อาหาร

ร้านข้าวโซ-อิ ข้าวซอยพรีเมี่ยมจากเชียงใหม่ เตรียมเปิดสาขาสีลม

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 24 ก.พ. 2566 เวลา 05.58 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2566 เวลา 11.56 น.
ข้าวซอยเส้นสดกุ้ง โทบิโกะ

ร้านข้าวโซ-อิ ข้าวซอยพรีเมี่ยมจากเชียงใหม่ เตรียมเปิดสาขาที่สีลม ก่อนรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

“ช่วงโควิด-19 ผมนอนขี้เกียจอยู่บ้านเป็นเดือน ๆ เพราะออกไปไหนก็ต้องใส่แมสก์ แฟนผมเห็นก็รำคาญ เลยบอกว่าเปิดร้านอาหารกันไหม ตอนแรกเธออยากเปิดร้านข้าวซอย เพราะทราบว่าผมเคยเป็นซูชิ เชฟ ร้านอาหารญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกามาก่อน ตรงนี้จุดประกายให้ผมลุกออกจากบ้าน เพื่อมากินข้าวซอยดัง ๆ ทุกร้านในเชียงใหม่ จนพบว่าข้าวซอยทุกร้านแทบไม่มีใครต่อแถวกินเลย แตกต่างกับร้านอาหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ที่มีแต่เด็กรุ่นใหม่ต่อแถว”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ผมคิดเดี๋ยวนั้นว่าเศรษฐกิจในเชียงใหม่จะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คนรุ่นใหม่เป็นคนขับเคลื่อน กอปรกับผมมานั่งคิดเองด้วยว่า skill ที่ผมมีเกี่ยวกับความเป็นซูชิ เชฟแทบใช้ไม่ได้เลย เพราะตอนนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และเขาไม่ได้กินซูชิเหมือนในอดีตแล้ว แต่สามารถกินอะไรก็ได้ที่ประเทศญี่ปุ่นมี ขนาดเชฟชาวญี่ปุ่น บางร้านยังอิมพอร์ตมาบริการให้ลูกค้าถึงโต๊ะเลย เมื่อคิดได้ ผมจึงเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยการนำจุดเด่นของข้าวซอยมาผสมผสานกับจุดเด่นของอาหารญี่ปุ่น เพราะผมต้องการขายข้าวซอยที่แพงที่สุดให้ได้”

คำกล่าวเบื้องต้นคือคำพูดของ “วิน ศรีนวกุล” เจ้าของร้าน และผู้ก่อตั้งร้านข้าวโซ-อิ (KHAO-So-i) บนถนนเจริญราษฎร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านข้าวซอยเส้นสด สไตล์ญี่ปุ่นระดับพรีเมี่ยม ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า…หากมาเชียงใหม่ ต้องมาทานร้านข้าวโซ-อิสักครั้ง

บรรยากาศภายในร้านข้าวโซ-อิ
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลย ทั้งนั้นเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของ “วิน” ไม่เพียงเรียนจบทางด้านไฟแนนซ์ จากมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา หากเขายังเคยเป็น ”ซูชิ เชฟ” ร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วยการทำงานพาร์ตไทม์ และหาประสบการณ์ชีวิตให้กับตนเอง หลังจากเรียนจบเขากลับเมืองไทย ดำรงตนเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกไปทำงานอีกหลายแห่ง จนสุดท้ายมาทำธุรกิจทัวร์เอาต์บาวนด์ก่อนที่มหันตภัยไวรัสร้ายจะระบาด

“ตอนทำธุรกิจทัวร์รายได้ดีมาก แต่พอเกิดโควิด-19 ทุกอย่างจบเลย ผมนอนโง่ ๆ อยู่บนเตียงจนเบื่อ และอย่างที่ผมเล่าให้ฟัง แฟนผมเขาอยากเปิดร้านข้าวซอย ผมจึงไปตระเวนกินจนทั่ว จนรู้ว่าข้าวซอยที่แพงที่สุดขายในโรงแรม แต่รสชาติก็งั้น ๆ สู้ข้างนอกไม่ได้ ไม่เหมือนกับราเม็งที่ประเทศญี่ปุ่น เราแทบจะหาราเม็งในโรงแรมกินไม่ได้เลย แต่กลับซ่อนตัวอยู่ตามตรอก ซอก ซอยบนถนนต่าง ๆ ร้านก็เล็ก ๆ เก้าอี้ก็เก่า ๆ และทำวันหนึ่ง ๆ เพียงไม่กี่ร้อยชาม แต่กลับมีคนยืนต่อแถวกินกันยาวเหยียด”

“วิน” บอกตัวเองในใจว่า…ผมจะทำข้าวซอยให้ลูกค้ามายืนต่อแถวกินให้ได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
บรรยากาศหน้าร้านข้าวโซ-อิ

จากนั้นเขาลองผิดลองถูกด้วยการปรุงน้ำข้าวซอยให้ถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน เส้นที่ใช้ทำข้าวซอยจะไม่เป็นเส้นเหลือง ๆ แบน ๆ และไม่ลื่น อีกทั้งเวลากินไม่ต้องใช้ช้อนตักแยกระหว่างน้ำกับเส้น แต่ข้าวซอยของเขาจะหลอมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้น เวลาอยู่ในชามเซรามิกที่ ”วิน” กับแฟนออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะจะกินง่าย รสชาติอร่อย อิ่มในมื้อ ทั้งยังเสมือนกินอาหารญี่ปุ่น เพราะมีเครื่องเคียงจัดวางอยู่ในถาดเดียวกัน

ส่วนชื่อร้านข้าวโซ-อิ (KHAO-So-i) “วิน” บอกว่า…แฟนผมเป็นคนคิด เพราะเธออยากขายข้าวซอย ขณะที่ผมเองเคยเป็นซูชิ เชฟร้านอาหารญี่ปุ่นมาก่อน ที่สำคัญคนญี่ปุ่นเวลาพูดคำว่าข้าวซอยจะออกเสียงเป็นข้าวโซ-อิ ก็เลยกลายเป็นคำคำนี้ขึ้นมา

แต่ลึกลงไปกว่านั้น ”วิน” ต้องการพรีเซนต์” ข้าวโซ-อิ” ให้ออกมาเป็น 4 เส้นหลัก ๆ คือ

  • หนึ่ง ต้องการแสดงความเป็นไทย ฉะนั้น วัตถุดิบภายในร้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพริกแกง ผัก เนื้อสัตว์จะไม่ใช้ของญี่ปุ่นเลย
  • สอง เนื้อน่องลายเป็นเนื้อที่นำมาจากเขียงของพ่อค้า-แม่ค้าชาวอิสลาม แต่นำมาตุ๋นโดยใช้กรรมวิธีแบบญี่ปุ่น
  • สาม รูปแบบการบริการจะใช้อเมริกันสไตล์
  • สี่ ต้องการ represent ความเป็น ”วิน” เพราะเขาเกิดเมืองนอก เติบโตเมืองไทย เป็นลูกคนจีน ทั้งยังเคยทำงานกับญี่ปุ่น ดังนั้น หน้าตาอาหารที่ออกมาจึงมีความเป็นฟิวชั่นที่ผสมผสานระหว่างไทยล้านนากับสไตล์ญี่ปุ่น
ข้าวซอยผัดแห้งหอยเชลล์

“วิน” บอกว่าตลอด 1 ปี 7 เดือนที่เปิดร้านข้าวโซ-อิ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะมีเมนูให้เลือกหลากหลาย อาทิ ข้าวซอยเส้นสดไก่โซอิ, ข้าวซอยเส้นสดเนื้อน่องลาย, ข้าวซอยผัดแห้งเนื้อใบพาย, ข้าวซอยผัดแห้งหอยเชลล์, ข้าวซอยล็อบสเตอร์, เกี๊ยวนึ่งโซอิซอส, เต้าหู้ทอด, สันคอหมูพริกเกลือ และอื่น ๆ โดยสนนราคาเริ่มตั้งแต่ 99-599 บาท และจากที่เคยเช่าที่เขาบางส่วนเพียงไม่กี่ตารางวา แต่ตอนนี้เขาสามารถซื้อที่ดิน 168 ตารางวา เพื่อตกแต่งร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นเป็นของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังวางแผนขยายเฟส 3 เพื่อสร้างสำนักงาน ครัวกลาง และที่พักให้กับพนักงานบางส่วนด้วย

สันคอหมูคั่วพริกเกลือ

ที่สำคัญ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เขากำลังนำร้านข้าวโซ-อิ บุกกลางมหานครกรุงเทพ บริเวณซอยคอนแวนต์ สีลม ซึ่งไม่เพียงจะเจาะกลุ่มลูกค้าออฟฟิศ บิลดิ้ง หากยังจับกลุ่มผู้ปกครอง-นักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช และพนักงานแถบละแวกนั้น

ส่วนปี 2567 เขากำลังวาดแผนที่จะเปิดร้านในกรุงเทพฯอีก 2 แห่ง โดยคู่ขนานไปกับการวางแผนเปิดตลาดในต่างประเทศอีกในปี 2568 โดยประเทศแรกที่ไปคือสิงคโปร์ ก่อนจะไปมาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ ทั้งนั้น เพราะเขาเชื่อมั่นว่า…ข้าวโซ-อิ ข้าวซอยสไตล์ล้านนา-ญี่ปุ่น น่าจะเป็นอาหารทางเลือกสำหรับผู้บริโภครุ่นใหม่ทั่วโลก

เขาเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ

บรรยากาศหน้าร้านข้าวโซ-อิ
ดูข่าวต้นฉบับ