ไลฟ์สไตล์

ขึ้นรถไฟฟรี สนับสนุนจักรยาน วางแผนระยะยาว ดูวิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของ 6 เมืองทั่วโลก

The MATTER
อัพเดต 18 ม.ค. 2562 เวลา 06.37 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2562 เวลา 10.41 น. • Pulse

ฝุ่นหนา ควันดำ มลพิษอากาศ ทำเอาหายใจกันลำบาก ปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกพร้อมใจกันเผชิญ ที่กระทบต่อทั้งสุขภาพประชาชน คุณภาพชีวิต สูดดมเข้าไปมีแต่ทำร้ายร่างกาย ที่รัฐต้องเร่งหาวิธีแก้ไข เพื่อให้อากาศที่สดใสได้กลับคืนมา

ซึ่งแต่ละเมือง แต่ละประเทศ ต่างก็มีวิธีแก้ปัญหาที่ต่างกัน ทั้งเน้นภาคอุตสาหกรรม ปิดโรงงาน ควบคุมควันดำ และการปล่อยของเสีย เน้นส่งเสริมขนส่งสาธารณะ พัฒนารถบัส รถไฟ ไปจนถึงปรับลดราคา ไปจนถึงแผนระยะยาวของประเทศ และเมือง ที่จะยกเลิกการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างพื้นที่สีเขียว ทวงคืนและเพิ่มโอโซน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในระหว่างที่ภาครัฐบ้านเรา กำลังฉีดน้ำขึ้นฟ้า แก้ไขปัญหาฝุ่นกันอยู่ The MATTER ขอพาไปดูวิธีแก้ไขปัญหา และนโยบายของเมือง และประเทศต่างๆ ว่าพวกเขาป้องกันมลพิษทางอากาศกันอย่างไร และแต่ละวิธีช่วยลดปัญหานี้ได้มากแค่ไหน

จีน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วางแผนระยะยาว ตั้งเป้าใหญ่ปรับปรุงคุณภาพอากาศ

ภาพหมอกหนาทึบ คนใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน กลายเป็นภาพที่เราเห็นเป็นประจำในจีน พร้อมๆ กับข่าวสภาวะมลพิษอากาศ ซึ่งจีนก็เป็นหนึ่งประเทศที่หาทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด โดยมีแผน5 ปี (2013-2017) กับโครงการกว่า 81 อัน เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศ ลดฝุ่น PM 2.5 ในเมืองหลักๆ อย่างปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย และบริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง

โดยมีแผนการทั้ง การห้ามปิ้งย่าง ปิดโรงงานที่ปล่อยควันมลพิษเกินมาตรฐานกว่า 2,500 แห่ง ปิดโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ห้ามประชาชนเผาถ่าน ออกกฎกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยของเสียของรถยนต์ นโยบายขับรถในวันคู่-วันคี่ตามทะเบียนรถ และกระตุ้นให้ประชาชนใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งเมื่อแผนนี้สิ้นสุดลง ทางการจีนก็ได้ออกแผนใหม่ที่ชื่อว่า China: 2020 ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติงาน 3 ปีที่มีเป้าหมายเน้นไปที่ ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และไนโตรเจนออกไซด์อย่างน้อย 15% ลด PM 2.5 อย่างน้อย 18%จากปี 2015ลดการใช้ถ่านหินให้ได้ 180 ล้านตัน ใน 3 ปี เน้นที่การสร้างโอโซนให้เพิ่มขึ้น และยังขยายพื้นที่ดำเนินแผนการเป็นวงกว้าง ไปมณฑลอื่นๆ เช่นบางเมืองในมณฑลส่านซี, เหอหนาน, ชานซี และชานตงด้วย

และด้วยแผนต่างๆ นี้ ทำให้ปักกิ่งสามารถลดระดับ PM2.5จาก 89 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลงมาเป็นเฉลี่ยต่อปีที่ 58 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรได้ รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่ก็บรรลุเป้าหมายเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นจีนก็ยังไม่ถึงระดับ PM2.5 ที่องค์การอนามัยโลก (WTO) แนะนำเฉลี่ยต่อปีที่ 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และในช่วงที่สิ้นสุดปี 2017 ก็มีเพียง 107 เมืองจาก 338 เมือง ที่มีค่า PM2.5 ผ่านมาตรฐานชั่วคราวของ WTO คือ 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ปารีส, ฝรั่งเศส

จำกัดรถเก่า และรถปล่อยมลพิษไม่ให้เข้าเมือง

ไม่ใช่แค่ในเอเชีย แต่ประเทศในยุโรป ก็เผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง และมลพิษเช่นกัน โดยปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ได้มีระบบ Crit’Air หรือการติดสติ๊กเกอร์ 6 สี จำแนกประเภทรถตามการปล่อยมลพิษมากที่สุด ไปถึงน้อยที่สุดตามมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยุโรป ซึ่งจะจำกัดยานพาหนะให้เข้าสู่กลางเมืองโดยในช่วงที่มีนโยบายควบคุม รถที่มีสติกเกอร์ระดับ 1-4 ที่ปล่อยมลพิษน้อยเท่านั้นจะสามารถเข้าสู่โซนกลางเมืองได้ แต่ทางการก็มีการเตรียมบริการขนส่งสาธารณะฟรี เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนบริการมากขึ้นด้วยในช่วงเวลานั้น ซึ่งหอสังเกตการณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศ คาดว่าโครงการนี้จะช่วงลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ลงถึง 16% เลยด้วย

นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีของปารีส ยังมีแผนอื่นๆ เช่น ห้ามรถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1997 และรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซลที่ลงทะเบียนก่อนปี 2001 (ปีนี้จะเพิ่มเกณฑ์เป็นปี2005) เข้าสู่กลางเมืองในช่วงวันธรรมดาเวลา 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมาก

ทั้งยังมีแผนการระยะยาว ในการให้รถยนต์ดีเซลผิดกฎหมาย ภายในปี 2024 กับรถยนต์เบนซิน ภายในปี 2030 ด้วย และหันไปทุ่มงบประมาณจำนวนมากกับการขนส่งรูปแบบอื่นๆ แทนเช่น ประชาชนสามารถได้เงินช่วยเหลือมากถึง 600 ยูโร (ประมาณ 2 หมื่นบาทไทย) เพื่อช่วยในการซื้อจักรยาน รับบัตรผ่านระบบขนส่งสาธารณะ หรือเข้าร่วมโครงการแบ่งปันรถยนต์ และธุรกิจขนาดเล็กยังสามารถรับสิทธิสูงถึง 9,000 ยูโร (ประมาณ3.2 แสนบาท) ต่อค่าใช้จ่ายในการใช้รถบัส หรือรถบรรทุกไฟฟ้าด้วย

โซล, เกาหลีใต้

*ขนส่งสาธารณะฟรี และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย *

เกาหลีใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่กำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศ และฝุ่น PM2.5 รุนแรงไม่แพ้บ้านเรา แต่สำหรับที่โซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ในวันที่ระดับค่าฝุ่น PM2.5 สูงในระดับอันตราย จะมีการแจ้งเตือนผ่าน SMSให้ประชาชนรับรู้ได้โดยทันที ทั้งในวันนั้นทางการจะออกมาประกาศสั่งงดกิจกรรมในที่โล่งแจ้งทุกอย่าง

เท่านั้นยังไม่พอ ตั้งแต่ปี 2017 ได้มีแผนฉุกเฉิน ประกาศให้ประชาชนสามารถโดยสารรถสาธารณะฟรี ในชั่วโมงเร่งด่วนด้วย เพื่อลดปริมาณของรถยนต์ด้วย ซึ่งแม้จะเป็นจำนวนเงินที่มหาศาล แต่ Park Won-soon นายกเทศมนตรีของโซลก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “มูลค่าของมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่กว่าของเงิน”

ไม่เพียงเท่านั้น ทางการของโซลยังมีวิธีแก้ไขปัญหาอีกหลายอย่าง ทั้งการออกกฎหมายขับขี่รถในวันคี่ – วันคู่ ห้ามรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนก่อนปี 2002 และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินที่จดทะเบียนก่อนปี 1997  วิ่งในโซล ให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนลดการผลิต ติดตั้งสถานีจักรยานเพิ่มเติม และพยายามสร้างพื้นที่สีเขียว และทางเท้าด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยมีการใช้โดรนบินตรวจจับมลพิษ และการลักลอบปล่อยของเสียจากโรงงาน ทั้งทางการโซลกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน ที่มีแผนที่มลพิษทางอากาศ แจ้งเตือนข้อความเพื่อสื่อสารข้อมูลแบบเรียลไทม์ ในวันที่ความหนาแน่น PM2.5 และ PM10 สูงถึงระดับอันตรายด้วย

บาร์เซโลนา, สเปน

*เปลี่ยนทางรถ ให้เป็นทางเท้า *

บาร์เซโลนา ตั้งเป้าหมายลดมลพิษ โดยรณรงค์ให้คนลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ลดการติดขัดของจราจร และลดการปล่อยมลพิษ มาเป็นการใช้ขนส่งสาธารณะ สนับสนุนทางเท้าให้คนเดิน และขับขี่จักรยานแทน ซึ่งแผนของบาร์เซโลนา เน้นที่การสำรวจวิธีแก้ปัญหามลพิษ และความแออัดของเมือง

โดยใช้โครงการ ‘Superblocks’ ของนายกเทศมนตรีบาร์เซโลนา ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งผังเมืองของบาร์เซโลนา มักจะเป็นสี่เหลี่ยม เหมือนกริดบล็อกติดต่อกันไปเรื่อยๆ ทางการจึงได้เปลี่ยนและจำกัดพื้นที่จราจร อยู่เพียงแค่ด้านนอกวงบล็อกใหญ่ ไม่ให้เข้ามาพื้นที่ภายใน เพื่อลดการแออัดของการจราจรในเมืองและเปลี่ยนพื้นถนนบล็อกภายในให้กลายเป็นทางเท้า ทางจักรยาน และพื้นที่สาธารณะแทน เพื่อหวังสร้างสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์เป็นเดินและขี่จักรยานในละแวกใกล้เคียงซึ่งแผนการนี้ถูกประมาณการว่าจะช่วยให้เมืองมีความคล่องตัว ลดการจราจรติดขัดได้ถึง 21% หลัง 2 ปีที่เริ่มโครงการ และยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า โครงการนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียบง่าย และเล็กน้อยในโครงสร้างพื้นฐานของเมือง แต่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เมืองบรรลุเป้าหมายลดมลพิษทางอากาศ

นอกจากนี้ บาร์เซโลนายังมีแผน และโครงการอีกมากมาย ทั้งสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเข้าถึงขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงเส้นทางรถประจำทาง ทางเท้าคนเดิน เส้นทางจักรยาน พัฒนาที่จอดรถจักรยาน และบริเวณที่จักรยานมักเกิดอุบัติเหตุ โปรโมทเส้นทางการเดินทางไปโรงเรียนสำหรับนักเรียนด้วยจักรยาน ทางเท้า และสนับสนุนการเดินทางที่แบ่งปันรถยนต์กันด้วย เป็นต้น

ไฟรบวร์ก, เยอรมนี

ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยจำกัดการเป็นเจ้าของรถยนต์

ไฟร์บวร์ก เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี ที่มีประชากรประมาณ 230,000 คน เป็นอีกเมืองที่มีแผนการ และนโยบายระยะยาวในการแก้ปัญหามลพิษ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการจำกัดประชากรในการเป็นเจ้าของรถยนต์

เมืองนี้ มีนโยบายต่างๆ ที่ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์จำเป็นต้องปฏิบัติตาม เช่น การบังคับให้จอดรถยนต์ในเขตชานเมือง หรือในบางเขตนอกเมือง ได้มีการห้ามไม่ให้สร้างที่จอดรถยนต์ในพื้นที่ส่วนตัว แต่จะมีพื้นที่จอดรถของชุมชนซึ่งอยู่รอบนอกเขตที่พักอาศัย ซึ่งมีที่จอดรถราคาถึง 18,000 ยูโร แต่ถึงอย่างนั้น ที่อยู่อาศัยในเมืองนี้ก็มีราคาถูก มีการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ ลดราคาค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อตั๋วระบบขนส่งรายเดิน แนะนำระบบเดินทางแบ่งปันรถยนต์กัน และมีพื้นที่สำหรับจักรยานด้วย

ไฟร์บวร์กได้พยายามออกนโยบายเพื่อให้การขับขี่ด้วยรถยนต์มีราคาแพง และปรับให้ขนส่งสาธารณะมีราคาถูกกว่าซึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนการเดินทางด้วยจักรยานของประชาชนได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า การขนส่งสาธารณะเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนในด้านการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวลดลงจากร้อยลด 38 เป็น 32 เปอร์เซ็นต์

โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก

ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการปั่นจักรยานที่ง่ายและปลอดภัย

ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการปั่นจักรยานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โคเปนเฮเกนก็มุ่งสนับสนุนการปั่นจักรยาน เพื่อลดมลพิษทางอากาศในประเทศ โดยถึงขั้นเป็นวาระของนโยบายท้องถิ่นเลยด้วย ซึ่งนโยบายการวางผังเมืองของโคเปนเฮเกน ออกแบบมาเพื่อลดความต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัว และส่งเสริมจักรยานในระยะยาว

ตัวอย่างเช่น อาคารพาณิชย์ที่ต้องมีพื้นที่จักรยาน 0.5 คัน ต่อพนักงาน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยควรมีที่จอดจักรยาน 2.5 คันต่อ 100 ตารางเมตร ในปัจจุบันยังมีการสร้างทางหลวงสำหรับจักรยานไปถึงชานเมือง และมีเส้นทางจักรยานมากกว่า 469 กิโลเมตร รวมไปถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ในใจกลางเมืองที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพิ่มภาษีสูงขึ้นถึง 150%ในการซื้อรถยนต์ส่วนตัวคันใหม่ และลดภาษีสำหรับยานพาหนะพลังงานต่ำ เพื่อสนับสนุนรถยนต์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากเรื่องจักรยานแล้ว ล่าสุดทาง หน่วยงานของรัฐบาล Copenhagen Solutions Lab ยังได้ร่วมมือกับ Google ในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศบนท้องถนนของโคเปนเฮเกน โดยรถยนต์ Street View ของ Google จะขับรถไปทั่วเมืองด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดอากาศ ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในท้องถิ่นตามถนน เพื่อให้ทางการเข้าไปแก้ไขโดยละเอียดในแต่ละพื้นที่ด้วย

ทั้งโคเปนเฮเกนยังมีแผนระยะยาว จะเป็นเมืองที่เป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2025 (carbon neutral) คือจะไม่มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเลย และจะชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทน

อ้างอิงจาก

loc.gov/

standard.co.uk/

centreforcities.org/

chinadialogue.net/

bbc.com/

usnews.com

independent.co.uk/

ajuntament.barcelona.cat/

citylab.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 6
  • JIDAPA@89
    ประเทศไทยปัญหา สะสมมาล้านแปดแสนเรื่อง พฤติกรรมคนไทย ส่วนใหญ่ไม่เห็นแก่ส่วนรวม มักง่ายชอบแบมือ รอแต่ความช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ทำ ให้เกิดปัญหาที่ไหนซื้อเองจะนำเสนออะไรก็ให้มันสร้างสรรค์ไม่ใช่ สักแต่ว่าติมีปัญญาทำไหม ช่วยกันนำเสนอวิธีแก้ไขที่ดีโดยไม่แกะกัดทำเป็นไหมแค่นี้ยังคิดไม่ได้กระแดะ แต่ตำหนิ บ้านเมืองถึงไม่เจริญไปไหน คนไม่กี่คนแก้ไม่ได้หรอกมันต้องร่วมมือกันสามัญสำนึกมีไหมดีชั่วคิดเองเบื่อ อีพวกมือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ
    16 ม.ค. 2562 เวลา 14.03 น.
  • Theone
    ขี่จักรยาน ขำวะเคยลงมาขี่กันบ้างริเปล่า รถไฟฟ้าก็โคตรแพง ไปกลับร้อยกว่าแน่นก็แน่นบนว่าขาดทุน งง เลิกคอรับชั่นหันมาเสียสละพัฒนากันจริงๆจังๆเหอะ
    16 ม.ค. 2562 เวลา 13.54 น.
  • เมืองนอกเก่งทำได้เขาเทคแคร์​ชีวิตปชช.. พี่ไทยฉีดนํ้าโคตรทุเรศ​มีบ้างไหมสมองที่จะทำอย่าเดนมาร์ก​หรือยุโรป
    16 ม.ค. 2562 เวลา 13.49 น.
  • zumo
    เรียบเรียงมาดีมาก แต่ ใช้ไม่ได้กับคนไทยและประเทศกุมี ทุกวันนี้ มีใครหยุดขับรถไหม ? รมต. นายก หยุดนั่งรถ เป็นตัวอย่างไหม ? เปล่า จบตรงนั้นแหล่ะ
    16 ม.ค. 2562 เวลา 13.29 น.
  • นัฐขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา​รถไฟฟ้ามีแล้วในโลกรู้ยัง ส่งเสริมแม่งแต่รถใข้้ำมันนั้นละ กลัวผลประโยชน์​ไม่ตกถึงท้องกัน 😤
    16 ม.ค. 2562 เวลา 13.17 น.
ดูทั้งหมด