว์ป่าออกมายลโฉมในพื้นที่มากขึ้น สัตว์ทะเลแหวกว่ายในท้องทะเล หรือแม้กระทั่งปะการังและหญ้าทะเลที่เริ่มฟื้นตัว
ธัญญา เนติธรรมกุล
“ภาพสัตว์ป่าที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ทั้งในผืนป่า หรือแม้แต่ในทะเล ก็จะเห็นสัตว์ป่าน้อยใหญ่ สัตว์ทะเล ออกมาเป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ เพราะตอนนี้ยอมรับว่าธรรมชาติไม่มีใครมารบกวน ไม่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ทำให้ธรรมชาติได้ปรับสมดุลฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด” นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงธรรมชาติที่ฟื้นตัว
นายธัญญากล่าวอีกว่า เกือบทุกวันทางสำนักอุทยานแห่งชาติ จะรายงานมายังตนว่าพบเจอสัตว์ป่าในพื้นที่ หลังไม่มีนักท่องเที่ยว สัตว์ป่าก็ออกมายังโซนที่นักท่องเที่ยวมักเคยเข้าไปอยู่มากขึ้น ค่อนข้างสร้างความตื่นเต้นยินดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่นั้นๆ อย่างมาก
อย่างฝูงค่างแว่นถิ่นใต้ที่เดิมอาศัยอยู่บนเขาในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ประมาณ 7-8 ฝูง หรือ ราว 200 กว่าตัว ก่อนหน้าที่ยังไม่ปิดเกาะ มีค่างแว่นถิ่นใต้ลงมาจากภูเขา หากินอยู่แถวที่ทำการอุทยานบ้าง แต่ภายหลังจากปิดเกาะ ไม่มีนักท่องเที่ยว ปรากฏว่ามีค่างแว่นถิ่นใต้ลงจากภูเขาเข้ามาบริเวณที่ทำการอุทยานจำนวนมาก
แม่ค่างลูกอ่อน
“ประเมินดูแล้วน่าลงมาครบทุกฝูง ส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจคงจะเป็นแม่ค่างลูกอ่อนที่มีลูกเป็นลูกแฝดสีส้มสดใสเกาะติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นภาพที่น่ารัก และหาดูได้ยาก” นายธัญญากล่าวปลื้ม
นอกจากนี้ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ช่วงปลายเดือนเม.ย. เจ้าหน้าที่เขต ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 ตรัง สำรวจติดตามประเมินสถานภาพพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก โดยการเฝ้าสังเกตทางเรือและการบินโดรนสำรวจในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และพื้นที่ เชื่อมโยงเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้แก่ บริเวณหาดยาว บริเวณแหล่งหญ้าทะเลหาดมดตะนอย และแหลมจูโหย เกาะลิบง เบื้องต้นบริเวณแหลมจูโหย เกาะลิบง ใกล้ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
ฝูงพะยูน
พบฝูงพะยูน 30 ตัว และเต่าทะเล 2 ตัว บริเวณหาดมดตะนอย พบพะยูน 1 ตัว และเต่าทะเล 2 ตัว ส่วนบริเวณหาดยาวพบโลมา 2 ตัว โดยพะยูนที่พบบริเวณแหลมจูโหยมีพฤติกรรมรวมฝูงในการออกหากินหญ้าทะเล ขณะที่พะยูนที่พบบริเวณหาดมดตะนอยออกหากินตามลำพัง ส่วนเต่าทะเลและโลมามีพฤติกรรมว่ายน้ำ และโผล่ขึ้นมาหายใจ
โลมาอิรวดี
ส่วนที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด โดยการเฝ้าสังเกตทางเรือ และบินโดรน พบโลมาอิรวดีประมาณ 10 ตัว บริเวณเกาะกระบุง และที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ ก็พบฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ แต่ละตัวยาว 3 - 4 เมตร แหวกว่ายอวดโฉมบริเวณอ่าวหินงาม และเป็นครั้งแรกที่พบเจอวาฬเพชฌฆาตดำในเขต อุทยานฯ หมู่เกาะลันตา ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยได้เป็นอย่างดี
ช้างป่าเล่นน้ำโชว์ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ขณะที่อุทยานแห่งชาติทางบก ที่พบสัตว์ป่าอย่างช้างป่า และกระทิง ที่ออกมาบ่อยๆ จะอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น
ฝูงกระทิง-อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก็เห็นโขลงช้างเกือบ 30 ตัว เล่นน้ำโชว์ แม้ตอนนี้จะเป็นหน้าแล้ง แต่พบว่ามีช้างป่าจำนวนมากออกมาเล่นน้ำข้างถนนทางขึ้นทางลงอุทยาน อย่างปราศจากความกังวลว่าจะมีสิ่งใดเข้าไปรบกวน
นายธัญญาระบุว่า ในระหว่างที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศยังต้องปิดทำการอยู่นั้น ตนได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ปรับปรุงพัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ทั้งบ้านพัก ห้องน้ำ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้พร้อม
“หลังจากนี้ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้กำหนดให้ทุกอุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง ต้องปิดบริการอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว ในวันนี้เราเห็นโอกาสที่ธรรมชาติเปลี่ยนไปในทางที่ดี เสมือนเวลานี้เป็นเวลาของธรรมชาติในการฟื้นฟูตัวเอง ดังนั้นกรมอุทยานฯ จะต้องรักษาธรรมชาตินี้ต่อไป” นายธัญญาย้ำ
โสภณ ทองดี
ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติต่อไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะเข้าสู่สภาวการณ์ปกติ
ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า แม้ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวซบเซาอย่างหนัก แต่เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตประชาชนรัฐบาลเองจำเป็นต้องปิดสถานที่ท่องเที่ยวของไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“แต่มุมของธรรมชาติกลับเป็นผลดี ซึ่งโดยปกติทรัพยากร ธรรมชาติจะสร้างสมดุลได้เองตามธรรมชาติภายหลังจาก ถูกรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์อยู่แล้ว แต่เมื่อขณะนี้ไม่มี นักท่องเที่ยวจึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของทรัพยากร ธรรมชาติหลากหลายชนิด” นายโสภณเผยผลดี
เกาะกระบง หมู่เกาะช้าง
สำหรับพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล ที่ทางทช. ดูแลอยู่นั้น นายโสภณเผยว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั่วทั้งพื้นที่มีการฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น เช่น พื้นที่ทะเลตราด ระยอง ตรัง พบการฟื้นตัวของปะการังและหญ้าทะเล และปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวก็ลดลงจนแทบไม่พบในพื้นที่ใด
ปะการังฟอกขาวมักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและค่าความเค็มของน้ำทะเล ความเข้มข้นของแสง ที่สำคัญคือคุณภาพน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเกิดปะการังฟอกขาว เมื่อธรรมชาติไม่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของนักท่องเที่ยว ทำให้การฟื้นตัวของทรัพยากรทางทะเลภาพรวมอย่างเห็นผลได้อย่างชัดเจน
สำรวจปะการังหมู่เกาะช้าง
นายโสภณกล่าวสรุปว่า เวลานี้ธรรมชาติกำลังสร้างกระบวนการฟื้นตัวและปรับสมดุลตามธรรมชาติ และภายหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป การลดเลิกกิจกรรมที่ส่งผล กระทบต่อ
แหล่งหญ้าทะเลสวนสน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
เพื่อรักษาสภาพและคงอยู่ของธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นนทวรรณ มนตรี
ภาพ - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
อนิจจัง น่าจะปิด3เดือน ในทุกปี
11 พ.ค. 2563 เวลา 02.04 น.
chat c",) โควิด-19 ทวงธรรมชาติจากคน คืนให้ป่าต้นไม้ทะเลและสัตว์ต่างๆ #เรื่องดีๆในช่วงโควิด 💛💛
10 พ.ค. 2563 เวลา 22.34 น.
ควรจะมีการจัดแบ่งเวลาให้กับ"ธรรมชาติ"ได้มีโอกาสได้ฟื้นตัวบ้าง.
11 พ.ค. 2563 เวลา 01.44 น.
verasaktbic ปิดอุทยาน 50% ปีเว้นปี ครับ
11 พ.ค. 2563 เวลา 04.13 น.
iamOat. งั้นก็ปิดไปสักปีสิ
11 พ.ค. 2563 เวลา 00.36 น.
ดูทั้งหมด