ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทำความรู้จัก Plan B ของ Huawei นาม HongMeng ระบบปฏิบัติการที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012

Brandbuffet
อัพเดต 22 พ.ค. 2562 เวลา 16.40 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 04.32 น. • Brand Move !!

จาก Plan B ที่ "ริชาร์ด หยู" (Richard Yu) ซีอีโอ Huawei เคยแง้มเอาไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า Huawei ก็มีแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการ Android หรือ Microsoft Windows ได้เนื่องจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐอเมริกา มาวันนี้ Plan B ที่ว่านั้นได้เผยชื่อออกมาแล้ว กับ "HongMeng" ว่าที่ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ของทางค่าย รวมทั้งระบบในคอมพิวเตอร์ก็ดูเหมือนว่าจะมีการพัฒนาเตรียมความพร้อมเอาไว้แล้วเช่นกัน

โดยรายงานจาก Huawei Central ระบุว่า ระบบปฏิบัติการ HongMeng ได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2012 แล้ว และมีการทำงานอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวที่อ้างถึงระบบปฏิบัติการตัวนี้ไม่ยืนยันว่า Hongmeng เป็นแค่ชื่อโค้ดเนม หรือเป็นชื่อที่จะใช้ทำตลาดจริง เพียงแต่ยืนยันว่า Huawei มี OS สำรองเตรียมไว้แล้วอย่างแน่นอน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยชื่อของ HongMeng มาจากชื่อในตำนานจีน ซึ่งพ้องกับแบรนด์ Kirin หนึ่งในตระกูลชิปของ Huawei ที่มีความหมายถึงตัวกิเลน และเป็น 1 ใน 4 สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของจีน ที่ประกอบไปด้วย หงส์ เต่า มังกร และกิเลน (บ้างว่าเป็น เสือ) ด้วย

HongMeng - แรงบีบจากทรัมพ์ ต้นกำเนิด Eco-System ของจีน?

HongMeng เป็นคำจีนที่เหมือนกับคำจีนหลาย ๆ คำ แฝงความหมายมากมาย เช่น ต้นกำเนิด ปฐมภูมิ พลังแห่งธรรมชาติ ฯลฯ และเมื่อ Huawei ถูกบีบจากสหรัฐอเมริกาจนเกิดเป็นระบบปฏิบัติการนี้ขึ้นมา นั่นแปลว่านับจากนี้ Huawei น่าจะเริ่มต้นตัดขาดกับแอนดรอยด์ คงเหลือไว้แค่ Android Open Source Project (AOSP) ส่วนบริการอื่นๆ เช่น  Google Drive, Google Play, Google Search, Gmail, YouTube รวมทั้ง Google Maps ก็ต้องถูกระงับไป และนั่นเท่ากับว่า Huawei ต้องเร่งพัฒนาโปรดักท์ของตัวเองขึ้นมา…คำถามก็คือ นี่จะเป็นการปลุกให้ยักษ์ตื่นหรือเปล่า?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Huawei เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยี 5G ประมาณ 18-20% ของโลก คิดง่ายๆ ว่านั่นคือเกือบ 1 ใน 5 ของเทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่จะเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมอยู่ในมือของ Huawei อย่างมีนัยสำคัญ แม้แต่หลายประเทศในยุโรปก็ยังเลือกใช้อุปกรณ์ของ Huawei ด้วยซ้ำ

ผู้บริโภคหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าแล้วระบบของ Huawei ที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะทัดเทียมกับแอนดรอยด์ ที่พ่วงมากับบริการเสริมอื่นๆ ของกูเกิลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google Map ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่า กว่าที่ระบบแผนที่ของค่ายยักษ์ใหญ่รายนี้จะแม่นยำได้ต้องอาศัยทั้งงบประมาณมหาศาล เทคโนโลยีและ Passion ที่ทั้งหมดสะสมมาหลายปี ไม่ได้เกิดขึ้นได้ภายในหลักเดือน นี่เป็นคำถามที่ฝั่ง Huawei เองก็ต้องตอบคำถามและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าให้ได้ ในเมื่อของที่เคยมีกลับหายไปหรือมีดีไม่เท่าของเดิม ผู้บริโภคต้องรู้สึกแน่ๆ

งานเข้าแบรนด์จีนทุกค่าย ไม่เฉพาะ "Huawei"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เฉพาะ Huawei ที่ต้องเจองานหนัก เพราะการตัดสินใจแบน Huawei ของ Google ได้ทำให้ความเชื่อมั่นใน Android นั้นหมดลงแล้ว และผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Android ทุกยี่ห้อในวันนี้ต้องมองหา Plan B ของตัวเองแล้วเช่นกัน และนั่นคาดว่าจะกระทบกับตลาดสมาร์ทโฟน Android ด้วย

โดยข้อมูลจาก IDC ระบุว่าในบรรดาสมาร์ทโฟน Android ที่จำหน่ายไปแล้วในไตรมาส 1 ของปี 2019 นั้น Samsung มาเป็นที่หนึ่งด้วยส่วนแบ่ง 26% ตามมาด้วย Huawei 21.4%Xiaomi 10.1% ส่วน Vivo และ OPPO เท่ากันที่ 8.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในมุมของผู้ผลิต คนที่จ่ายเงินให้เพื่อนำเซอร์วิสจาก Google ไปใช้นั้น มาจากจีนแผ่นดินใหญ่มากขนาดไหน แต่งานนี้ที่แน่ๆ คนที่ได้รับอานิสงห์ก็คือ Samsung และ Nokia ที่หุ้นขึ้น 2% และ 1.5% ตามลำดับทันทีที่ Google กับ Huawei มีประเด็นกันคราวนี้

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และยิ่งถ้าหากว่ายืดเยื้อออกไป เราอาจจะได้เห็นการรวมพลังของ "แบรนด์จีน" เกิดขึ้นก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมา ระบบการสื่อสาร แอปพลิเคชัน หรือพฤติกรรมผู้บริโภคของคนจีนก็มีความเฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่เราก็ได้เห็นว่าพลังเงินและอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนสามารถแพร่หลายเข้ามาในดินแดนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ อย่าง TikTok, Ali Pay, WeChat, Weibo บางแอปฯ เป็นที่รู้จัก บางแอปฯ เป็นเทรนด์ใหม่ บางแอปฯ ต้องใช้เพราะความจำเป็นเมื่อต้องรองรับนักท่องเที่ยวหรือคู่ค้าจากประเทศจีน บริษัทเบื้องหลังแอปพลิเคชั่นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ใหญ่ เงินหนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Tencent, Alibaba ถ้าหากว่าสงครามการค้ายังยืดเยื้อต่อไป จนเกิดเป็น "กระแสชาตินิยม" ไปจนถึง "คลั่งชาติ"  ขึ้นมาจนบริษัทเหล่านี้ร่วมมือกันบอกลาบริการของสหรัฐอเมริกาละก็ "งานเข้า" แน่ๆ

และนอกจากรายได้ที่จะหายไปแล้ว อีกสิ่งที่ Google อาจไม่สามารถเรียกกลับมาได้ก็คือความภูมิใจ โดยเฉพาะในเรื่องของม็อตโต้ที่ยุคหนึ่ง Google เคยมีประโยคอย่าง Don't Be Evil บรรจุอยู่ใน Code of Conduct และสร้างความภูมิใจให้พนักงานได้อย่างเต็มปาก ซึ่งเราก็หวังว่า Code of Conduct ยุคใหม่ที่บริษัทเขียนขึ้นนั้น จะสามารถนำพาบริษัทให้ไปต่อได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ที่บริษัทอเมริกันเองก็ต้องได้รับผลกระทบจากสงครามในครั้งนี้ไปตาม ๆ กัน

ในส่วนของ HongMeng เอง จึงไม่ใช่แค่ระบบปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นมาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดของหัวเว่ย แต่นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดแอกจากเซอร์วิสของชาติตะวันตก และปลุกมังกรให้ยืนบนลำแข้งของตัวเองมากกว่าเดิม

Source

Source

Source

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • โจโจ้
    แบรนด์​จีนทุกค่ายร่วมกัน ใช้ OS ใหม่ อะไรก็เกิด​ขึ้น​ได้ ทุกวันนี้​แบรนด์​จีน ครองส่วนแบ่งตลาดโลก​เกิน 40%
    21 พ.ค. 2562 เวลา 15.57 น.
  • !มีชัย FBY.
    ระบบปฏิบัติการ 'หัวเหม่ง' จะออกมาชนกับหุ่นกระป๋องเขียวและผลไม้เน่าในไม่ช้านี้ น่าติดตามจิง ๆ
    21 พ.ค. 2562 เวลา 12.34 น.
  • 𐒄λⲄⲄ𐒅𐒢Ꮚ 𐒨𐒅λ𐒐
    รัฐบาลจีนคง้ริ่มปลุกค่านิยม​ก่อน​ แล้วดัน​OS, ใหม่ให้สุดตัว​ ให้มือถือแบรนจีน​ทุกยี่ห้อมาใช้
    21 พ.ค. 2562 เวลา 05.15 น.
ดูทั้งหมด