หมอชวนสังเกต ‘อาการไอ’ ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ แต่อาจเสี่ยงโรคร้าย!
ทั้งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำเอาช่วงนี้หลายคนป่วยไปตามๆ กัน บางคนไข้หวัดหายแล้ว แต่ยังมี‘อาการไอ’ ไม่หยุด อาจคิดว่าไม่เป็นอะไร กระทั่งมาเจอคำแนะนำของ นพ.กระเษียร มหาพล จากศูนย์การรักษาคลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลพญาไท 2 แนะนำผ่านสาระน่ารู้เรื่อง “อาการไอ ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ…แต่อาจเสี่ยงโรคร้าย!!” ดังนี้
อาการไอ เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกาย ต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจอย่างหนึ่ง เป็นกลไกการป้องกันร่างกายโดยการกำจัดเชื้อโรค เสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ
อาการไอเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอ หรือมีสารระคายเคืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ได้แก่ ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส โพรงหลังจมูก คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ ยังพบตัวรับสัญญาณการไอบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจและกระเพาะอาหารด้วย
อาการไอ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1.ไอเฉียบพลัน เป็นการไอที่มีระยะเวลาของอาการน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส มลพิษทางอากาศ
2.ไอเรื้อรัง เป็นการไอที่มีระยะเวลาของอาการมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์ สาเหตุมักเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACEI เป็นระยะเวลานาน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ วัณโรคปอด ในบางรายอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
โดยอาการไอเรื้อรัง มีสาเหตุมาจาก เช่น ภาวะภูมิไวเกินของทางเดินหายใจ, โรคหอบหืด, ได้รับควันบุหรี่, ภาวะกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร, สิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ, โรคหลอดลมโป่งพอง, โรคภูมิแพ้, วัณโรค, ภาวะทางจิตใจ, ไซนัสอักเสบ, มะเร็งปอด เป็นต้น
สามารถสังเกตอาการไอ ร่วมกับอาการอื่นๆ เพื่อบอกโรคได้ ดังนี้ หวัด มีอาการไอร่วมกับคัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ และมีไข้, ปอดบวม ไอ หอบ มีไข้ และมีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจเข้า, หอบหืด ไอ หอบ และมีเสียงหวีดในทรวงอก เป็นๆหายๆ มักเป็นตอนเช้ามืด หรือตอนดึก, วัณโรคปอด มีอาการไอร่วมกับมีไข้ในตอนบ่าย และมีเหงื่อออกมากในตอนเย็น ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด,
หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอมีเสมหะแทบทุกวัน ต่อเนื่องกันมากกว่า 3 เดือน และมีอาการเช่นนี้อย่างน้อย 2 ปี ติดต่อกัน ในผู้ที่สูบบุหรี่มานาน, มะเร็งปอด ไอมานาน เสมหะไม่ค่อยมาก อาจมีเลือดปนเสมหะ มักจะไม่มีไข้, หลอดลมโป่งพอง ไอ เสมหะข้นเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดปน และเป็นมานานนับปี, โรคกรดไหลย้อน ไอเวลานอน รู้สึกมีน้ำเปรี้ยวในคอ อาจมีความรู้สึกแสบหน้าอกด้วย, โรคหัวใจล้มเหลว ไอและหอบเมื่อนอนราบ เมื่อลุกขึ้นนั่งจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาการไอรักษาให้หายได้ หากรู้สาเหตุ โดยสามารถรักษาเบื้องต้น เช่น ยาบรรเทาอาการไอ ในกรณีที่ไอมีเสมหะแบบเหนียวข้นมาก การให้ยาละลายเสมหะ จะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้นและบรรเทาอาการไอได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางใหม่ต่อไป
แต่หากเสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว บอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้ยาต้านจุลชีพร่วมด้วย
อาการไอ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา