ทั่วไป

129 ปี “ตำรวจรถไฟ” ผู้ดูแลประชาชนบนเส้นทางม้าเหล็ก จากวันก่อตั้งสู่วันโบกมือลา

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 18 ต.ค. 2566 เวลา 03.49 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2566 เวลา 13.36 น.

วันนี้ (17 ตุลาคม 2566) เป็นวันที่ “ตำรวจรถไฟ” ปฏิบัติหน้าที่เป็นวันสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีคำสั่งให้ยุบยกเลิก “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” แล้วให้ตำรวจรถไฟแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป

ตำรวจรถไฟปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนที่ใช้บริการรถไฟมาเป็นเวลา 129 ปี ในชื่อหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนมาแล้วหลายชื่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงานกี่ชื่อ แต่หน้าที่หลักของตำรวจรถไฟก็คือ การดูแลพื้นที่สถานีรถไฟและชานชาลากว่า 450 แห่ง เส้นทางรถไฟยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000 จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี และขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน ซึ่งยังไม่รวมขบวนรถสินค้า โดยมีสถานีตำรวจรถไฟอยู่ 15 สถานี และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง ตามเส้นทางรถไฟทั่วประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของตำรวจรถไฟนั้น เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในชื่อ “กองตระเวนรักษาทางรถไฟ” ต่อมาได้จัดตั้งขึ้นเป็น “กองตำรวจรถไฟ”จนได้รับการเลื่อนสถานะเป็น “กองบังคับการตำรวจรถไฟ”เมื่อ พ.ศ. 2494 หรือ 72 ปีก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จนกระทั่งเมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2565 มีผลให้ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ถูกยุบเลิก ซึ่งการยุบเลิกตำรวจรถไฟนั้นมีเสียงคัดค้านทั้งจากผู้ใช้บริการ และ “คนรถไฟ” อย่างไรก็ตาม คำสั่งก็มีผลโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วในวันนี้

ก่อนจะมาถึงวันที่ตำรวจรถไฟโบกมือลาจากการเป็น “คนรถไฟ” กองบังคับการตำรวจรถไฟมีการจัดพิธีสงฆ์และงานรำลึก 72 ปี กองบังคับการตำรวจรถไฟ ณ ห้องประชุมชั้น 1 กองบังคับการตำรวจรถไฟ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นประธานในงาน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวในงานวันนั้นว่า งานรำลึก 72 ปี กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นการจัดงานแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจของตำรวจรถไฟฯ เพื่อเป็นการรำลึกถึงกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ที่จะยุติการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 และได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟทุกนายที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ตำรวจรถไฟ

นายนิรุฒกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจรถไฟ ทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังสุดความสามารถ ด้วยความตั้งใจ สร้างคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างมากมาย เช่น การจับกุมอาชญากร สกัดกั้นการค้ายาเสพติด การค้าของเถื่อน ฯลฯ

ผู้ว่าการการรถไฟฯกล่าวอีกว่า แม้ในปัจจุบัน “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” จะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟและตามสถานีต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ความผูกพันที่เป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันกับ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จะยังคงอยู่ในใจของคนรถไฟและประชาชนตลอดไป

“ท้ายนี้ การรถไฟฯ พร้อมทั้งผู้บริหาร และพนักงานการรถไฟฯ ทุกคน ขอขอบคุณตำรวจรถไฟทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเข้มแข็งและมีวิริยะอุตสาหะมาตลอดระยะเวลา 72 ปี นับเป็นความผูกพันที่มีมาอย่างยาวนาน หากแต่ในวันสุดท้ายของการเป็นตำรวจรถไฟ ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ยังอยู่ในตัวตนของพวกเราทุกคนก็คือ ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ‘ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์’ ปกปัก พิทักษ์ รักษาความสงบสุข เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • MT 15⚖️
    น่าเสียดายจริงๆ มี ตร.รถไฟ ปชช.ก็อุ่นใจนะ
    17 ต.ค. 2566 เวลา 13.50 น.
ดูทั้งหมด