ไลฟ์สไตล์

กฎเหล็ก! ร่วมงานกับเพื่อนสนิทอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหา - ห้องแนะแนว

LINE TODAY
เผยแพร่ 27 ก.ย 2562 เวลา 03.28 น. • nawa.

มีงานวิจัยจาก Gallup บอกว่า การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนที่สนิทกันมาก่อนอย่างน้อยแค่ 1 คน จะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ซึ่งจะนำพาไปสู่ความก้าวหน้าทางตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้นด้วย ถามว่าจริงหรือไม่ ก็คงตอบได้ว่าส่วนหนึ่งจริง แต่อีกส่วนหนึ่งก็พบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำงานร่วมกับเพื่อนแล้วเกิดปัญหา และมักเป็นปัญหาเรื้อรังต่อความสัมพันธ์ที่(เคย)ดี กลับกลายเป็น ซึ่งมีกรณีศึกษาให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะทำธุรกิจกับเพื่อนแล้วผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือทำงานกับเพื่อนที่เป็นเจ้านายของเราอีกที รู้สึกอึดอัดใจเหลือเกิน ฯลฯ  

เพราะฉะนั้นปัญหาหนึ่งในการทำงานของคนบางส่วนคือ ต้องร่วมงานกับเพื่อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยหน้าที่ ความรับผิดชอบก็ต้องยอมทำ แม้ว่าจะรู้สึกลำบากใจแค่ไหน แน่นอนว่าเวลาทำงานด้วยกันนั้นย่อมมีปัญหา อุปสรรค ความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ อาจเพราะสไตล์การทำงานไม่ตรงกัน ความคิดเห็นแตกต่างกัน อะไรก็ตามที่สามารถทำให้เพื่อนกลายเป็นศัตรูได้ในชั่วขณะ และเมื่อสถานะเปลี่ยน ความสัมพันธ์อาจเปลี่ยนตาม เนื่องจากสังคมที่ทำงานมักมีเรื่องของความก้าวหน้า ผลประโยชน์ และปัจจัยอื่น ๆ ที่ควบคุมไม่ได้จำนวนมาก อาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่ได้  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าหากต้องตกอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนใจเช่นนี้แล้วจะรับมืออย่างไรได้บ้าง 

แยกแยะระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้ได้  

ท่องจำไว้เสมอว่า งานคืองาน! คุณต้องแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ทุกครั้งที่ทำงานจะต้องวางความสัมพันธ์ส่วนตัวลงก่อน แล้วจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ แม้ว่าระหว่างนั้นอาจมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่จบงานก็คือจบ ตัดฉับ! ไม่เก็บความไม่พอใจมาต่อความยาวสาวความยืด เรื่องงานจบแล้วปล่อยมันไป หลังจากนั้นนอกเวลางานคุณก็ยังเป็นเพื่อนกันได้ ความเป็นมิตรยังคงอยู่เหมือนเดิม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วางตัวให้ดี 

คุณควรมีขอบเขตของความสัมพันธ์ให้ชัดเจน ว่าตอนนี้อยู่ในสถานะเพื่อนร่วมงาน, เจ้านายลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมทีม ต้องไม่ก้าวก่าย ไม่หยิบเรื่องส่วนตัวที่รู้กันเพียงสองฝ่ายมาเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ในงาน เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเรื่องซุบซิบของเพื่อนร่วมงานคนอื่น และเพื่อความโปร่งใสในความสัมพันธ์ของคุณเอง เวลางานก็คุยเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวไว้ทำหลังเลิกงานเท่านั้น

หากมีเรื่องใดที่ผิดพลาด ต้องกล้าที่จะตำหนิ(อย่างสุภาพ) ไม่ใช่เห็นว่าเป็นเพื่อนจะแสดงออกอย่างไรก็ได้ แบบนี้ไม่ถูกต้อง หรือเห็นว่าเป็นเพื่อนกัน ไม่พูดดีกว่า แบบนี้ก็ไม่สมควรนัก เพราะงานเป็นเรื่องของส่วนรวม มันอาจกระทบทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวเสมอไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยิ่งสนิทยิ่งต้องเกรงใจกัน  

คนที่รู้จักและสนิทชิดเชื้อกันมาก่อนย่อมรู้นิสัยใจคอกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นในสมรภูมิการทำงาน คุณยิ่งต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน ให้เกียรติกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร คำพูดวาจา ท่าทีที่แสดงออกต่อกัน ต้องเคารพอีกฝ่ายด้วย

เอางานเป็นที่ตั้ง

ในการทำงานเป็นทีม หรือทำร่วมกับผู้อื่น สิ่งที่ต้องมุ่งเป็นหลักคือเป้าหมายของงาน เพราะสิ่งที่ทุกคนคาดหวังมีเพียงหนึ่งเดียวคือ ทำยังไงก็ได้ให้งานประสบความสำเร็จ แม้ว่าในชีวิตจริงจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมาก ๆ แต่เมื่อถึงเวลางานทีไรเป็นต้องถกเถียงกัน แต่นั่นไม่เป็นปัญหาเลย หากทุกฝ่ายโฟกัสที่ตัวงานเป็นหลัก ไม่ถือเอาความสัมพันธ์มาเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ตรงนั้น

ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี 

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งไหน สถานะอะไร เรื่องสำคัญมาก ๆ คือต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายของตัวเองให้ดี ให้เต็มกำลัง เพราะนั่นคือสิ่งที่จะพิสูจน์ตัวคุณเอง อย่ามัวแต่คิดว่าเราเป็นลูกน้อง เพื่อนเป็นเจ้านาย หรือไปมุ่งหมายเรื่องข้างเคียงจนเสียสมาธิ และเสียเวลาเปล่า กลับมาปฏิบัติหน้าที่ จัดการความรับผิดชอบของตัวเองให้สำเร็จจะดีกว่า

ใจกว้างและจริงใจ 

เป็นเรื่องปกติเวลาทำงานกับเพื่อนแล้วจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่บ้าง แต่แก้ไขได้ด้วยการรับฟัง เปิดใจ ให้พื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกันในการแสดงออก ไม่พูดลับหลัง ไม่นินทาว่าร้าย ซื่อสัตย์และจริงใจต่อกันจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่ดีไม่ให้ถูกทำลายลงไปเพียงแค่เรื่องงาน แม้ว่าตอนเป็นเพื่อนเราจะพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง แต่ในความเป็นเพื่อนร่วมงานในองค์กร ย่อมต้องมีกรอบ มีขอบเขตว่าเรื่องบ้างเรื่องก็ต้องปิดเป็นความลับบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ต้องแสดงออกอย่างจริงใจ และใช้ความเป็นผู้ใหญ่และมีวุฒิภาวะให้เหมาะสมกับกาลเทศะด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ จากคอลัมน์ห้องแนะแนวในสัปดาห์นี้ อยากให้ทุกคนได้ลองไปปปรับใช้ หรือหากใครมีคำแนะนะเพิ่มเติมอื่น ๆ หรือมีวิธีแก้ปัญหาในแบบของตัวเองลองคอมเมนต์เพื่อแนะนำคนอื่น ๆ ได้นะคะ เราจะได้ผ่านพ้นเรื่องยาก ๆ เหล่านี้ไปด้วยกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก

ความเห็น 19
  • Nan
    ปัญหามักจะเกิดเมื่อทำอยู่ฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่ได้ทำเหมือนกัน สุดท้ายก็มีเรื่องกันอยู่ดี ทฤษฎีใช้ได้เฉพาะคนที่ศลีเหมือนกันเท่านั้น
    24 ธ.ค. 2562 เวลา 23.44 น.
  • ชาติชาย
    สั้นๆ.ต้องอยู่ในกติกา.แค่นั้นเอง
    30 ก.ย 2562 เวลา 17.48 น.
  • ใครคิดจะทำธุรกิจร่วมกับเพื่อนบอกตรงๆนะ ถ้าไม่สนิทรู้ใจกันจริงๆไปรอดโครตยากมากอ่ะ อย่าใช้คำว่า "สนิท" ถ้าไม่ได้รักหรือจริงใจกัน หลักๆมันจะมีปัญหาใหญ่คือเรื่องเงินที่ไม่ลงตัว เรื่องเบี้ยวเงิน โยนปัญหาทุกอย่างให้เราเป็นคนเเบกรับ ใครจะทำธุรกิจร่วมกะเพื่อนถ้าไม่อยากเจ็บตัวขอให้คิดให้ดีว่าเพื่อนที่จะใช้คำว่า สนิทด้วย เขาจริงใจกับคุณหรือเปล่า
    30 ก.ย 2562 เวลา 01.33 น.
  • bolt nut
    ทำด้วยตนเองดีที่สุด หุ้นส่วนปัญหาเยอะ พี่น้องกันยังปันหาเลย
    30 ก.ย 2562 เวลา 01.14 น.
  • เพื่อน เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน. บางครั้งบางเรื่องจำเป็นต้องทำเป็นหูหนวกตาบอดบ้าง. เพื่อคงความเป็นเพื่อนไว้
    29 ก.ย 2562 เวลา 12.42 น.
ดูทั้งหมด