ไลฟ์สไตล์

"เลือกตั้ง 2500" การเลือกตั้งสกปรก จุดกำเนิดคำพูดสุดฮิต "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 20 มี.ค. เวลา 03.36 น. • เผยแพร่ 20 มี.ค. เวลา 00.47 น.
ภาพประกอบเนื้อหา - การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรก 2 มีนาคม 2500 (ภาพจากหนังสือแผนชิงชาติไทย)

“เลือกตั้ง 2500” เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศใน พ.ศ. 2500 ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ และถูกมองว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น ก็มีประโยค “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำพูดฮิตติดปากคนไทยมากกว่า 60 ปี เจ้าของคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2451-2506)

เลือกตั้ง 2500 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ แต่ประชาชนทั่วไปกลับเรียกกันว่าวัน “เลือกตั้งสกปรก” ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย และสร้างความขมขื่นให้ประชาชนพลเมืองเป็นอย่างยิ่ง ชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตลอดชีวิตในวงการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เคยคิดจะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 จะมาถึงนั้น เขาเกิดความคิดจะสมัครรับเลือกตั้งขึ้นมาบ้าง

ความคิดแรกเริ่มเดิมที เขาคิดจะปลีกตัวไปสมัครที่จังหวัดนครนายก ซึ่งชื่อของจังหวัดเป็นมงคล เพราะมีคําว่า “นายก” อยู่ด้วย และเป็นจังหวัดที่มี ส.ส. ได้เพียงคนเดียว คงจะไม่มีนักการเมืองคนอื่นลงสมัครแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจังเป็นแน่ แต่เมื่อประกาศว่าจะสมัคร ส.ส. ในหน้าหนังสือพิมพ์เพียงไม่กี่วัน นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศท้าทายทันทีว่า

“ผู้ยิ่งใหญ่ขนาดนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. ต้องสมัครที่จังหวัดพระนครสู้กับ ตาปู่ควงซี จะหลบเลี่ยงไปสมัครในจังหวัดเล็ก ๆ อย่างนั้นให้เสียศักดิ์ศรีทําไม”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนมาลงสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดพระนคร เพื่อสู้กับนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนั้น ปรากฏว่าการโกงคะแนนกันมาก การนับคะแนนบางแห่งทํากันสองวันสองคืนก็ยังไม่เสร็จ หน่วยเลือกตั้งบางแห่งทําหีบคะแนนหายก็มี กว่าจะติดตามเอาหีบคะแนนคืนมาได้ต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน

ผลของ เลือกตั้ง 2500 ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ในเขตพระนคร พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูล สงคราม ชนะถึง 7 ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ได้มาเพียง 2 ที่นั่ง เมื่อรวมคะแนนเสียงทั่วประเทศแล้ว พรรรคเสรีมนังคศิลามีคะแนนมากที่สุด 86 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ 30 ที่นั่ง, พรรรคเสรีประชาธิปไตย 12 ที่นั่ง, พรรคธรรมาธิปัตย์ 9 ที่นั่ง, พรรคเศรษฐกร 9 ที่นั่ง, พรรคชาตินิยม 3 ที่นั่ง, พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค 2 ที่นั่ง, พรรคอิสระ 2 ที่นั่ง และไม่สังกัดพรรคอีก 7 ที่นั่ง รวม 160 ที่นั่ง

เมื่อพรรคเสรีมนังคสิลาได้คะแนนเสียงข้างมากเพียงพอ จึงเป็นโอกาสของจอมพล ป. ที่จะจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เพียงแต่ว่ายังไม่ทันจะได้ดำเนินการอย่างใด ความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากกระแสข่าวที่ว่า ฝ่ายเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งในพระนคร อย่างไม่สะอาด และมีการทุจริตเกิดขึ้นทั่วไป โดยการใช้ “ไพ่ไฟ” ก็คือบัตรเลือกตั้งปลอมที่ลงคะแนนแล้วให้กับผู้สมัครพรรคเสรีมนังคศิลา ใส่ไปในหีบบัตรเลอืกตั้งเป็นจำนวนมาก และ “พลร่ม” ก็คือใช้กลุ่มบุคคลเวียนลงคะแนนให้เสรีมนังคศิลาหลายรอบ

นอกจากนี้ยังมีการถ่วงเวลาทำให้การนับคะแนนล่าช้าถึง 2 วัน 2 คืน ดังที่มีการวิจารณ์ว่า

“ไม่มีครั้งใดที่เสียงโจษจันของประชาชนและหนังสือพิมพ์จะสอดคล้องต้องกันเกือบเป็นเสียงเดียวเหมือนกันเช่นทัศนะที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ นับตั้งแต่ความระแวงที่ว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ และความท้อใจที่เห็นเหตุการณ์ ในวันเลือกตั้ง” (พิมพ์ไทย 1 มีนาคม 2500)

เลืิอกตั้ง 2500 จึงได้รับการกล่าวว่า “เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์” (สารเสรี 1 มีนาคม 2500)

การที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ ลงข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งทุจริตอย่างครึกโครม ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ เพียงวันเดียวหลังจากที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มีนาคม 2500 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามป้องกันสถานการณ์ โดยการออกประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เช้าวันที่ 2 มีนาคม เพื่อ “ขอให้ประชาชนอยูในความสงบและปฏิบัติตามประกาศของทางราชการ”

แต่เหตุการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นัดประชุมที่หอประชุม เพื่อแสดงการคัดค้าน เลือกตั้งสกปรก ในวันนั้นมีการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตยด้วย ต่อมาการประชุมที่จุฬาฯ ได้ขยายตัวกลายเป็นการเดินขบวนจากจุฬาฯ ไปยังกระทรวงมหาดไทย

ฝ่ายนิสิตได้ตั้งข้อเรียกร้อง ดังนี้ ให้เลิกภาวะฉุกเฉินโดยทันที, ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ, ให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 1 เดือน, ให้สืบสวนเอาผู้กระทำผิดในการทุจริตมาลงโทษ และให้ตอบข้อเรียกร้องนี้ใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นก็เสนอให้ผู้ได้รับการเลือกตั้งลาออก

ในเย็นของวันที่ 2 มีนาคม 2500 กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ย้ายการชุมนุม จากหน้ากระทรวงมหาดไทยริมคลองหลอด เดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน จนถึงทำเนียบรัฐบาล และกลายเป็นกระแสการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากประชาชนชาวพระนครหลายหมื่นคนที่ไม่พอใจการเลือกตั้งได้ร่วมเดินขบวนด้วย

การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ครั้งนี้ มีนิสิตจุฬาฯ เป็นฝ่ายริเริ่ม โดยฝ่ายนักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องมาก่อน สุวิทย์ เผดิมชิต ประธานกรรมการนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ขณะนั้นผมกำลังนั่งเขียนข่าวอยู่ที่ น.ส.พ.สยามนิกร คุณสรวง ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม นายกสโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือหัวหน้านิสิตจุฬาฯ ได้โทรมาหาผม บอกว่าให้พานักศึกษาธรรมศาสตร์ไปช่วยกัน ทางจุฬาฯ เคลื่อนออกมาแล้วขณะนั้น

ทางธรรมศาสตร์ปิดภาคเรียนเรียบร้อยแล้ว มีแต่นักศึกษาที่มาสอบหรือมาเที่ยวเล่นเท่านั้น ผมรีบโทรศัพท์มาที่โรงพิมพ์ธรรมศาสตร์ และขอพูดกับคุณอิสระ นิติทัณฑ์ประภาส บรรณกรสโมสรไปแจ้งข่าวเดินขบวนให้นักศึกษาที่อยู่มหาวิทยาลัยทราบโดยทั่วกัน และให้ไปรวมกันที่กระทรวงมหาดไทย”

เบื้องหลังตรงนี้ ค่อนข้างเกี่ยวข้องกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่มาก เพราะตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง จอมพล สฤษดิ์ มิได้ชักชวนให้ทหารในกองทัพบกเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยกล่าวว่า

“เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ แล้ว ขออย่าได้บังคับกะเกณฑ์ให้ไปลงคะแนนให้พรรครัฐบาลเลย บุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็อาจจะเป็นคนดีได้”

ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคเสรีมนังคศิลาในพระนครได้คะแนนเสียงไม่มาก

ต่อมาเมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน ได้มอบหมายให้จอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้รักษาตามประกาศ แต่จอมพล สฤษดิ์ กลับเดินทางไปพบนิสิตจุฬาฯ ในเช้าวันที่ 2 มีนาคม 2500 และได้ปราศรัยแก่นิสิตจุฬาฯ ทำนองว่า “ถ้ามีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ก็จะหลีกทางให้”

ดังนั้น เมื่อขบวนนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็สั่งให้ทหารเปิดทาง และเป็นผู้นำขบวนไปพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม เสียเอง และเมื่อปล่อยให้ฝูงชนได้ “ซักฟอก” จอมพล ป. อยู่ระยะหนึ่งแล้ว จอมพล สฤษดิ์ ก็เป็นคนพูดไกล่เกลี่ย จนฝ่ายเดินขบวนย่อมสลายตัว จอมพล สฤษดิ์ ได้กล่าวกับฝูงชนว่า

“ข้าพเจ้าเป็นทหารของชาติ และขอพูดอย่างชายชาติทหารว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นใจ ประชาชน สิ่งใดที่มติมหาชนไม่ต้องการ ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมมือด้วย…” และได้ปิดท้ายการปราศรัยของตนว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

ข้อมูลจาก :

ศรีพนม สิงห์ทอง. 6 จอมพลไทย ยุคระบอบประชาธิปไตย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 2539

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500). สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, พิมพ์ครั้งที่ 3 2553

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เลือกตั้ง 2500” การเลือกตั้งสกปรก จุดกำเนิดคำพูดสุดฮิต “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 101
  • Season Change™
    ทบเรียนเรื่องซ้ำๆ จบด้วยเรื่องเดิมๆ 1.มีนักศึกษาโดนจับ 2.แกนนำไม่เคิยตาย 3.อาจารย์ผู้อยู่เบื้องหลัง ยิ้มสบาย 4.นายทุนตัวจริงอยู่หน้าทีวี 5.ปิดงานด้วยกำลัง
    26 ก.พ. 2563 เวลา 01.37 น.
  • Chayarath
    มันสกปรกมาตั้งแต่เลือกตั้งแล้ว.จนมาถึงวันนี้
    26 ก.พ. 2563 เวลา 01.51 น.
  • Off
    ช่วงนี้ โควิด-19ระบาด เลี่ยงการชุมนุมก้อดีนะ เป็นห่วง
    26 ก.พ. 2563 เวลา 02.15 น.
  • Satit kerdphol
    เริ่มทำข่าวสร้างความแตกแยกแล้ว สงบสติจิตใจ สร้างความสามัคคี เขียนข่าวในเชิงสร้างสรรค์บ้างเถอะ
    26 ก.พ. 2563 เวลา 02.42 น.
  • Ae.es
    เล่นกันทั้งเครือมติชนจริง ๆ รู้ว่าเสี้ยม
    26 ก.พ. 2563 เวลา 01.44 น.
ดูทั้งหมด