ทั่วไป

ส่องสถานการณ์ ปลาหมึก ในฐานะสินค้าเกษตรที่มากกว่า หมึกชอต

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 11 ก.พ. 2565 เวลา 09.16 น. • เผยแพร่ 10 ก.พ. 2565 เวลา 11.52 น.
ภาพจาก pixabay.com

เรื่องราวของปลาหมึกในฐานะสินค้าเกษตร หลังฟีเวอร์จากกระแสหมึกชอต พบปี 2564 จับได้กว่า 4,000 ตัน แต่นำเข้า 20,000 ตัน มาจากจีนมากสุด ส่วนส่งออกพบไปอิตาลีมากสุด

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โซเชียลมีเดียแห่แชร์เมนูที่ถือว่าเป็นกระแสในขณะนี้คือ “หมึกชอต” ซึ่งมีวิธีทำคือเอาปลาหมึกเป็น ๆ จิ้มในน้ำจิ้มซีฟู้ด ให้ตัวปลาหมึกสูดน้ำจิ้มเข้ามาในตัว แล้วนำไปรับประทาน โดยต่างคอมเมนต์กันว่ามีรสหวานและถ้ายิ่งพ่นหมึกออกมาจะยิ่งอร่อย และนำมาสู่การพูดคุยถึงประเด็นการทรมานสัตว์และอันตรายจากการรับประทานดิบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สัตว์เศรษฐกิจรองแค่ กุ้ง

ทั้งนี้ ในอีกมุมหนึ่งปลาหมึกถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดที่สำคัญมาก เว็บไซต์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง กรมประมง ระบุว่า ปลาหมึกเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดของประเทศรองจากกุ้ง ญี่ปุ่นเป็นตลาดรับซื้อใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา

หมึกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งตัว 80% ของน้ำหนักใช้บริโภค ส่วนที่เหลือสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ แปรรูปเป็นแคลเซียม ไคโตซาน ส่วนผสมของยาสีฟัน และเครื่องสำอาง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยราคาปลาหมึกอ้างอิงตามตลาดไทประจำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุถึงชนิดปลาหมึกที่มีการวางขายหลัก ๆ 4 ชนิดคือ ปลาหมึกกระดอง, ปลาหมึกกล้วย, ปลาหมึกศอก และปลาหมึกสาย

สำหรับราคาปลาหมึกกระดองราคาขายอยู่ที่ 160-250 บาท/กิโลกรัม, ปลาหมึกกล้วยราคาขายระหว่าง 180-320 บาท/กิโลกรัม, ปลาหมึกศอกราคาขายระหว่าง 1,200-1,800 บาท/กิโลกรัม และปลาหมึกสายราคาขายอยู่ที่ 140-170 บาท/กิโลกรัม

ส่องขาย-ส่งออก ปลาหมึก ปี’64

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หากมองสถานการณ์ของปลาหมึกในระดับของการค้าและส่งออก เว็บไซต์กลุ่มเศรษฐกิจการประมง กรมประมง ได้สรุปไว้ดังนี้

1.ผลจับหมึกจากการทำประมงพาณิชย์ เดือนพฤศจิกายน 2564 มีปริมาณปลาหมึกที่จับได้ 4,031.9 ตัน ลดลง 5.3% และ 8.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และปีก่อนในเดือนเดียวกัน ตามลำดับในช่วงเดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2564 มีปริมาณผลจับหมึกรวม 50,991.7 ตัน ลดลง 29.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

2.ราคา ประเภทหมึกกล้วยขึ้นท่า เดือนพฤศจิกายน 2564 ราคาหมึกกล้วยขึ้นท่าโดยเฉลี่ย 199 บาท/กิโลกรัม ราคาเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในขณะที่เมื่อเทียบกับปีก่อนในเดือนเดียวกัน ราคาลดลง 3.8% สำหรับราคาหมึกอื่น ๆ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หมึกกระดอง 151.8 บาท/กก. หมึกสาย 126.3 บาท/กก. และหมึกหอม 205.4 บาท/กก.

3.การค้าต่างประเทศ ด้านการนำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยนำเข้าหมึก 20,418.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,629.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนการนำเข้าในรอบเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2565 มีปริมาณรวม 186,846.8 ตัน มูลค่า 14,525.3 ล้านบาท ตลาดนำเข้าหลัก คือ จีน 26.1% อินเดีย 15.9% เปรู 14.7% เวียดนาม 12.2% ปากีสถาน 8.6% และอื่น ๆ 22.5%

ขณะที่การส่งออก ไทยส่งออกหมึก 3,620.1 ตัน มูลค่า 939.7 ล้านบาท ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งออกเป็นหมึกกล้วยมากที่สุด 57.8% ของปริมาณ รองลงมาในรูปของหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง 81.9% ของปริมาณ

และเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนมูลค่าการส่งออก ตลาดส่งออกหลักคือ อิตาลี 25.8% ญี่ปุ่น 22.7% เกาหลีใต้ 17.0% สหรัฐอเมริกา 13.3% แคนาดา 3.5% และอื่น ๆ 17.6%

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • wut
    ทำไมผรมประมงไม่วิจัยหารเลี้ยงปลาหมึก,เหมือนเลี้ยงกุ้ง,ในเมื่อมูลค่าทางศก.สูง
    10 ก.พ. 2565 เวลา 16.30 น.
ดูทั้งหมด