ทั่วไป

ทั่วโลกเริ่มกักตุนสินค้า แบนส่งออก-หวั่น ‘วิกฤตอาหาร’

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 06.54 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 09.30 น.
REUTERS/Piroschka van de Wouw

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” สร้างความตื่นตระหนกจนก่อให้เกิดการกักตุนสินค้าและอาหารตามที่เห็นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก จากความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลน แม้ว่าข้อมูลจะบ่งชี้ว่าปริมาณอาหารสำรองทั่วโลกยังเหลือเฟือ แต่การซื้อและกักตุนของผู้บริโภครายใหญ่ อย่างรัฐบาลและบริษัทอาหารก็อาจสร้างภาวะขาดแคลนขึ้นมาได้

รอยเตอร์สรายงานว่า ข้อมูลคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ในปี 2020 ปริมาณ ข้าวสาลี สำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 287.14 ล้านตัน จากปี 2019 อยู่ที่ 277.57 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณ ข้าวสาร สำรองทั่วโลกอยู่ที่ 182.3 ล้านตัน จากปี 2019 ที่ระดับ 175.3 ล้านตัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ “โอเล ฮูเออร์” ผู้อำนวยการบริษัทนายหน้าสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตร IKON Commodities ระบุว่า “ปัจจุบันสหรัฐมีการนำข้าวโพดจำนวน 140 ล้านตัน ซึ่งสำรองไว้เพื่อผลิตเอทานอลเป็นประจำทุกปี ซึ่งก็สามารถนำมาทดแทนการบริโภคได้หากเกิดความต้องการ โดยเฉพาะช่วงที่ราคาพลังงานกำลังตกต่ำ”

อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ชี้ว่า วิกฤตอาหารทั่วโลกอาจเกิดขึ้นจากการซื้อและกักตุนของผู้บริโภครายใหญ่ ๆ เช่น รัฐบาล และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร จากความกังวลภาวะขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นในประเทศ

โดย “อับดุลลาซาห์ อับบาเซียน” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอฟเอโอ ระบุว่า ระบบขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลให้ผู้ซื้อรายใหญ่เร่งซื้อและกักตุนอาหารจากความกังวลว่าอาจไม่ได้รับการส่งสินค้าอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ การกักตุนของผู้บริโภคในประเทศก็อาจสร้างความตื่นตระหนกต่อรัฐบาลจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้เช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความกังวลดังกล่าวเริ่มส่งผลต่อนโยบายของแต่ละประเทศ เพื่อรับประกัน“ความมั่นคงทางอาหาร” ของหลายประเทศแล้ว บลูมเบิร์กระบุว่า ปัจจุบันคาซัคสถานได้ประกาศสั่งห้ามส่งออกอาหารอย่างแป้งสาลี เมล็ดธัญพืชบักวีต และหัวหอม ขณะที่ เซอร์เบีย ประกาศแบนการส่งออกอาหาร เช่น มันฝรั่ง น้ำตาล แครอต และน้ำมันทานตะวัน รวมทั้ง รัสเซีย ที่เริ่มนำนโยบายห้ามการส่งออกอาหารมาใช้เช่นกัน

ในส่วนประเทศผู้นำเข้าก็เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายเช่นกัน โดย โมร็อกโก สั่งยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวสาลีไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2020 ส่วน จีน ก็เริ่มกักตุนอาหารโดยประกาศซื้อข้าวสารที่ผลิตภายในประเทศจำนวนมาก ถึงแม้ว่าสต๊อกที่มีอยู่ปัจจุบันจะสามารถบริโภคภายในประเทศได้ถึง 1 ปี

นโยบายเหล่านี้สร้างความกังวลว่าอาจส่งผลให้เกิดภาวะ “วิกฤตอาหาร” ทั่วโลกขึ้นมาจริง ๆ“ทิม เบนตัน” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความเสี่ยงของชาแทม เฮาส์ หน่วยงานวิจัยด้านกิจการระหว่างประเทศ กล่าวเตือนว่า หากรัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งสร้างความกังวลต่อความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น และก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลต่าง ๆ เพิ่มระดับนโยบายที่มีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็น “วงจรอุบาทว์”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าบริโภคเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวีปแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง

ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2008 และ 2011 ซึ่งราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจลมากกว่า 30 ประเทศ

โดยปัจจุบันพบว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรเริ่มดีดตัวขึ้นมาแล้ว เช่น ราคาข้าวสาลีสหรัฐในตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโกเพิ่มขึ้นราว 10% นับตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ขณะที่ราคาเนื้อวัวขายส่งในสหรัฐก็เพิ่มขึ้นจนแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2015 รวมถึงราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ เริ่มดีดตัวขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับค่าเงินของตนที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาแพงมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความแตกต่างจากปี 2008 และปี 2011 ที่ภาวะวิกฤตอาหารเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ซึ่งกระทบกับปริมาณซัพพลาย ขณะที่วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันมาจากอุปสงค์มากกว่า เนื่องจากเป็นการกักตุนอย่างตื่นตระหนกของผู้เล่นรายใหญ่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทั่วโลก

ในภาวะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญวิกฤตร่วมกัน จึงไม่ควรนำนโยบาย “ชาตินิยม” มาใช้ ดังเช่นที่ “เม็กซิโม โทเรโร” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอฟเอโอ กล่าวว่า รัฐบาลทั่วโลกควรสร้างความร่วมมือกันมากกว่าตั้งนโยบายเพียงเพื่อปกป้องประเทศตัวเอง

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 12
  • chuyod
    เราเชี่อมั่นนายกลุงตู่
    28 มี.ค. 2563 เวลา 10.21 น.
  • โอ่ง
    ยกเว้นไทยกลัวส่งออกไม่โตส่งไข่กับผ้าปิดจมูกGDPโตแน่ๆ
    28 มี.ค. 2563 เวลา 10.53 น.
  • mayuree
    ใช่ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ถ้าเอาเเต่ประเทศใครประเทศมัน จะไม่มีใครรอดเลยสักประเทศ
    28 มี.ค. 2563 เวลา 10.33 น.
  • 09
    สาดปล่อยข่าว น่ายิงกะบาล ขอบอก ไม่บ้าตามมึงหรอก สรุปแก้ไม่ได้ ความจริงไม่พูดกัน ค้างคาวห่าไร คิดดีๆๆแล้วค่อยพูด
    28 มี.ค. 2563 เวลา 10.28 น.
  • Ashera
    ถ้าได้ห้าพันค่อยตุน
    28 มี.ค. 2563 เวลา 10.26 น.
ดูทั้งหมด