ทั่วไป

ปัญหายาง 'ถามซีพีเขายัง?'

ไทยโพสต์
อัพเดต 20 พ.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2561 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

    แจกผู้มีรายได้น้อย ๓.๘ หมื่นล้านบาท     แจกชาวสวนยาง ๑.๘ หมื่นล้านบาท      นี่คือ "ปัญญาประดิษฐ์" ของรัฐบาล คสช.ใช้เลี้ยงปัญหาปากท้องคนรายได้น้อย และปัญหาราคายางตกต่ำ!     คำถาม คือ……..     -ทำให้คนรายได้น้อยพัฒนาเป็นคนรายได้มากขึ้นมั้ย?     -ตลาดยาง ราคามันสนองตอบเงินแจกก้อนนี้มั้ย?     ขึ้นชื่อว่า "แจก" ดีทั้งนั้น      แต่การแก้โจทย์ด้วยการใช้เงิน "เลี้ยงปัญหา" ซ้ำๆ ซากๆ     ผลหวังได้ที่ตามมา คือ………     "คนรายได้น้อย" กับ "เงินแจก" จะเพิ่มถาวรในเชิงขยายตัว "นิรันดร์กาล"      และนั่น จะเป็นปัญหาทางงบประมาณไปตลอดชาติ!      กรณีปัญหาราคายาง…….     ถามว่า "ยางพารา" ยังขายได้มั้ย?     คำตอบ คือ ยังเป็นสินค้า "ขายได้"     แล้วปัญหายางอยู่ตรงไหน?     อยู่ตรง "คนซื้อ" รับซื้อในราคาต่ำมาก     ก็แสดงว่า "ยางพารา" ยังเป็นที่ต้องการของตลาดการค้าอยู่ แต่ที่ราคาต่ำมากนั่นน่ะ มาจากเหตุไหน?     มาจากอุปสงค์-อุปทาน, จากน้ำมันถูก ตลาดจึงไปใช้ยางสังเคราะห์แทน, จากปลูกกันจนล้น, จากบริหาร-จัดการไม่ซื่อ, จากใช้คนไม่ถูกกับงาน และ ฯลฯ     เรียกว่า ร้อยแปดพันเก้าสาเหตุ การจะแก้ให้ตรงปัญหาระดับรัฐ ต้อง "เจาะเลือด" ตรวจหาเชื้อ  เพื่อให้ยาตรงโรค     ยางราคาตก ที่แน่ๆ…..     สาเหตุไม่ได้มาจากชาวสวนยาง "ไม่มีเงิน"!     ดังนั้น การเอาเงิน ๑.๘ หมื่นล้านไปแจก เหมือนคันหัว แต่ไปเกาตูด     บอกตรงๆ เสียดาย!     เงิน ๑.๘ หมื่นล้าน เอามากองไว้ก่อน แล้วเรียกหลายๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายชาวบ้าน ให้มาช่วยกันคิด แล้วเสนอซิว่า     กับเงินก้อนนี้……..     ใครมีวิธีนำไปใช้แก้ปัญหาราคายางตกได้ดีกว่าวิธี "เอาเงินละลายน้ำแจก" ลองบอกซิ?     ผมว่าเงินร่วม ๒ หมื่นล้านนี้ จะเกิดรูปธรรมที่ยอมรับ ทั้งจะเป็นตัวผลักดันกลไกตลาดเชิงดีมานด์-ซัพพลาย "ขยับราคายาง" ให้สูงขึ้นได้     และทั้งเงิน ๑.๘ หมื่นล้าน จะไม่เป็นเบี้ยหัวแหลก-หัวแตกเฉพาะคนสวนยาง ๑.๔ ล้านราย กินแล้วก็ถ่ายหมดไป     หากแต่คนในอาชีพยางทั้งหมด……….     รวมถึงคนทั้งประเทศ จะได้อานิสงส์ในเงิน ๑.๘ หมื่นล้านถ้วนทั่ว เรียกได้ว่า "ฝนตกทั่วฟ้า" ทั้งคน-สัตว์-พืชไร่ "ได้หมด"     ไม่ต้องคิดซับซ้อน……..     คนร้อยละ ๙๙.๙๙ เป็นหมอดูแม่นๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ โน่นแล้วล่ะว่า     ใน ๖-๑๐ ปี ข้างหน้า……….     วิบัติ-หายนะ ต้องเกิดกับราคายางประเทศไทยล้านเปอร์เซ็นต์!     แล้วมันก็จริง จากราคาที่เคยขึ้นไปกิโลละเฉียด ๒๐๐ วันนี้ เหลือ ๓๒ บาท     สาเหตุหลักก็คือ เมื่อปี ๒๕๔๒ ถ้าจำไม่ผิด "ยุครัฐบาลชวน"    มีมติ ว่า     "จำกัดการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราให้ไม่เกิน ๑๒ ล้านไร่"      หากจะปลูกใหม่ ให้ปลูกทดแทน "เฉพาะพื้นที่เดิม" และไม่ควรปลูกใหม่ในพื้นที่ "ภาคเหนือ"          พูดง่ายๆ ควบคุมปริมาณยางให้อยู่เฉพาะภาคใต้ ซึ่งสร้างผลผลิตเป็นปริมาณที่สอดคล้องความต้องการตลาดแล้ว      "ยุคชวน" ราคายางถึงขึ้นไปโลละร้อยกว่าบาท!     มาปี พ.ศ.๒๕๔๖………     ยุครัฐบาลทักษิณ "เปลี่ยนมติ" รัฐบาลชวน จากจำกัดพื้นที่ปลูกยาง     ให้เป็น "สามารถขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้ทุกภาคของประเทศ"!     แล้วโครงการ "ยางพารา ๑ ล้านไร่" ก็เกิดขึ้น     โดย ทักษิณ-นายกฯ, เนวิน รมช.เกษตรฯ สองแรงแข็งขันสั่งขยายพื้นที่ปลูกยางใน ๓๖ จังหวัด     ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ใน ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ      ๗๐๐,๐๐๐ ไร่ ใน ๑๙ จังหวัดภาคอีสาน      ใช้งบ ๑,๔๐๐ ล้าน บอกว่า โครงการขยายพื้นที่ทั่วประเทศ ๑ ล้านไร่ ที่จากเดิมจำกัดไว้เพียง ๑๒  ล้านไร่      เพื่อแก้ปัญหาความยากจน เพื่อให้มีผลผลิตสอดคล้องความต้องการยางของโลก ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒.๖ ต่อปี      ก็ต้องจำกันด้วย……     ตอนนั้น เป็นยุคเศรษฐกิจบูม ราคาน้ำมันโลกพุ่งพรวดๆ เป็นร้อยกว่าเหรียญ/บาร์เรล     นั่นคือ น้ำมันแพง ตลาดยางเลี่ยงจากยางสังเคราะห์ที่แพงตาม หันมาใช้ยางพาราซึ่งถูกกว่า     บวกเศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น ทักษิณจึงเห็นโอกาส "รวยแบ่งกัน" เฉพาะหน้า     โครงการ "ทักษิณคิด-เนวินทำ" การขยายพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศล้านไร่ จึงเกิดเป็น "มรดกวิบัติ" ตกทอดถึงวันนี้      แล้วใครล่ะ "รวยเฉพาะหน้า" กับโครงการนี้ด้วย?     บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นี่ไง!     ได้สัญญาเป็นผู้ "ผลิตต้นกล้าพันธุ์ยางพารา" ๙๐ ล้านต้น ให้กระทรวงเกษตรฯ วงเงิน ๑,๓๙๗ ล้านบาท      การผลิตกล้ายางของซีพี เป็นเรื่องมหากาพย์เล่ากันไม่จบ แต่ประเด็นที่ผมจะคุยไม่ได้อยู่ตรงนี้     หากแต่อยู่ตรงว่า……..     ทุกวันนี้ ในโครงสร้างธุรกิจ-เศรษฐกิจประเทศ แทบไม่มีตรงไหนที่ไม่มีซีพีเกี่ยวข้อง     บาปประเทศจากปัญหายางวันนี้ ต้องยอมรับว่า นอกจาก "ทักษิณ-เนวิน" แล้ว     "ซีพี" มีส่วนร่วมใน "บาป" นั้นด้วย!     บาปล้างไม่ได้ แต่ทำดีให้บาปลดความเข้มข้นได้     ผมจึงเห็นว่า………..     ในโครงการ EEC หนึ่งแห่ง และเมืองใหม่ของเสี่ยซีพีแถวฉะเชิงเทราอีกหนึ่งแห่ง รวมถึงถ้าได้สัมปทานรถไฟฟ้าเชื่อม ๓ สนามบิน อีกหนึ่งแห่ง     โครงการด้วยพื้นที่นับเป็นหมื่นๆ ไร่ รวมแล้วอาจเป็นแสนไร่ ต้องทำถนนหนทางทั้งนั้น     รัฐบาล คสช.โดย "กระทรวงเกษตรฯ" นั่นแหละ ทำเป็นไขสือ เป็น "กระทรวงซีพีและสหกรณ์" มาทุกยุคสมัย     ไปบอกให้เสี่ยซีพี "รับซื้อยางพารา" นำไปใช้ทำถนน ในโครงการของเสี่ยซีพี ช่วยชาติให้ชาวบ้านสรรเสริญบ้าง     และในพื้นที่ EEC รัฐบาลก็ "สั่งการไปเลย" ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมทำถนนและในพื้นที่เหมาะสม     แค่นี้ ราคายางจาก ๓-๔ โลร้อย ด้วยดีมานด์-ซัพพลาย จะขึ้นไปกว่า ๖๐ บาทได้ด้วยซ้ำ!     ถามว่า เอาเงินที่ไหนมาซื้อ?     ไม่เกี่ยวกับเงินเพิ่ม เพราะแต่ละโครงการ ยังไงๆ ก็ต้องลงทุนถนนหนทางอยู่แล้ว      เพียงเปลี่ยนมุมคิด จากยางมะตอยหรือคอนกรีต มาเป็นยางพาราบ้างเท่านั้น     โดยเฉพาะรัฐบาล มีอยู่แล้ว ๑.๘ หมื่นล้าน แทนที่จะแจกแล้วหมดไป     บอกชาวสวนยาง ๑.๔ ล้านคนนั่นเลย     อย่าแบ่งเลยนะ ทั้ง ๑.๔ ล้านคน ถือว่า "เข้าหุ้น-ร่วมทุน"     เอาเงิน ๑.๘ หมื่นล้าน ไปลงทุน "รับซื้อยาง" ตอนนี้ เก็บไว้ขายตอนราคาขึ้น ค่อยเอาส่วนกำไรมาหารแบ่งกันสนุกๆ จะเอามั้ย?     เนี่ย เป็นการบริหารเงิน "รวยแล้วแบ่งกัน" ของแท้      ไม่ใช่แบบ "โกงแบ่งกัน" เงินต้นก็หาย กำไรก็เขมือบ เอาทั้งขึ้น-ทั้งล่อง!     ถนนหนทาง "คมนาคม-ทางหลวง" มันของรัฐ เงินหลวง คือเงินประชาชน เห็นพูดอยู่นั่นแหละ ให้เอายางพารามาทำถนน      แต่ไม่เห็นมีใครทำตามนายกฯ พูด-นายกฯ สั่ง?     อ้าง "มันแพง"……..     ที่ว่าแพงน่ะ เงินคุณมึงหรือ ก็เงินภาษีชาวบ้าน แพงไปกับซื้อผลิตผลยางของชาวบ้านมาทำถนนให้ชาวบ้าน แถมคุณภาพก็คงทนกว่า     คุ้มเกินคุ้ม อ้างว่าแพง เพราะไปผูกขาไว้กับพ่อค้ายางมะตอยและผู้รับเหมาน่ะซี!     องค์รัฏฐาธิปัตย์ "ทุบโต๊ะ" กับหน่วยงานรัฐให้ซื้อยางมาทำถนนไม่ได้ แล้วจะไปสั่งอะไรกับใครได้?     เรื่องนี้ "ซีพี" ต้องช่วยซื้อยางบ้าง     ๙๐ ล้านต้น จาก ๑ ล้านไร่ เป็นผลิตผลของซีพี ถึงคราวน้ำยางกลายเป็นน้ำตาชาวสวน     ซีพีก็ควรช่วยเช็ดน้ำตา ก็แฟร์นะ!     นี่ถ้าได้สัมปทานรถไฟเชื่อม ๓ สนามบิน เท่ากับได้พื้นที่มักกะสันและที่ศรีราชา      ถ้าซีพีประกาศ ปรับนโยบาย ใช้ "ยางพารา" ในพื้นที่เป็นถนนหนทาง     รับรอง "เซเว่น" จะขายข้าวแกง ส้มตำ สะตอ ยำปลาร้า กระทั้งว่า "แบงก์-เมรุ" เซเว่นก็มีบริการ     จะไม่มีใครว่า "แย่งอาชีพ" อีกเลย      มีแต่จะบอกว่า อยากค้า-อยากควบ-อยากอ๊วบอะไรอีก เชิญท่านซีพีตามสบาย!     ไทยมีผลผลิตยาง ๔-๕ ล้าน/ปี มากที่สุดในโลก เหมือนข้าว ขายกันเป็นเกวียน-เป็นกิโล ด้วยผลิตผลดิบๆ อย่างนั้นมาเป็นร้อยปี     แล้วยุทธศาสตร์ ๔.๐ ในโครงการ EEC มีอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมใช้ยางเป็นวัตถุดิบหลัก เป็นสินค้าแปรสภาพจากยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอะไรบ้างล่ะ?     และพื้นที่ปลูกยางต้องลด โดยเฉพาะที่ใช้อิทธิพลบุกร้างถางภูเขาในเหนือ-อีสาน ต้องตัดให้เหี้ยน     "กรมวิชาการเกษตร" ถ้าปล่อยให้เป็นตัวเขาเองทำหน้าที่ เขาจะบอกชาวบ้านได้ว่า     พื้นที่ไหน ควรปลูกพืชแบบไหน?          จะไม่เป็นแบบ "ทักษิณ-เนวิน" สั่งลุย ๑ ล้านไร่ "เหนือ-อีสาน" เอาปลูกยางให้หมด!     คนใต้น่ะ "นักเลง-พูดง่าย-ใจถึง" ปัญหายาง มีทั้งจริง ทั้งทำให้เหมือนจริง      นายกฯ นัดวัน-เวลา-สถานที่ ลงไปนั่งกลางลานเปิดใจพูดจา กินข้าว-กินเหล้ากะเขา เอากันให้แจ้งซักวัน     ใจถึง มันก็ถึงใจ ทุกอย่างจบ เพื่อพบกันด้วยใจ!     พระพุทธเจ้าตรัสไว้……..     "นัตถิ ตัณหา สมานที" ไม่มีแม่น้ำใดๆ เสมอเท่าความต้องการมนุษย์     นั่นคือ "แจก" เท่าไหร่ก็ไร้ประโยชน์ (พรุ่งนี้-ลา ๕ วันนะครับ)!

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 144
  • kitti
    ไม่นานก็จะตายแล้ว ยังทำหัวแข็ง
    21 พ.ย. 2561 เวลา 16.43 น.
  • sps--59-- 🐾🐶💕😽🐾
    มันเป็นที่รัฐบริหารจัดการไม่เป็น ไม่มีลูกเล่นหรือกลยุทธการตลาดเลย ทหารจะค้าขายเป็นหรือครับ คุณทักษินเขานักธุรกิจเขารู้ว่าเวลาไหนควรทำไร ทำแล้วปชช.ต้องได้ตัง ตอนนั้นโลละ100ยังโวยจะเอา120.150 พอทหารเข้ามาแล้วเป็นไง 3โล100 เงียบเป็นเป่าสาก ไม่เห็นใครกล้าหืออือเลย คุณเปลวก็จ้องจะเล่นแต่คุณทักษินอย่างเดียวทุกเรื่องดึงไปเกี่ยวหมด ผมว่าคนกลัวมหารเกินไปป่าวไม่กบ้าพูดเรื่องจริง เลียแข้งขาเอาตัวรอดไว้ก่อน
    21 พ.ย. 2561 เวลา 16.26 น.
  • อย่าแจกเงินครับให้รัฐซื้อราคาเต็มแต่คนปลูกต้องล้มต้นยางลงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ปลูกแล้วปลูกอย่างอื่นตามความเหมาะสม
    21 พ.ย. 2561 เวลา 16.00 น.
  • Maithai 1
    อยากให้รัฐสรุปเหมือนกันว่า1.งบที่ใช้เกี่ยวกับวิจัยข้าว ยาง เท่าใด มีผลงานอะไรออกมาที่นึกออกบอกถูกกับคนทั่วไปว่ามัน ไม่มาขายยาง. หรือข้าว แบบธรรมชาติ หรือ2.ราคาถูกกดตำ่ เพราะอยู่ที่คนรับซื้อหรือไม่
    21 พ.ย. 2561 เวลา 15.52 น.
  • นำเสนอได้ถูกใจจริงๆ ถ้ารัฐบาลจัดสรรเงินให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ก่อสร้างถนนสักปีละ หมื่นสองหมื่นล้าน โดยใช้ส่วนผสมยางพารา จะทำให้ปริมาณการใช้ภายในประเทศมีมากขึ้น น่าจะช่วยได้เยอะ นี่ผมเห็นแต่สั่งการลงมา ถามจริงๆเถอะมีกี่หน่วยที่ทำจริง ผมกลัวแต่สร้างภาพไปวันๆ ไม่รู้ว่าใช้จริงหรือไม่ ทำถนนในหน่วยงาน/หน่วยทหาร/สถานศึกษา รับรองครับปริมาณยางหายจากตลาดไปเยอะ อุปสงค์กับอุปทานจะสอดคล้องกัน ไม่เชื่อลองดู
    21 พ.ย. 2561 เวลา 15.44 น.
ดูทั้งหมด