วันนี้ ( 28 มี.ค. 64 )ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อที่หลงเหลืออยู่จำนวนมาก ทำให้การเดินทางกลับต่างจังหวัดที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์นี้ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว มีโอกาสที่จะเพิ่มการระบาดในต่างจังหวัดที่น่าจะรุนแรงกว่าในปีที่ผ่านมาก
แม้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เองก็ได้ออกมาตรการมาบางประการ เช่น ขอความร่วมมือ “งดสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม และจัดคอนเสิร์ต” นอกจากนี้ยังมีมติลดเวลาการกักตัวเหลือ 10 วันจาก 14 วัน และแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่างๆ และการกำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้มากนัก เมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญในช่วงต่างๆ
เนื่องจากในช่วงการเดินทาง โดยเฉพาะรถทัวร์ รถโดยสาร และรถตู้ รวมทั้งรถโดยสารในตัวจังหวัด ไม่ชัดเจนว่ายังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างมากน้อยแค่ไหน แต่คาดว่าในช่วงวันหยุดยาวนี้ น่าจะมีความต้องการเดินทางเป็นจำนวนมาก ถ้ารัฐไม่เน้นเรื่องนี้อย่างชัดเจน ก็อาจมีการละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยที่อาจจะสำคัญกว่านั้นอีก เช่น การบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลา
ดังนั้น วันหยุดยาวในเทศช่วงสงกรานต์ครั้งนี้มีความเสี่ยงมากกว่าวันหยุดยาวในครั้งก่อนๆ มาก ทั้งจากธรรมชาติของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์เอง และจากสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งน่าจะมีผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่หนุ่มสาวที่แข็งแรงและไม่มีอาการชัดเจน แฝงตัวอยู่ในประชากรในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง ที่จะเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 หลายเท่าตัว
ซึ่งแม้ว่าประชาชนไทยควรได้รับโอกาสที่จะผ่อนคลายบ้างหลังจากที่ไม่ได้รับโอกาสในช่วงสงกรานต์ในปีก่อน แต่รัฐบาลควรจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังประชาชนว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงที่คนหนุ่มสาวอาจนำเชื้อไประบาดและเพิ่มความเสี่ยงกับญาติผู้ใหญ่มากขึ้น และต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการที่สำคัญ เช่น การใช้หน้ากาก ไม่ใช่ส่งสัญญาณที่เหมือนอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือ “ปล่อยการ์ดตกได้” เสียเอง
ทั้งนี้ การประเมินของ TDRI ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “COVID-19 Policy Watch” ซึ่งเป็นโครงการย่อยใน “โครงการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมิติสังคมและเศรษฐกิจ” ที่ TDRI ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)