ไอที ธุรกิจ

ใครเบี้ยวหนี้กยศ.มีติดคุก ย้ำส่งต่อโอกาสการศึกษา

เดลินิวส์
อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 06.39 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 04.37 น. • Dailynews
สารพัดแคมเปญกระตุ้นต่อมให้ลูกหนี้ กยศ. หันมาชำระหนี้คืน แต่ยังไม่ถึง 20 % ต้องรอการดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ตามกฎหมายใหม่จะได้ผลหรือไม่

สยองกันเป็นแถว!! เมื่อผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ออกมาบอกกล่าวดัง ๆ ผ่านสื่อ ว่า กยศ.เตรียมฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ในปีนี้อีกกว่า 1.5-2 แสนรายกันทีเดียว

ด้วยเหตุที่ว่า…ลูกหนี้เหล่านี้ เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับ กยศ.มานานกว่า 4 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เป็นคนของรัฐ ก็ต้องปฎิบัติตามหน้าที่ ก่อนจะถูกดำเนินคดีละเว้นตามมาตรา 157

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในมุมกลับกัน หากมองอีกที การจงใจไม่ชำระหนี้เป็นวลายาวนานถึง 4 ปี ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่า โดยเหตุผลที่แท้จริงแล้ว คือ จงใจ ไม่ตั้งใจ หรือเกิดปัญหา จนไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ตรงตามเวลา

หากเป็นเหตุผลที่ว่าด้วยเรื่องของการ "ไม่ตั้งใจ" เพราะอยู่ในอาการ "จนด้วยเกล้า" จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำมาหากินได้ไม่คล่องตัวนัก หรือบางรายหากหนักหนาสาหัส ก็อาจปิดกิจการ ล้มเลิกกิจการไปเลยก็มี

ณ เวลานี้ สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจไม่เป็นใจกันเท่าใดนัก อย่างที่คุณ ๆ ท่าน ๆ รู้อยู่เต็มอกกันอยู่แล้วนั่นแหล่ะ ทำให้ลูกหนี้บางรายต้องตกงาน ไม่มีงานทำ แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้หนี้แต่มีไม่พอ ก็ขอต่อรองจ่ายน้อยลงจากวงเงินที่ต้องชำระ เรื่องอย่างนี้ ถือว่ามีเหตุผล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ถ้า "จงใจ" ตรงนี้ "ช่อชมพู" ขอสนับสนุน ให้กยศ."เช็กบิล" ไปเลย เพราะถือว่าเห็นแก่ตัว ไม่เห็นความสำคัญของ "คนข้างหลัง" ที่มีปัญหา จนตัดโอกาสให้คนเหล่านี้ ซึ่งบางคนอาจเป็น"อนาคตที่ดี" ของชาติ

กว่า 20 ปีแล้ว ที่กยศ.ทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้กับเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อนำเงินไปใช้เป็นค่าเล่าเรียน ค่าเทอม และอีกมากมายสารพัด ให้กับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพื่อให้โอกาสกับเด็กเหล่านี้ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน และเดินตามความฝัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงเวลานี้ กยศ. ได้ให้โอกาสเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีโอกาสได้รับการศึกษาโดยกู้เงินจาก กยศ.ไปเล่าเรียนแล้ว 5,615,065 ราย โดยให้เงินกู้ยืมเรียนคิดเป็นจำนวน 605,354 ล้านบาท

เม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับกันว่าเรื่องของการเบี้ยวหนี้ ย่อมต้องมีให้เห็นอยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่า ณ เวลานี้ กยศ. จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องมาได้ โดยใช้โครงการ "กยศ.พี่ช่วยน้อง" มาเป็นสื่อนำ เพื่อกระตุ้นให้ลูกหนี้ เร่งชำระหนี้ คืนหนี้ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

แต่สภาพการณ์ สภาพเศรษฐกิจที่เจอมรสุมถาโถมมาหลายด้าน ก็ไม่สามารถหาอะไรมาการันตีได้ว่า กยศ.จะไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยเฉพาะปัญหา"การชักดาบ" ดังนั้นการออกแคมเปญ การจัดโปรโมชั่น ทั้งการลดเบี้ยปรับให้ 80% กับบรรดาลูกหนี้ที่เข้ามาปิดบัญชี

หรือการลดเบี้ยปรับ 75% ให้กับรรดาลูกหนี้ก่อนที่จะต้องส่งฟ้องดำเนินคดี เพื่อปรับสถานะหนี้ให้เป็นหนี้ปกติ รวมทั้งแคมเปญใหญ่สำหรับลูกหนี้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ กยศ.ยอมพักหนี้ให้ถึง 1ปี พร้อมลดเบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้เหลือ 7.5%

ที่สำคัญ!!! ยังมีการเพิ่มค่าครอองชีพรายเดือนให้ผู้กู้อีกเดือนละ 600 บาทอีกต่างหาก โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 63 เป็นต้นไป

สารพัดสารพันแคมเปญที่ออกมา ก็ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องของการกระตุ้นต่อมให้ลูกหนี้หันมาชำระหนี้คืน เพราะเงินที่ได้คืนมาใช่ว่าต้องส่งเป็นรายได้ของรัฐ หรือส่งคืนคลังซะเมื่อไหร่

แต่ทั้งหมด ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส ให้สามารถได้รับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับบรรดาลูกหนี้ กยศ.ทั้งกว่า 5.6 ล้านคนนั่นแหล่ะ

ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากยศ.ต้องทำการฟ้องร้องเพื่อดำนินคดีกับลูกหนี้ รวมทั้งมีคำพิพากษาไปแล้ว มากถึง 1.6 ล้านรายทีเดียว เฉลี่ยเป็นหนี้คนละประมาณรายละ 1.2 แสนบาท

ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้ใช่ว่า กยศ.จะไม่แลเหลียว เพราะยังมีอายุความเหลืออีก 2 ปี แต่ยังต้องชำระหนี้ต่อไปอีก 5 ปี โดยส่วนนี้อาจเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้

หากใครไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ กฎหมายของ กยศ.ก็เปิดโอกาสให้ยึดทรัพย์ได้ ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ที่ไม่ชำระหนี้กองทุนประมาณกว่า 20 ปี และส่วนใหญ่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2550

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ มีบรรดาลูกหนี้ที่นิสัยดี มาชำระหนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว 1 ล้านรายเศษ คือเรียกว่าปิดบัญชีชำระหนี้ครบกันหมดแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด

พอเห็นสัดส่วนแล้วก็ดูเหมือนว่า อาการ กยศ.ยังน่าเป็นห่วง เพราะการชำระหนี้คืนมีไม่ถึง 20% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ กยศ.ไม่ได้ของบประมาณแผ่นดิน เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา มาตั้งแต่ปี 2560 โน่น

แม้จะมีสภาพคล่องดี มีเงินเหลือที่จะปล่อยกู้ได้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ หากลูกหนี้ยังไม่เห็นความสำคัญของการชำระหนี้คืน ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดโอกาสให้กับคนรุ่นหลัง

เอาเป็นว่า… แม้ กยศ.ยังมั่นใจในฐานะที่ยังแข็งแกร่งยังมีเงินปล่อยกู้ให้กับผู้กู้รายใหม่ถึง 6 แสนรายในปีการศึกษา 2562 และในปีการศึกษา 2563 อีก 6 แสนรายก็ตาม แต่การให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืน ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วง

เพราะเท่ากับว่า กยศ.ต้องออกมาตรการมากระตุ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ความพยายามในการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ก็มีไม่ถึง 20% ตรงนี้สิ…ที่น่าคิด!!! การดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ตามกฎหมายใหม่ของ กยศ. จะได้ผลหรือไม่ คงต้องติดตาม!!!

…………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน

โดย “ช่อชมพู” 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) , Pixabay

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • ภาพมุมสูง
    เป็นยังไงล่ะคนมันไม่ติดอยากใช้ไม่น่าจะให้แม่งยืมเลย
    15 ก.ย 2562 เวลา 15.20 น.
ดูทั้งหมด