ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พาณิชย์เล็งคุมมาตรวัดมิเตอร์ไฟฟ้าดูแลประชาชน

NATIONTV
อัพเดต 15 ก.ค. 2562 เวลา 10.11 น. • เผยแพร่ 15 ก.ค. 2562 เวลา 04.10 น. • Nation TV
พาณิชย์เล็งคุมมาตรวัดมิเตอร์ไฟฟ้าดูแลประชาชน

"พาณิชย์" เล็งคุมมาตรวัดมิเตอร์ไฟฟ้าทุกเครื่องให้ได้มาตรฐานสากล เน้นกลุ่มหอพัก อพาร์ทเมนต์ ที่ต้องจ่ายค่าไฟสูงเกินจริง หวังสร้างความมั่นใจประชาชานจ่ายค่าไฟตรงความปริมาณการใช้จริง

นายจรินทร สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักชั่งตวงวัดกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สำนักมีแผนที่จะกำหนดมาตรฐานมาตรวัดปริมาตรไฟฟ้า(มิเตอร์ไฟฟ้า) ทุกเครื่องให้มีความเที่ยงตรงเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้มิเตอร์มีความเที่ยงตรงในการวัดปริมาตรไฟฟ้าและสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค เพราะในแต่ละเดือนครัวเรือนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มที่พักอาศัยในหอพัก อพาร์ทเมนต์ ฯลฯกังวลว่ามิเตอร์จะมีความเที่ยงตรงหรือไม่ และอาจต้องจ่ายค่าไฟสูงเกินจริงประกอบกับ ในอนาคตอาจมีผู้บริการไฟฟ้าหลายราย นอกเหนือจากการไฟฟ้าภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ดังนั้น สำนักจำเป็นต้องมีมาตรฐานวัดที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเสนอของบประมาณจากกรมการค้าภายในเพราะต้องมีการลงทุนซื้ออุปกรณ์ในการตรวจสอบมิเตอร์รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการโดยหากการกำหนดมาตรฐานมิเตอร์ไฟฟ้า ได้รับความเป็นชอบแล้วจะออกเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดชนิดและลักษณะของมาตรวัดปริมาตรไฟฟ้าเหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่กระทรวงได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดชนิด และลักษณะของมาตรวัดปริมาตรน้ำรายละเอียดของวัสดุที่ใช้ผลิต และอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ไปแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากออกประกาศแล้วจะมีผลทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าของผู้ผลิตและผู้นำเข้าทุกราย ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักและจะมีสติกเกอร์ หรือเครื่องหมายติดบนตัวมิเตอร์ทุกตัวว่าผ่านการตรวจสอบแล้วรวมถึงติดสติกเกอร์์ป้องกันการแก้ไข ดัดแปลงมิเตอร์ด้วย ส่วนมิเตอร์ที่ใช้งานอยู่แล้วจะเน้นการตรวจสอบของหอพัก อพาร์ทเมนต์ ฯลฯ และที่อยู่อาศัยก่อนคาดว่าจะทยอยตรวจสอบได้ครบภายใน 2-5 ปี

"ที่ผ่านมา ปัญหาที่ชาวบ้านกังวล เช่นมิเตอร์หมุนเร็วเกินไปซึ่งผิดหลักความเป็นจริงและไม่สอดคล้องกับการใช้ไฟฟ้าในเดือนก่อนหน้าทั้งๆที่ผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าตามปกติรวมถึงไม่แน่ใจว่ามิเตอร์ที่ใช้อยู่จะหมุนตามความเป็นจริงหรือไม่และที่สำคัญกังวลว่าถูกเรียกเก็บค่าไฟสูงเกินจริง เป็นต้นหากดำเนินการได้จะทำให้ชาวบ้านสบายใจได้ อย่างไรก็ตามกรมจะดูแลมิเตอร์ไฟฟ้าเฉพาะในเรื่องของความเที่ยงตรงเท่านั้น ส่วนการได้มาตรฐานความปลอดภัยเป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้สำนักยังได้จัดส่งนายตรวจชั่งตวงวัด ออกตรวจสอบ และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนซึ่งพบพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงงานบรรจุก๊าซหุงต้มบรรจุก๊าซไม่ตรงตามที่ระบุไว้บนตัวถังก๊าซ เช่น น้ำหนักขาดหาย เป็นต้นซึ่งได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดดำเนินคดีแล้วโดยได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่ของสำนัก สอดส่องพฤติกรรมของผู้บรรจุก๊าซหุงต้มทุกราย

พร้อมกันนั้นยังออกตรวจสอบผู้ประกอบการรับซื้อสินค้าเกษตรทั่วประเทศ เช่น ยางพารา ที่พบว่าใช้เครื่องชั่งสปริงรับซื้อสินค้าเกษตรแทนการใช้เครื่องชั่งแบบดิจิทัลโดยได้ดัดแปลงแก้ไขเครื่องชั่งสปริงเพื่อให้มีน้ำหนักมากเกินจริง เอาเปรียบเกษตรกรรวมถึงการตรวจสอบบรรดาพ่อค้าแม่ค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วงช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อรักษาความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรและคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้หลายราย เช่นแผงขายทุเรียนรายหนึ่ง หลอกลวงค่าน้ำหนักของทุเรียนเกินน้ำหนักอันแท้จริง 2-3ขีดต่อลูก เป็นต้น

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • maTin
    เอาเปรียบยังไง​ ในเมื่อไฟฟ้าคิดอัตราก้าวหน้ามา​ ไม่ใข่เรทบ้าน​ แล้วค่าติดตั้งหม้อแปลงก็คนละแบบกับบ้าน​ อพาร์ทเม้นท์​เป็นธุรกิจ​ ไม่ใช่รัฐเป็นคนสร้าง​ จะให้ราคาเดียวกันได้ยังไง​ ใครแบกรับต้นทุน​ กลไลภาคธุรกิจมันมีอยู่แล้ว​ จะทำแต่หาเสียง​ ถามพวกผู้ประกอบการดูซิมันกำไรมากขนาดนั้นเลยรึยังไง
    17 ก.ค. 2562 เวลา 05.28 น.
  • ใจละเมอ
    คุนอย่าทำเลยเด๋วค่าครองชีพพวกผมแพงขึ้นอีก
    17 ก.ค. 2562 เวลา 04.26 น.
  • Phong 4659
    ไฟฟ้า ขูดรีดจากประชาชน แอบแพงมาตลอดหลายสิบปี
    16 ก.ค. 2562 เวลา 01.25 น.
  • Apidech.L
    สงสัยจะว่างงาน หาเรื่องนุ้นเรื่องนี้ ไอ้ที่จำเป็นก็ไม่รีบไปทำ
    16 ก.ค. 2562 เวลา 00.36 น.
  • varavuth
    เอาเวลาไปดูเรื่องปากท้องประชาชนดีกว่าไหม ถ้าจะคุมมิเตอร์ไฟฟ้าไปคุมการไฟฟ้าอยากขึ้นค่าไฟดีกว่า
    16 ก.ค. 2562 เวลา 00.34 น.
ดูทั้งหมด