ไลฟ์สไตล์

โครงกระดูก - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY
อัพเดต 02 ส.ค. 2561 เวลา 11.27 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2561 เวลา 04.00 น. • วินทร์ เลียววาริณ

นิทานธรรมเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชายคนหนึ่งเลี้ยงลิงฝูงหนึ่ง ให้ถั่วเป็นอาหาร เช้าสี่กอง เย็นสามกอง พวกลิงไม่พอใจ ร้องเรียนเจ้าของว่าไม่ชอบการจัดอาหารแบบนี้ เพราะตอนเย็นได้น้อยกว่าตอนเช้า

เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? เราอาจโน้มน้าวใจลิง เช่นบอกว่าตอนเช้ากินถั่วมาก ตอนเย็นกินน้อย จะดีต่อร่างกายมากกว่า เพราะตอนเช้าร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าตอนเย็น ฯลฯ แต่ลิงอาจไม่ต้องการเหตุผล ถ้ามองให้ทะลุถึงโครงกระดูกของปัญหา ก็อาจเห็นว่าปัญหาของลิงกินถั่วไม่ใช่อยู่ที่จำนวนกอง แต่อยู่ที่ความไม่เคยพอใจอะไรในชีวิต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลูกน้องคนหนึ่งมาขอเงินเดือนขึ้น เจ้านายลังเล เพราะลูกน้องไม่เลว แต่ก็ไม่มีผลงานโดดเด่น ถ้าเจ้านายไม่ขึ้นเงินเดือนให้ก็กลัวจะน้อยใจ ถ้าขึ้นให้คนอื่นก็น้อยใจ หากเจ้านายมองทะลุเห็นโครงกระดูกของปัญหานี้ อาจพบว่ามันไม่ใช่เรื่องการขอขึ้นเงินเดือน แต่อาจเป็นความรู้สึกไม่ยุติธรรมของคนในองค์กร ลูกน้องขอขึ้นเงินเดือนไม่ใช่เพราะเห็นว่าตัวเองมีคุณค่าสมควรได้เงินเดือนขึ้น แต่ขอเพราะเห็นเพื่อนได้เงินเดือนขึ้น ก็ขอบ้าง (อาจไม่ได้เปรียบกับเพื่อนในองค์กรเดียวกันด้วย)

ภรรยาบ่นว่ามีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อน สามีก็พยายามจะอธิบายหลักตรรกะของปัญหา และหนทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ภรรยาก็ไม่ทำตามคำแนะนำสักที และบ่นต่อไป ถ้ามองทะลุเห็นโครงกระดูกของปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งกับเพื่อน ภรรยาไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาแต่อย่างไร ภรรยาไม่ได้ต้องการคำตอบ เธอแค่ต้องการบ่นให้สามีฟังเฉยๆ ถ้าอ่านโครงสร้างของปัญหาไม่ออก ก็ตอบผิดทั้งปี

ถ้าสามีมองทะลุโครงกระดูกของปัญหา ก็เพียงทำท่ารับฟังคำบ่นนั้น พยักหน้าหงึกๆ ตอบเออออไป เสียงบ่นก็จะหายไป ภรรยาก็จะรักสามีมากขึ้น 12.8 เปอร์เซ็นต์ที่เข้าใจตน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม่คนหนึ่งพาลูกชายตัวเล็กไปหาหมอตา บอกหมอว่าลูกนั่งหน้าชั้น แต่มองข้อความบนกระดานดำไม่เห็น จักษุแพทย์ตรวจนัยน์ตาเด็กแล้วบอกแม่เด็กว่า “พาเด็กไปตัดผม”

โรคจำนวนมากมีทางรักษาให้หาย แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการหาสาเหตุให้พบ ถ้าไม่พบสมุฏฐาน โรคที่รักษาง่ายที่สุดก็อาจทำให้ตายได้

การมองทะลุปัญหา มองให้แตก มองให้เห็นโครงกระดูกภายใน ต้องรู้ว่าปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน บางครั้งมัวแต่จดจ่ออยู่ที่รายละเอียดของปัญหาจนมองไม่เห็นโครงสร้างของปัญหา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การแก้ปัญหาผิดจุดก็เช่น ไม่ชอบบ้านทรงจีนที่มีอยู่ แต่รื้อออกเฉพาะเปลือก สร้างใหม่กี่ทีก็ได้บ้านทรงจีนเหมือนเดิม

การมองทะลุเห็นโครงกระดูกของปัญหาจึงแก้ปัญหาไปแล้วส่วนหนึ่ง

………

โลกเต็มไปด้วยปัญหาที่จากภายนอกมองไม่เห็นสมุฏฐาน

ถ้าส่องทะลุเห็นโครงกระดูกของปัญหา อาจมองเห็นว่า

        - เด็กบางคนเรียนไม่ดี อาจเพราะเด็กปัญญาทึบ แต่ก็อาจเพราะเด็กไม่สนใจวิชานั้น อาจเพราะครูสอนไม่ดี อาจเพราะเด็กฉลาดกว่าครู

        - การเลือกตั้งคนเลวเข้าสภาอาจมิได้เกิดจากเงิน แต่เกิดจากความหมั่นไส้หรือการประชดประชันอีกฝ่าย

        - อาการงอนของภรรยาอาจเกิดจากการระลึกถึงภาพอดีตสามสิบปีก่อน เมื่อสามีชายตามองหญิงสาวคนอื่นเพียงแวบเดียว 

        - ร้านอาหารเจ๊งมิใช่เพราะอาหารไม่อร่อยหรือขายไม่ดี แต่เพราะแม่ครัวโกงค่าจ่ายตลาด 

        - ปลายนิ้วชาไม่ใช่เพราะเป็นมะเร็งสมอง แต่เพราะเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากไป จนกล้ามเนื้อคอตึง แล้วกระทบถึงปลายนิ้ว

หลักการวิเคราะห์ก็คือ สมุทัย ธรรมข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 นั่นเอง

เมื่อมองทะลุปัญหาแล้ว ก็ต้องแก้ปัญหาให้ทะลุด้วย

อย่าลืมว่าทางแก้ปัญหามีมากกว่าหนึ่งทางเสมอ

และบ่อยครั้งการมองโลกแบบสลัดตรรกะ กฎเกณฑ์เดิมๆ ทิ้งอย่างเด็กๆ ก็อาจเห็นปัญหาทะลุง่ายกว่าใช้วิธีเถรตรงหรือตรรกะเต็มๆ

………

พ่อคนหนึ่งยุ่งกับงานมาก แต่ลูกตัวเล็กอยากเล่นด้วย พ่อจึงฉีกรูปแผนที่โลกจากนิตยสารเล่มหนึ่ง ตัดออกเป็นชิ้นๆ บอกให้ลูกต่อมันกลับเป็นภาพดังเดิม เชื่อว่าคงทำให้ลูกง่วนกับมันอีกสองสามชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ลูกใช้เวลาครู่เดียวก็ต่อภาพจิ๊กซอว์แผนที่โลกเสร็จ พ่อถามว่าลูกทำภาพซับซ้อนได้ยังไง ลูกบอกว่า “หนูก็ต่อภาพรูปหน้าผู้หญิงของด้านหลังแผนที่ไง ง่ายกว่าเยอะเลย”

ปัญหาหลายเรื่องในโลกแก้ตรงๆ ไม่ได้ ใช้จิตวิทยา หรือคิดนอกกรอบ หรือเข้าทางอ้อม ที่เรียกว่า Lateral Thinking คือการมองแบบไม่ต้องสนใจตรรกะ กฎเกณฑ์เดิมๆ มองแบบเด็กๆ

ไม่ว่าจะมองหาปัญหาที่แท้จริงหรือการแก้ ก็สามารถใช้การคิดนอกกรอบ

แต่จะคิดนอกกรอบได้ก็ต้องมองโลกนอกกรอบ

………

เมื่อลิงไม่พอใจ ร้องเรียนเจ้าของว่าไม่ชอบการจัดอาหารแบบเช้าสี่กอง เย็นสามกองนี้ เพราะตอนเย็นได้น้อยกว่าตอนเช้า เจ้าของลิงก็เปลี่ยนเป็นให้ถั่วเช้าสามกอง เย็นสี่กอง

บรรดาลิงก็พอใจ 

วินทร์ เลียววาริณ

เว็บไซต์ winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

มิถุนายน 2561

ความเห็น 20
  • khu
    ขอบคุณคุณวินทร์ ที่แบ่งบันมุมมองใหม่ๆ เสมอๆครับ
    25 มิ.ย. 2561 เวลา 11.41 น.
  • NZ Peter
    เฉียบในทุกเรื่องที่เขียน
    25 มิ.ย. 2561 เวลา 11.27 น.
  • wisoot
    เหมือนกับการหว่านเม็ดเงินลงไปทุกทีที่มีปัญหา เงียบไปสักพักก็กลับมาใหม่ แล้วก็เริ่มเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ทับถมมาจนยากจะแก้ไข มันฝังรากรึกลงไปมาก จะถอนเลยก็ไม่ได้ ต้องรอให้ยืนต้นตาย ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วต้นใหม่จะเป็นเหมือนกันไหม มันไม่ใช่การผลัดใบ แต่กลายเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศ...ยาก
    25 มิ.ย. 2561 เวลา 12.07 น.
  • sawat
    การแก้ปัญหาของไทยส่วนใหญ่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจึงต้องไหลไปตามผลประโยชน์จึงละเลยไม่สนใจโครงกระดูกของปัญหาที่แท้จริงเช่นผู้บริหารประเทศที่มาจากการซื้อเสียง
    25 มิ.ย. 2561 เวลา 05.26 น.
  • จิตติมาพร
    สิ่งที่สัมผัสยากคือธรรมชาติของมนุษย์ เพราะเจอแต่เรื่องปรุงแต่ง...ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีที่มีกำลังใจในตัวของบทความ
    25 มิ.ย. 2561 เวลา 16.19 น.
ดูทั้งหมด