ในช่วงสุดสัปดาห์ภายหลังการทำงานอันแสนอ่อนล้า หลายคนคงเลือกวิธีพักผ่อนด้วยวิธีการตามไลฟ์สไตล์ของตนเอง บ้างอาจเลือกใช้เวลาขลุกกับตัวเองอยู่ที่บ้าน บ้างเลือกที่จะใช้เวลาไปสนทนาอัปเดตเรื่องราวกับเพื่อนฝูง ขณะที่หลายคนจำนวนไม่น้อยเลือกออกไปหา ‘ของอร่อยๆ’ เพื่อเติมพลังให้กับชีวิต
จึงไม่แปลกใจว่า ในช่วงหลังเลิกงานตอนเย็น หลายคนอาจโดนชักชวนจากคนรอบข้าง หรือบางครั้งก็เป็นตัวตั้งตัวตีเสียเองในการหา ‘ร้านอาหาร’ ดีๆ สักร้าน นั่งแฮงเอาต์ ลิ้มรสอาหารอร่อยๆ โดยหนึ่งในประเภทร้านอาหารที่เหล่าพนักงานออฟฟิศให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้น ‘อิซากายะ’ (居酒屋: Izakaya) ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นที่บรรยากาศจะมีความสนุกสนานเป็นกันเอง ผสานกับวัฒนธรรมการดื่มไว้ด้วยกัน
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ต้องบอกว่า ‘อิซากายะ’ ที่หมายถึง ‘ร้านนั่งดื่มสาเก’ เริ่มพัฒนามาจากการเป็นเพียงร้านขายสาเกที่เปิดให้ลูกค้ายืนดื่มในช่วงยุคกลางราวปี 1400-1600 ต่อมาเริ่มมีการแข่งขันมากขึ้นจนทำให้หลายร้านต้องหากลยุทธ์ใหม่เพื่อดึงดูดเหล่านักดื่ม เช่น การขายอาหารและเสิร์ฟของว่าง แต่แล้วก็ผู้คนก็พบว่า ‘การนั่งดื่ม’ ย่อมดีกว่า ‘การยืนดื่ม’ จึงปรากฏร้านสาเกแบบนั่งดื่มในช่วงยุคก่อนเอโดะราวศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วโลกภายหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงประเทศไทยด้วย
คงไม่ใช่เรื่องยากนัก กับการหาร้านอิซากายะนั่งชิลล์กับเพื่อนฝูง เพราะร้านประเภทนี้ปรากฏให้เห็นอยู่ในทุกมุมของกรุงเทพฯ เมืองแห่งความวุ่นวายนี้ เช่นเดียวกับ ‘ย่านสนามเป้า’ ที่มีร้านอิซากะยะนั่งให้เลือกอยู่มากโข แต่มีอยู่หนึ่งร้านที่หากเปรียบเทียบเป็นนักเรียน ร้านแห่งนี้คงเป็นนักเรียนนอกขนบ ชอบตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ นั่นคือ ‘E-SAN-TO’ ร้านอิซากายะฟิวชันกับ ‘ความเป็นอีสาน’ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
ไม่รอช้า เมื่อตกเย็นในช่วงสิ้นสัปดาห์ The Momentum จะรีบกดเข้าแอปพลิเคชันเรียกรถมอเตอร์ไซต์ไปเบิ่งและลิ้มลองรสชาติแห่งความเป็นไปได้ด้วยตัวเอง
E-SAN-TO นับว่าเป็นร้านอาหารเล็กๆ มีโต๊ะนั่งราว 20 โต๊ะ ตั้งอยู่ในตึกแถวอยู่เยื้องกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
ทันทีที่มาถึงร้านอาหารอีสานสไตล์ญี่ปุ่น ที่นี่ต้อนรับพวกเราด้วยกลิ่นหอมของเนื้อย่างและข้าวจี่ที่กำลังปิ้งอยู่บนเตาถ่านหน้าร้าน
หากเดินเข้ามาแล้ว ภายในประดับประดาไม่ต่างจากร้านอิซากายะโดยทั่วไปสักเท่าไร ที่จะใช้ไม้สีน้ำตาลเป็นวัสดุหลัก ติดรูปวาดชาวญี่ปุ่น ชวนให้รู้สึกถึงธรรมชาติและความเป็นกันเองตามมู้ด (Mood) ที่ควรจะเป็น ประกอบกับเสียงดนตรีจากแอนิเมชันชื่อดัง ช่วยสร้างบรรยากาศให้ได้อรรถรสขึ้นไปอีกขั้น
วันนี้ The Momentum ได้พบและพูดคุยกับ คุณสิฐ-พิสิฐ สุธีโรเจ้าของร้านวัย 38 ปีพร้อมด้วยภรรยาอันเป็นที่รัก ที่ตัดสินใจเปิดธุรกิจภายหลังหลงใหลกับวัฒนธรรมการดื่มของคนญี่ปุ่น
“ชื่อร้านมาจากความที่เราอยากทำร้านอาหารอีสาน พอดีตัวเองชอบญี่ปุ่นและวัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น เลยอยากตั้งชื่อร้านที่เข้าใจง่าย ก็เลยเป็น E-SAN-TO” เจ้าของร้านเล่าให้ฟัง
จานแรกที่มาเสิร์ฟชวนน้ำลายสอคือ ‘เสือร้องไห้รมควัน’ ที่ย่างมาได้อย่างพอดี เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มแจ่วและวาซ่าบ (น้ำจิ้มซีฟู้ดผสมวาซาบิ) เราเริ่มจากการชิมเนื้อแบบไม่จิ้มอะไรก่อน เนื้อสัมผัสมีความนุ่มลิ้นละลายในปาก รสชาติหวานฉ่ำกำลังดี เมื่อจิ้มกับวาซ่าบ พร้อมกับข้าวสวยร้อนๆ จะช่วยดึงรสชาติของจานนี้ให้ดีอีกขั้น
ไม่นานนัก กลิ่นหอมของปลาย่างก็เลยมาติดจมูก ‘ปลาดุกย่างถ่าน’ อีกหนึ่งเมนูโปรดของ พิสิฐที่บอกเล่าว่า ปลาดุกของไทยมีรสชาติคล้ายกับปลาไหลญี่ปุ่น เขาจึงเอามาต่อยอดเพื่อยกระดับปลาไทยให้มีราคามากขึ้น
“จริงๆ เรารู้มาว่า ปลาดุกไทยมีความคล้ายกับปลาไหลญี่ปุ่น เลยมาทำแบบปลาไหลญี่ปุ่น ซึ่งมีความอร่อย เลยพัฒนาออกมาเป็นเมนูให้ลูกค้าได้ลองกัน” พิสิฐเล่า
สำหรับปลาย่างจานนี้จะเสิร์ฟมาด้วยกัน 2 ชิ้นใหญ่ พร้อมด้วยวาซ่าบสูตรเด็ดของทางร้าน เมื่อทานเข้าไปจะสัมผัสได้ถึงความหอมถ่านอ่อนๆ กับความแซ่บนัวของน้ำจิ้มที่เสิร์ฟมาคู่กัน
มาถึงร้านอาหารอีสานสไตล์ฟิวชัน จะไม่สั่งเมนูซิกเนเจอร์คงจะไม่ได้ วันนี้เราเลือกเป็น ‘ส้มตำลาวซั่วเส้นเล็กกุ้งสด’ และ ‘ตำหลวงพระบาง’ มาเพิ่มความแซ่บให้กับมื้ออาหาร ต้องบอกเลยว่าสูตรของทางร้านที่ได้ทำออกมา เป็นรสมือจากสูตรของคุณแม่เจ้าของร้าน ซึ่งคนจังหวัดบึงกาฬ ทำให้ส้มตำทั้ง 2 จานมีรสชาติจัดจ้าน นัวตามต้นตำรับ ชวนยกเบียร์ขึ้นมาดื่มคลายความเผ็ดร้อนได้อย่างง่ายดาย
ขณะที่อีก 2 เมนูที่เราได้สั่งไปจะเป็นอาหารสไตล์ฟิวชันระหว่างความเป็นอีสานและญี่ปุ่นไว้ด้วยกัน นั่นคือ ลาบแซลมอนและหอยเชลล์ย่างถ่าน
เราขอเริ่มจากลาบแซลมอน อีสานโตะยังคงไม่แผ่วที่จะเสิร์ฟจานนี้มาด้วยรสชาติที่ถึงเครื่อง ได้กลิ่นสมุนไพรอย่างหอมแดงอันเป็นเอกลักษณ์ ขณะที่พระเอกอย่างแซลมอนจะถูกทำให้สุกและนำมาลาบอย่างยอดเยี่ยม เช่นเดียวกันกับหอยเชลล์ย่างถ่านที่ถูกย่างมาอย่างดี เนื้อไม่แข็งจนเกินไป และได้กลิ่นหอมของถ่านติดมากับตัวเนื้อ
“อะไรคือเหตุผลที่คุณอยากยกระดับอาหารอีสาน” The Momentun ถาม
พิสิฐให้คำตอบว่า เพราะรู้สึกว่า อาหารอีสานค่อนข้างที่จะถูกปากคนไทย เป็นกับแกล้มเครื่องดื่มที่ดีได้ จึงเกิดไอเดียอยากประยุกต์อาหารอีสานให้ดีมากขึ้น
“ใครที่อยากลองอาหารอีสานในรูปแบบดั้งเดิมและรสชาติประยุกต์ในราคาจับต้องได้ เชิญที่อีสานโตะได้นะครับ” ประโยคสุดท้ายที่เจ้าของร้านอีสานโตะทิ้งท้ายเอาไว้
โดยสรุปรวมแล้วสำหรับเรา E-SAN-TO ถือว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความเป็นอีสานและญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นอีกหนึ่งร้านอาหารที่เหมาะสำหรับคนไทยหลายคนที่เหนื่อยล้าจากทำงานมาตลอดทั้งสัปดาห์
สำหรับใครที่สนใจ E-SAN-TO จะเปิดให้บริการ 2 ช่วงเวลาในแต่ละวันตั้งแต่ 11:30-14:30 น. และ 16:30-23:00 น. แล้วมาลิ้มลองด้วยตนเองว่า อาหารอีสานนั้นเป็นได้มากกว่าที่คิด