ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ กระทบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

แนวหน้า
เผยแพร่ 2 วันที่แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน สะท้อนจาก ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เฉลี่ยสูงกว่าระดับ 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ (18-26 มกราคม 2568) ทำให้คนบางกลุ่มต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คนไทยป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับมลพิศทางอากาศเพิ่มขึ้น หนึ่งในปัจจัยกระตุ้นคือ มลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 จากสถิติ พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศทั้งหมด 13 โรค ทั่วประเทศมีอยู่ราว 12 ล้านคน (รูปที่ 2) และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น ซึ่งความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยดังกล่าวอาจทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาสโดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน PM 2.5 ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งในมิติของการรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในมิติของการดูแลป้องกันสุขภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งแม้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเบื้องต้น โดยใช้สมมติฐานว่า คนกรุงเทพฯ ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจไม่ต่ำกว่า 2.4 ล้านคน และประมาณ 50% ของจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ อาจมีอาการเจ็บป่วยจนจำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ในช่วงนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน และมีค่ารักษา ค่าเดินทาง เฉลี่ยต่อคน 1,800-2,000 บาท รวมถึงประชาชนทั่วไปที่อาจมีค่าใช้จ่ายในการดูแลป้องกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพทั้งการรักษาและการป้องกันอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท ขณะที่ หากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น เช่น การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง การทำงานที่บ้าน การหยุดเรียน การท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงผลกระทบที่เกิดในพื้นที่อื่นๆ ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะสูงกว่านี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้นเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ยังประเมินออกมาเป็นมูลค่าผลกระทบอย่างชัดเจนได้ยากยังคงมีอยู่ ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว หรือความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง ตลอดจนผลต่อภาพรวมของประเทศที่ทางการมุ่งหวังจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ ทั้งการท่องเที่ยว การแพทย์ และอื่นๆ ในเวทีโลก

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ