ไลฟ์สไตล์

สูตรลับความสำเร็จ

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 12 ต.ค. 2565 เวลา 09.03 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 02.58 น.

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลาย ๆ ท่านคงทราบว่าช่วงนี้ผมกำลังเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เรียนรวมกันระหว่างบุคลากรภาครัฐ(ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน) และเอกชน

ในฐานะที่ผมทำงานภาคเอกชนมาตลอดชีวิต เนื้อหาที่ได้เรียนรู้ในหลักสูตรนี้จึงถือว่าเป็นของใหม่ที่มีประโยชน์สำหรับผมมาก ๆ

วันนี้จึงขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังสักเรื่อง ในวงการทหารมีองค์ความรู้หนึ่งที่น่าสนใจ ที่สำคัญ ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับภาคเอกชนได้ และที่สุดยอดกว่านั้น คือ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อปี 1989 “พันเอกอาร์เธอร์ ลิกเก้” (Col.Arthur Lykke) นายทหารของกองทัพบกสหรัฐ ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งลงในวารสาร Military Review ในเวลาต่อมา บทความชิ้นนี้ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก และแนวคิดที่ “ลิกเก้” นำเสนอ กลายมาเป็นโมเดลในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สอนกันใน โรงเรียนการสงครามของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (US Army War College) ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก ภายใต้ชื่อ Lykke’s Formula

“ลิกเก้” อธิบายว่า…strategy = ends + ways + means แปลความหมายได้ว่า ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย เป้าหมายที่ต้องการบรรลุ (ends-objectives toward which one strives) บวกกับวิธีการ แนวทาง หรือสิ่งที่ต้องดำเนินการ (ways-courses of action) บวกกับเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ และทรัพยากรที่จำเป็น (instruments by which some ends can be achieved)

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมแบบง่าย ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ของการมีสุขภาพดี เท่ากับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ (ends) คือ การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน“ความสูงเป็นเซนติเมตร ลบด้วย 105” สิ่งที่ต้องดำเนินการ (ways) ได้แก่ ทานอาหารคลีนทุกมื้อ ออกกำลังกายเป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เดินวันละอย่างน้อย 10,000 ก้าว อุปกรณ์และทรัพยากรที่จำเป็น (means) ประกอบด้วย แหล่งอาหารคลีน ชุดออกกำลังกาย อุปกรณ์การวัดจำนวนก้าวที่เดิน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อเราสามารถกำหนดรายละเอียดของ ends, ways และ means ได้ครบถ้วน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ คือ มีสุขภาพดีตามเป้าประสงค์ก็เป็นไปได้สูง เพราะทั้งเป้าหมาย สิ่งที่ต้องทำ และการสนับสนุนที่ต้องการครบถ้วน

ขออนุญาตยกอีกสักตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงบ้าง เช่น ยุทธศาสตร์ของการทำยอดขายให้สูงขึ้น เท่ากับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ (ends) คือ ยอดขายเติบโต 20% จากปีก่อน สิ่งที่ต้องดำเนินการ (ways) ได้แก่ การเจาะตลาดใหม่ นำเสนอสินค้าใหม่ ขยายกำลังการผลิต อุปกรณ์และทรัพยากรที่จำเป็น (means) ประกอบด้วย ทีมงานขายที่มีความรู้ความสามารถ ทีมวิจัยและพัฒนาสินค้าเพื่อแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ เทคโนโลยีในการผลิต แหล่งทุน และเงินลงทุน

ลองจินตนาการดูว่า หากเรากำหนดรายละเอียดทั้ง ends, ways และ means ได้อย่างชัดเจน และสามารถสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ และเข้าใจ การทำงานคงมีประสิทธิภาพไม่น้อย และที่สำคัญ ประสิทธิผลย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สูตรลับแห่งความสำเร็จของ “ลิกเก้” นั้น สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย ครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ อย่างครบถ้วน จึงมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงทหารทั่วโลก จนได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับสูตรของไอน์สไตน์ที่โด่งดัง (E = MC2) เลยทีเดียว

ปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนและแวดวงธุรกิจ ต่างนำแนวคิดเริ่มต้นของ “ลิคเก้” มาใช้กันมากมาย ภายใต้ชื่อที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น MBO (management by objective) KPI (key performance indicator) หรือ OKR (objective key results) เป็นต้น

แม้จะอยู่ต่างวงการกัน บริบท และรายละเอียด อาจแตกต่างกันบ้าง แต่ในเชิงการบริหารจัดการแล้ว หลักการทำนองนี้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ โดยไม่มีขีดจำกัด

ลองไปปรับใช้กันดูนะครับ

ดูข่าวต้นฉบับ